7 ผลลัพธ์ เพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนด้วยกิจกรรม เห็ดหรรษาพาสนุก โรงเรียนวัดถนนกะเพรา จ.ระยอง

26 มกราคม 2023

7 ผลลัพธ์ เพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน
ด้วยกิจกรรม เห็ดหรรษาพาสนุก
โรงเรียนวัดถนนกะเพรา จ.ระยอง

——

จุดเริ่มต้นกิจกรรม

ในช่วงการจัดกิจกรรม covid รอบที่ 1 ประมาณเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่โรงเรียนขาดครูประจำชั้นไป 1 คน คือระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ทางผู้อำนวยการจึงได้รับผิดชอบดูแลนักเรียน  ซึ่งเป็นช่วงที่ทางโรงเรียนได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบ ON AIR แล้วต้องปริ้นใบงาน ให้กับนักเรียน ทางโรงเรียน ได้นำโทรทัศน์เก่าๆของโรงเรียนไปบริจาคให้กับเด็ก เพื่อให้ได้ยืมใช้เรียน DLTV  แต่พอจัดการเรียนการสอนไปแล้ว ก็พบว่าเด็กเรียนไม่ทัน ผู้ปกครองก็ไม่ได้กวดขันในวินัยมากนัก  ทางโรงเรียนได้แก้ปัญหาโดยการปรับกิจกรรมใหม่ โดยได้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากการได้ปฏิบัติจริง โดยนำชุดปลูกต้นไม้ ไปให้นักเรียนเรียนรู้ที่บ้านแทน  ชุดปลูกต้นไม้จะประกอบไปด้วย ดิน 1 ถุง ต้นกล้าของต้นฟักทองที่ครูเพาะไว้เอง  2 ต้น และบัวรดน้ำน่ารัก ๆ ในช่วงนั้นปรากฏว่าผู้ปกครองก็ลงมาช่วยดูแล มาสอนลูกเหมือนได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น หลังจากนั้นพอมีครูมาเป็นครูประจำชั้น  จึงได้ให้ครูทดลองออกแบบการเรียนรู้แบบนี้บ้าง แต่คุณครูก็จะเลือกเป็นรูปแบบ On Air Online On Demand และ On Hand เป็นส่วนใหญ่ ทางครูก็จะเน้นในเรื่องของการสอนแบบให้เล่นเกม ทำใบงาน เช็คการอ่านออกเขียนได้ทางไลน์ ทางเฟสบุ๊ค  ปัญหาที่ตามมาก็คือ ผู้ปกครองแจ้งว่า เด็กทำใบงานไม่ทัน และผู้ปกครองรู้สึกว่าเป็นภาระในการดูแลบุตร จึงได้กลับมาใช้วิธีเดิม แต่ว่าเปลี่ยนจากปลูกต้นไม้ไปเป็นเพาะเห็ดแทน โดยก่อนที่จะมีโควิด โรงเรียนวัดถนนกะเพรา ได้จัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ เชื่อมโยงความรู้เข้ากับวิชา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ศิลปะ การงานอาชีพ สังคมศึกษา ผ่านเรื่องราวของอาชีพต่าง ๆ ในชุมชน เช่น การเลี้ยงเห็ด การปลูกผัก การเลี้ยงหอยนางรม การทำชาใบขลู่ และการทำฮ่อยจ้อ โรงเรียนมองว่า การเลี้ยงเห็ดไม่ต้องใช้อุปกรณ์มาก ตายยาก และสามารถเลี้ยงได้ทุกบ้าน จึงได้ซื้อก้อนเห็ดมาให้นักเรียนชั้นป.1 – ป.6 คนละ 12 คน เพื่อเป็นสื่อในการเรียนรู้ระหว่าง ผู้ปกครอง ครูและนักเรียนโดยให้ชื่อกิจกรรมว่า “เห็ดหรรษาพาสนุก” เป็นลักษณะ Home based Learning ที่เน้นกิจกรรมใกล้ตัว ในชีวิตจริง นักเรียนได้ลงมือทำ เน้นการมีส่วนร่วม การมีปฏิสัมพันธ์ ระหว่าง ครู นักเรียน และผู้ปกครอง

กิจกรรม เห็ดหรรษาพาสนุก

เริ่มต้นช่วงปลายเดือน กรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา  ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน

  • ส่วนที่ 1
    คือ เป็นส่วนที่ผู้อำนวยการโรงเรียนได้มีส่วนร่วม โดยผ่านไลน์กลุ่มใหญ่ของโรงเรียน ซึ่งในกลุ่มนี้จะมี ผอ. ครู และผู้ปกครอง รวมทั้งกรรมการสถานศึกษาอยู่ด้วย  แต่ก่อนก็จะคุยกันเรื่องของการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของโรงเรียน แจ้งข่าวสารของโรงเรียน ซึ่งทางผู้ปกครองก็จะไม่ค่อยมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในการตอบกลับมา แต่พอเปลี่ยนเป็นเรื่องของการเพาะเห็ด พบว่า ผู้ปกครองเริ่มให้ความสนใจ  ผู้อำนวยการโรงเรียนจึงใช้คำถามเพื่อกระตุ้นให้ผู้ปกครองร่วมกิจกรรม ร่วมแชร์ประสบการณ์ และกล่าวยกย่องชมเชยให้กำลังผู้ปกครอง เช่น “วันนี้เห็ดบ้านใครออกดอกบ้างค่ะ รดน้ำอย่างไร  เห็ดออกดอกเยอะไหม แล้วมีวันไหนบ้างที่เห็ดไม่ออกดอกเลย เห็ดไม่ออกดอกเลยจะเป็นเพราะอะไรนะคะ มีใครช่วยเล่าให้ฟังบ้างได้บ้างคะ เห็นบ้านน้องพีทำไมถึงออกดอกเยอะจัง ทำอย่างไรคะ ฯลฯ” ผู้ปกครองก็จะพูดคุยกันในกลุ่ม ซึ่งจะมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผู้ปกครองจะถามว่า “ผอ. คะ เห็ดของที่บ้านน้องป๋อ ชนิดเดียวกับเห็ดของที่บ้านน้องเจเจหรือเปล่า”  ซึ่งพอได้ยินแล้วก็รู้สึกดีใจและชื่นใจที่ผู้ปกครองเกิดความสงสัย และสนใจ ซึ่งก็เป็นไปตามความคาดหวังที่ของกิจกรรมที่วางไว้ ว่าสามารถที่จะโยนคำถามเข้าไปให้เขาได้คิดวิเคราะห์หรือสังเกตดูด้วยตนเอง ซึ่งบางครั้งผู้ปกครองก็จะสอบถามทางโรงเรียนว่า “เห็ดที่ทางโรงเรียนให้ไปคือเห็ดอะไรค่ะ” ทางโรงเรียนจึงได้บอกว่า “ให้คุณแม่น้องป๋อลองชวนน้องป๋อสังเกตดูว่าเห็ดมีลักษณะเป็นอย่างไร” ซึ่งก็ได้ขอให้ผู้ปกครองช่วยบุตรหลานของตนสังเกตและให้แจ้งกันเข้ามาในกลุ่ม ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือกับผู้ปกครองเป็นอย่างดีและเกิดการพูดคุยร่วมกัน ได้ปรึกษาถึงชนิดของเห็ด จนถึงต่อยอดด้วยการค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ทำให้ทั้งผู้ปกครองและบุตรหลาน ได้เห็นว่า เห็ดที่ได้ปลูกนั้น มีหลากหลายชนิดพันธุ์ ซึ่งทางโรงเรียนก็ไม่ได้ตอบผู้ปกครองว่าเห็ดที่ผู้ปกครองเข้าใจว่าเป็นชนิดนั้น ๆ ว่าถูกต้องหรือไม่ เพียงแต่แนะนำให้ผู้ปกครองบอกบุตรหลานให้ลองเข้าไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมและนำมาเปรียบเทียบกัน ก็ทำให้นักเรียนได้รู้จักชนิดของเห็ดและรู้จักสังเกตได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการคุยในเรื่องของการเรียนเรื่องเห็ดโดยตรง จะไม่ได้ลงไปบูรณาการวิชาอื่น

  • ส่วนที่ 2
    คือ ครูประจำชั้น ในละชั้นจะมีกลุ่ม Line  โดยการให้ครูออกแบบการเรียนรู้ มีแผนจัดการเรียนรู้ และออกแบบว่าสามารถบูรณาการเรื่องเห็ดลงไปในวิชาต่าง ๆ อาทิ
    วิชาคณิตศาสตร์ เช่น ระดับชั้นประถมต้น จะเป็นการบวก ลบ การนับเพิ่ม ลดลง ของดอกเห็ดการเปรียบเทียบจำนวนที่มากขึ้น หรือ น้อยลง ถ้าจำนวนขาดหายไปเท่านี้จะเหลือเท่าไหร่
    วิชาวิทยาศาสตร์ เช่น เรียนรู้ส่วนประกอบต่าง ๆ การจำแนกองค์ประกอบของดอกเห็ดได้เลยว่าเห็ดเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่ เป็นส่วนประกอบของสิ่งมีชีวิตหรือไหม
    วิชาภาษาอังกฤษ ก็คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับตระกูลเห็ดทั้งหมด ลักษณะของสี พยัญชนะ และประโยคสนทนาสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง

7 ผลลัพธ์กิจกรรมเห็ดหรรษาพาสนุก
  • 1. ความมีส่วนร่วม
    คือ การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองอย่างชัดเจนเห็นชัดมากจากสิ่งที่ผู้ปกครองได้สอบถามหรือพูดคุยทางกลุ่ม Line เข้ามา เหมือนตอนนี้ผู้ปกครองให้ความสนใจและใส่ใจกับเรื่องนี้ เวลาถ้ามีใครจุดประเด็นสอบถามเข้ามาในกลุ่มก็จะมาช่วยกันตอบ ซึ่งก็จะเป็นผู้ปกครองนั่นเองที่จะคอยแนะนำกันถึงเหตุและผลปัจจัยการงอกของเห็ด ลักษณะความถี่การ งอกว่าจะมีในช่วงเวลาใดบ้าง จะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลซึ่งกันและกัน เช่น เมื่อมีคำถามลักษณะแบบนี้ ซึ่งเกิดจากการที่ผู้ปกครองไม่เคยได้เพาะเลี้ยงเห็ดมาก่อน ซึ่งก็จะเหมือนกับเด็กก็ไม่เคยได้เรียนมาก่อนเช่นเดียวกัน จะมีผู้ปกครองบางท่านที่มีประสบการณ์ในการเพาะเลี้ยงเห็ดและก็จะออกมาช่วยกันตอบว่า “มันต้องแคะหน้าเห็ดออกไปให้สะอาดแล้วรอให้เห็ดออกมาใหม่” บางทีเราก็ยิงคำถามไปว่า “แล้วทำไมถึงต้องแคะหน้าเห็ดด้วย” ก็จะมีผู้ที่มีความรู้เข้ามาช่วยตอบอีกทางหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าทางผู้ปกครองต้องกลับไป Search หาข้อมูลเองอีกครั้งแน่นอนว่าคำตอบจริงๆแล้วมันคืออะไร และไม่ใช่แค่การคุยกันอย่างเดียวแต่คือการกระตุ้นให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมกิจกรรมใน กลุ่ม Line บางครั้งทางโรงเรียนก็จะมีการกระตุ้นโดยการให้รางวัล ซึ่งสำหรับกิจกรรมในส่วนนี้ ทางโรงเรียนถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ปกครองมีความตื่นตัวที่จะเข้ามาในไลน์ของโรงเรียนเพื่อมาเรียนรู้เรื่องเห็ดกับบุตรหลานของตน
  • 2. ความสัมพันธ์
    ไม่น่าเชื่อว่าเห็ดเพียงแค่ 12 ก้อน ลงทุนแค่ก้อนละ 6 บาท เป็นเงิน 72 บาท จะสามารถทำให้เราได้เรียนรู้อะไรได้ตั้งมากมาย การนำเรื่องของการเพาะเห็ดมาเรียนรู้ ทำให้ผู้ปกครองมีปฏิสัมพันธ์กับทางโรงเรียนมากขึ้น เป็นเหมือนตลาดนัดการเรียนรู้ในกลุ่ม Line ที่จะกระตุ้นให้ผู้ปกครองได้คิด ไม่ใช่แค่ผู้ปกครองกับผู้ปกครองเท่านั้น แต่ไปชวนบุตรหลานของตนร่วมคิด ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องที่ผู้ปกครองสงสัย ร่วมหาคำตอบที่ต้องการ แล้วนำมาแชร์กันใน กลุ่ม Line
  • 3. สมรรถนะผู้ปกครอง
    แม้ว่าผู้ปกครองจะ Happy ในการที่โรงเรียนมอบเห็ดไปให้แล้วก็ได้เอาเห็ดมาทำกับข้าวและรู้วิธีการปลูกเห็ด การเปิดใจที่จะคุยกับทางโรงเรียน กล้าถาม กล้าแสดงออก น่าจะเรียกว่าเกิดสมรรถนะของผู้ปกครองแล้ว อันนี้ชัดเจนมาก ซึ่งถือได้ว่าเป็นความสำเร็จส่วนหนึ่งเรียกว่าเป็นการมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ในการสร้างเครือข่ายผู้ปกครอง
  • 4. แผนที่ดีจะทำให้บรรลุเป้าหมายได้ง่าย
    สิ่งที่สำคัญก็คือการเรียนของนักเรียนกับครูในห้องออนไลน์ อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะหากครูออกแบบการเรียนรู้ได้ดี ลึก และชัดเจน ก็จะทำให้นักเรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองได้ จนเกิดเป็นสมรรถนะที่สำคัญได้ ทางโรงเรียนจึงได้จัดให้มีการ PLC ของครู ทุกวันเสาร์เพื่อที่จะมาดูว่าคุณครูเตรียมการสอนอย่างไร พบอุปสรรค มีวิธีการสอน และวัดผลการเรียนของเด็กอย่างไร ซึ่งก็ได้มาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อที่จะได้ไปปรับให้การเรียนการสอนให้ดีขึ้นในสัปดาห์ต่อไป
  • 5. เปิดใจยอมรับ
    พบว่าผู้ปกครองยอมเปิดใจ จากที่บางคนเคยบอกว่าไม่อยากเรียนแล้วออนไลน์ ไม่เข้าห้องเรียน ครูต้องตามตลอด พอตามก็ไม่พอใจทั้งแม่ทั้งนักเรียน เด็กบางคนเกือบหลุดออกจากระบบ เพราะไม่มีใครกวดขันด้านวินัยในการเข้าเรียน หรือกิจกรรมไม่ตอบสนองความสนใจของเด็ก ตอนนี้ไม่มีปัญหาในเรื่องนี้เลย นักเรียนทุกคนเข้ากลุ่ม Line คุยกับทางโรงเรียนตลอด ผู้ปกครองให้ความร่วมมือมากขึ้น ภาระการดูแลเรื่องการเรียนที่พ่อแม่ไม่ถนัดก็ลดลงไป การบ้านก็น้อยลง แต่เป็นการเรียนแบบบูรณาการมากขึ้น พ่อแม่พาลูกมาดูแลเห็ด สอนลูกทำกับข้าวจากเห็ด ทำคลิปวิดีโอส่งครู สถานการณ์จากวิกฤติเปลี่ยนมาเป็นโอกาสในการเรียนรู้ทันที แต่อย่างไรก็ดี คงจะดีกว่านี้หากผู้ปกครองส่งเสริมให้นักเรียน กล้าพูดกล้าแสดงออก กล้านำเสนอ ด้วยตัวของนักเรียนเอง
  • 6. กิจกรรมตามความถนัด
    เด็กนักเรียนจะส่งภาพถ่ายการไปดูแลเห็ด การทำกับข้าวที่สำเร็จแล้ว ส่วนน้อยที่จะส่งแบบเป็นคลิปวีดีโอ เช่น คลิป การรดน้ำมาให้ พี่ป.6ก็จะทำได้ดี แต่น้องๆ ก็ยังไม่พบเห็นผลงานคลิปวิดีโอแต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะจุดประกายให้ผู้ปกครองได้เห็นว่าบุตรหลานทำอะไรได้บ้าง หรือบุตรหลานทำอะไรเป็นบ้าง เป็นการส่งเสริมกำลังใจให้แก่กัน
  • 7. ความสำเร็จในภาพรวม
    ถ้ามองถึงภาพรวมกิจกรรมนี้ จะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยการช่วยกันทั้งโรงเรียน ผู้บริหารก็ ต้องลงมาสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ต้องชวนคิดชวนคุยอยู่เสมอ ให้กำลังใจโดยการกระตุ้นให้ตัวผู้ปกครองกับนักเรียนอยากจะทำ อยากเรียนรู้ ให้คำชม ซึ่งจะต้องคอยเสริมแรงกันอยู่เสมอ ส่วนคุณครูก็ต้องเสริมแรงเด็กและกระตุ้นตัวนักเรียน เพราะฉะนั้นตอนนี้จะอาศัยคุณครูอย่างเดียวในการเรียนการสอนไม่ได้ เราเป็นผู้บริหารก็ต้องมาช่วยคุณครูด้วยเหมือนกัน เป็นการลดช่องว่างระหว่างผู้ปกครองกับครูด้วย เป็นการกระตุ้นให้ผู้ปกครองได้กลับไปใช้วิธีนี้กระตุ้นคำถามนี้กับบุตรหลานที่บ้านตัวเองด้วย
ปัญหาและอุปสรรคที่พบ
  1. ผู้ปกครองบางส่วนยังไม่กล้าที่จะออกมาแสดงความคิดเห็น ส่วนมากจะเป็นบุคคลเดิมๆ จึงได้ใช้วิธีสอบถามและแท็กชื่อผู้ปกครองในกลุ่ม Line ที่เหลือทุกคนสอบถามถึงผลการงอกของเห็ด การเจริญเติบโตไปได้ถึงขั้นตอนไหนแล้วบ้าง ซึ่งก็จะได้คำตอบกลับมาเพิ่มเติมบ้างในบางส่วน และได้ฝากคุณครูประจำชั้นแจ้งให้นักเรียนทราบด้วยว่าเรายังมี LINE กลุ่มใหญ่ให้คุณพ่อคุณแม่เข้ามาแลกเปลี่ยนกันได้
  2. การออกแบบการเรียนรู้ของครู ต้องคุยกันให้ชัดเจนมากขึ้นและพูดคุยสม่ำเสมอซึ่งตอนนี้ทางโรงเรียนมีครูมาบรรจุใหม่ จึงต้องใช้เวลาในการฝึกด้านนี้กับครูค่อนข้างมาก ถึงจะเกิดผลไปที่ตัวนักเรียน
สิ่งที่วางแผนไว้ว่าจะทำในอนาคต
  1. การกระตุ้นให้ผู้ปกครองเกิดพฤติกรรมในการชวนบุตรหลานตั้งคำถาม และชวนให้หาคำตอบด้วยตนเองและยังไม่ต้องบอกคำตอบให้ทราบก่อน โดยให้หาและรู้คำตอบด้วยตนเอง แต่ผู้ปกครองต้องใช้คำถามกระตุ้นเหมือนที่ทางโรงเรียนได้ถามผู้ปกครองไป
  2. นำเกณฑ์การวัดและประเมินสมรรถนะของผู้เรียน ตามหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะของโรงเรียน มาใช้ในการการประเมินผู้เรียนจริง เพื่อจะดูว่าพฤติกรรมบ่งชี้ที่เราได้ระบุไว้ใช้ได้จริงเพียงพอหรือไม่ หากไม่ได้ ก็ปรับแก้ไขให้มีความชัดเจนตรงประเด็น
สิ่งที่ตั้งใจอยากจะทำในอนาคต

หากกิจกรรมนี้ประสบความสำเร็จก็จะกลับมาถามผู้ปกครอง และนักเรียนว่า อยากเลี้ยงอะไร อย่างเช่น เลี้ยงไก่  ปลูกผัก เลี้ยงปลาสวยงาม เลี้ยงผีเสื้อ ก็จะจัดสิ่งนั้นให้กับผู้ปกครองนักเรียน แล้วก็ทดลองที่จะเรียนรู้ร่วมกันอีกครั้ง  ซึ่งครั้งนี้เป็นเรื่องของความแตกต่างและจะไม่เหมือนกันทั้งโรงเรียน อาจจะต้องหาข้อสรุปเป็นรายชั้นหรือจะเป็นหลายคน แต่สิ่งที่อยากทำจริงๆ ก็คือ อยากให้นักเรียนที่มีความสนใจสิ่งไหนก็จะให้เขาได้ทดลองทำสิ่งนั้นดู  ให้นักเรียนได้ทำในสิ่งที่เขาชอบ ซึ่งเขาก็จะได้อยากเรียนรู้อยากศึกษาและหาคำตอบด้วยตนเองได้อย่างมีความสุข

ความภาคภูมิใจกับกิจกรรมนี้
  1. การเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส หลายคนบอกว่า ช่วงโควิดนี้จัดการเรียนรู้ได้ยาก จัดการเรียนรู้ไม่ได้ มีข้อจำกัดมาก ทุกคนก็มุ่งแต่ให้แต่ใบงาน ซึ่งทางโรงเรียนมีความภาคภูมิใจที่ได้เลือกใช้วิธีเรียนแบบนี้ คือให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่ใกล้ตัวในสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ทุกอย่างที่เกิดการเรียนรู้ก็มาจาก สิ่งที่อยู่รอบรอบตัวที่สามารถหยิบจับสัมผัสมันได้จริงๆ มากกว่าการดูหนังสือ การดู YouTube ซึ่งนักเรียนก็มีครูที่เก่งอยู่ที่บ้านอยู่แล้วก็คือพ่อแม่ เพราะว่าพ่อแม่เมื่อได้มาร่วมเรียนรู้กันในกลุ่ม LINE ของโรงเรียนแล้วก็จะสามารถเข้าไปดูแลบุตรหลานเมื่ออยู่ที่บ้านได้
  2. การเปลี่ยนแปลงจากสิ่งเล็กน้อย ความภูมิใจที่ครูอย่างพวกเราก็มีส่วนช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเดือดร้อนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (covid 19) ในขณะนี้ ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ซึ่งในช่วงนี้ก็ไม่ได้ออกไปประกอบอาชีพ จึงเปลี่ยนมาเป็นอยู่ที่บ้านปลูกผัก กินที่ปลูก ไม่ได้ค้าขายอะไร ซึ่งจะเห็นทางผู้ปกครองได้นำเห็ดไปทำเป็นอาหาร จากเห็ด 12 ก้อน บางคนสามารถนำไปประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว และมีบางส่วนได้ติดต่อสอบถามการซื้อเชื้อเห็ดเพิ่มเติม ถึงแม้จะเป็นแค่ส่วนเล็ก ๆ ในสังคมแต่วันนี้สิ่งที่ครูอย่างเราทำได้ก็คือ ให้การศึกษา ให้ความรู้ ให้โอกาส แล้วก็ยืนเคียงข้างผู้ปกครองและนักเรียนไม่ทิ้งกันไปไหนในยามที่เดือดร้อน
จากใจผู้อำนวยการ

จากสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ทำให้เชื่อสนิทใจว่า ไม่ว่านักเรียนจะมาเรียนที่โรงเรียนหรือจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ถ้าเรายังติดต่อกันได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ต่อจากนี้ไปถ้าโรงเรียนยังไม่เปิดก็เชื่อว่าโรงเรียนสามารถทำให้เด็กเรียนรู้ ให้เด็กเกิดสมรรถนะที่สำคัญได้ เด็กสามารถอ่านออกเขียนได้ ได้ เพราะเรามี กระบวนการบริหารที่ดี มีกระบวนการออกแบบการเรียนรู้ที่ดี และก็มีการวัดและประเมินผลที่ชัดเจน

มุมมองจากผู้เขียน

เนื่องด้วยความไม่ปกติของการใช้ชีวิต ซึ่งเกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID 19) ทำให้เกิดปัญหาด้านการเรียนรู้ในกระบวนการศึกษา ฉะนั้น เราซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อม จึงต้องมีการปรับตัว ปรับการใช้ชีวิต ปรับระบบการทำงานให้สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ดังกล่าว ให้สมกับคำกล่าวที่ว่า ชีวิต ในยุค NEW NORMAL หากแต่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ หรือสภาพแวดล้อมและเหตปัจจัยที่ตนพบเจอ เพื่อสามารถที่จะแก้ปัญหาที่มีอยู่ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีเกิดประโยชน์ส่วนรวม แก่ประเทศชาติให้ได้และให้ดีที่สุด ผู้เขียนขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้กับผู้บริหารและคณะครูโรงเรียนวัดถนนกะเพรา ที่สามารถปรับวิถีการเรียนรู้ให้กับนักเรียนได้ดีที่สุดและสามารถยังประโยชน์ให้กับผู้ปกครองของนักเรียน เป็นวิธีที่อยู่เคียงข้างกันในยามยากลำบากอย่างแท้จริง

 

โรงเรียนวัดถนนกะเพราะ ได้เข้าร่วมนำเสนอกิจกรรมเห็ดหรรษาในกิจกรรม “ล็อกดาวน์ไม่ล็อกการเรียนรู้” ครั้งที่ 2 หัวข้อ พลิกวิกฤต “เรียนรู้ ปากท้อง” โอกาส รร.วัดถนนกะเพรา” เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2564 เวลา 08.30 – 12.30 น. ด้วยระบบ Zoom Cloud Meetings และ Facebook Live และเผยแพร่แผนกิจกรรมในเว็บไซต์ www.cbethailand.com

 

ดาวน์โหลดตัวอย่างกิจกรรมเห็ดหรรษา คลิก

รับชมย้อนหลังด้านล่าง (นาทีที่2:06:07เป็นต้นไป) และดาวน์โหลดเอกสาร คลิก

 

ตัวอย่างกิจกรรมเห็ดหรรษา

ติดตามอื่น ๆ ได้ที่

       

 



ผู้เขียน:
ปราชญาพร แช่ใจ
ผู้ให้สัมภาษณ์
: ปวีณา พุ่มพวง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดถนนกะเพรา
ผู้เขียน/เรียบเรียง: ปราชญาพร แช่ใจ
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
ลงพื้นที่เรียนรู้ในชุมชน ได้สัมผัสภูมิปัญญาของคน เห็นคุณค่าความรู้ใกล้ตัว ด้วยกระบวนการเรียนรู้ด้วยโครงงานฐานวิจัย (RBL) 14 ขั้นตอนโครงการสร้างงานศิลป์ รักษ์ถิ่นเกิด กิจกรรมการเรียนรู้ส่งเสริมทักษะอาชีพด้านศิลปะ โรงเรียนบ้านห้วยมาลัย จ.กาญจนบุรี
บทความล่าสุด