โครงการสร้างงานศิลป์ รักษ์ถิ่นเกิด
กิจกรรมการเรียนรู้ส่งเสริมทักษะอาชีพด้านศิลปะ
โรงเรียนบ้านห้วยมาลัย จ.กาญจนบุรี
——–
โรงเรียนบ้านห้วยมาลัย เป็นโรงเรียนชายขอบที่มีนักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ กะเหรี่ยง มอญ พม่า มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม อีกทั้งความเป็นอยู่ของแต่ละครอบครัวแตกต่างกัน ฐานะของคนในชุมชนโดยรวมอยู่ในระดับยากจนถึงปานกลาง ส่งผลให้นักเรียนหลายๆ คนขาดโอกาสทางการศึกษาทั้งการศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน และการศึกษาต่อในระดับการศึกษาที่สูงขึ้นทางโรงเรียนเล็งเห็นว่า การพัฒนานักเรียนด้านทักษะอาชีพ จะช่วยสร้างโอกาสทางการศึกษาและเป็นการสร้างพื้นฐานอาชีพให้กับนักเรียนได้ จึงจัดโครงการ “สร้างงานศิลป์ รักษ์ถิ่นเกิด” ขึ้นมา เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้านศิลปะ ได้ฝึกสมาธิและพัฒนาการการเรียนรู้นำไปประยุกต์กับความรู้ด้านอื่นๆ ฝึกการคิดนอกกรอบ และได้สื่อสารอารมณ์ ความรู้สึก และความคิดสร้างสรรค์ผ่านผลงานด้านศิลปะและต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น งานเพ้นท์กระเป๋าผ้า งานเพ้นท์กระถางต้นไม้ งานโปสการ์ด ฯลฯ เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สามารถสร้างรายได้ระหว่างเรียน และสร้างโอกาสทางการศึกษาและอาชีพต่อไป
วัตถุประสงค์ของโครงการ
- สร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปะ
- สร้างรายได้จากผลงานด้านศิลปะ
- เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกสมาธิและพัฒนาการการเรียนรู้ในวิชาและสาระการเรียนรู้อื่นๆ
- เพื่อให้นักเรียนสามารถนำความรู้ด้านศิลปะไปประยุกต์กับความรู้อื่น ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ เพื่อฝึกความคิดสร้างสรรค
- เพื่อให้นักเรียนได้เปิดโอกาสให้ตัวเองได้ก้าวสู่เวทีแข่งขันด้านศิลปะในระดับต่างๆ
ขั้นตอนการดำเนินงาน
ครูผู้สอนศิลปะ (นางสาวอรพิน ห้วยหงษ์ทอง) จัดโครงการ “สร้างงานศิลป์ รักษ์ถิ่นเกิด” และรับสมัครนักเรียนในโครงการปีละ 20 – 30 คน ซึ่งนักเรียนในโครงการนอกจากการเรียนศิลปะในชั่วโมงเรียนแล้วต้องเข้าร่วมชุมนุมศิลปะ และจะต้องมาฝึกฝนวาดรูปในเวลาหลังเลิกเรียน เวลาว่างและทุก ๆ วันเสาร์ เมื่อมีฝีมือในระดับที่ดีแล้ว ครูจะให้นักเรียนวาดภาพงานตามรายการที่มีผู้สนใจสั่งทำชิ้นงานเข้ามา และคัดสรรผลงานนำมาจัดจำหน่ายตามงานถนนคนเดินสังขละบุรี และจำหน่ายผ่านเพจเฟซบุ๊ก อีกทั้งนักเรียนจะได้ออกไปวาดภาพนอกสถานที่ ร่วมอบรมการทำงานศิลปะจากอาจารย์และศิษย์เก่า และยังได้ออกค่ายอาสาสอนศิลปะให้กับเด็กที่มีความสนใจด้านศิลปะปีละ 2 – 3 ครั้ง ในโรงเรียนหรือศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ และเมื่อจบชั้น ม.3 ครูจะส่งเสริมให้ได้ไปศึกษาต่อ เช่น สถาบันอาชีวศึกษา โดยให้คำปรึกษาแนะนำ ช่วยเหลือต่าง ๆ ซึ่งนักเรียนที่เรียนจบไปแล้วก็สามารถทำงานและฝากชิ้นงานจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้เสริมได้อีกทางหนึ่ง
ผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ครู และสถานศึกษา
- เกิดผลงานที่เกิดจากการสื่อสารอารมณ์ ความรู้สึก ความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน
- ผลงานของนักเรียนสามารถสร้างรายได้ให้กับนักเรียนเพื่อเก็บเงินไว้ศึกษาต่อและจุนเจือครอบครัว และต่อยอดเป็นอาชีพได้
- นักเรียนได้ฝึกสมาธิและพัฒนาการ
- นักเรียนสามารถนำความรู้ด้านศิลปะไปประยุกต์กับความรู้อื่นๆ เพื่อฝึกความคิดสร้างสรรค์หรือคิดนอกกรอบ
- นักเรียนได้เปิดโอกาสให้ตัวเองได้ก้าวสู่เวทีแข่งขันด้านศิลปะในระดับต่าง ๆ
- นักเรียนในกิจกรรมสร้างงานศิลป์ รักษ์ถิ่นเกิด ได้เข้าร่วมการแข่งขันศิลปะ งานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติทุก ๆ ปี และได้รับรางวัลเหรียญทองในระดับชาติ
- ครูได้แสดงศักยภาพในการพัฒนานักเรียนด้านศิลปะ และเกิดผลงานกับตัวครู
- สถานศึกษาได้รับการยอมรับและความเชื่อมั่นจากผู้ปกครองนักเรียน และชุมชน
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
- ความมุ่งมั่นตั้งใจของครูผู้สอนศิลปะที่มีความทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจในการสอนและฝึกฝนเด็กนักเรียน ดูแลเอาใจใส่ทั้งเวลาเรียนและนอกเวลาเรียน ต่อยอดและพัฒนาเด็กนักเรียนให้มีเทคนิคและมีฝีมือในการวาดภาพระบายสีและสร้างผลิตภัณฑ์งานศิลป์
- ความขยันตั้งใจของนักเรียนในโครงการ
- ได้รับการสนับสนุนจากโรงเรียนและหน่วยงานข้างนอก
ปัญหาและอุปสรรค
การฝึกฝนที่ต้องใช้เวลาและฝึกฝนอย่างต่อเนื่องทำให้เด็กในกิจกรรมบางคนไม่มีเวลามาทำกิจกรรม
เป้าหมายการดำเนินงานในฐานะโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมต่อไป
- สร้างเจตคติที่ดีต่อวิชาศิลปะ
- สร้างพื้นฐานทางศิลปะ
- พัฒนาความสามารถด้านศิลปะสู่ความเป็นเลิศ
- พัฒนาต่อยอดงานศิลปะ
- สร้างโอกาสทางการศึกษาและอาชีพ
ติดตามอื่น ๆ ได้ที่
ผู้เขียน: ณัฐมล ไชยประดิษฐ์
ผู้ให้สัมภาษณ์: อรพิน ห้วยหงษ์ทอง ครูศิลปะ (เจ้าของโครงการ) รร.บ้านห้วยมาลัย
ผู้เขียน/เรียบเรียง: ณัฐมล ไชยประดิษฐ์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์