พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.นราธิวาส - สู่เส้นทางการสร้างสมรรถนะ SHOW&SHARE จากชุมชน...สู่โรงเรียน

9 กุมภาพันธ์ 2023

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.นราธิวาส – สู่เส้นทางการสร้างสมรรถนะ
SHOW&SHARE จากชุมชน…สู่โรงเรียน

 

เส้นทางของการขับเคลื่อนสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนราธิวาสที่เน้นฐานสมรรถนะระดับห้องเรียน โรงเรียน และชุมชน

 

โดยมี 4 ประเด็น หลักที่จะทำให้สำเร็จ

  1. โรงเรียนต้องการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนและนำวัฒนธรรมมาใช้
  2. โรงเรียนเปลี่ยนอะไร เปลี่ยนอย่างไร
  3. การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เกิดจาก Contribution ของ ผอ. และครู อย่างไร
  4. อะไรที่เป็นอุปสรรคจุดติดขัดที่ก้าวข้ามได้จะนำสู่ความสำเร็จ
1. โรงเรียนต้องการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนและวัฒนธรรมมาใช้

หลักสูตรมีการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน ครูเปลี่ยนบทบาท เปลี่ยนวิธีการสอนจากที่สอนใช้หนังสือเรียนเป็นฐานเปลี่ยนมาใช้แหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ในชุมชน หรือทุนทางสังคมทางวัฒนธรรม ทางภูมิปัญญามาจัดการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน โดยให้นักเรียนลงพื้นที่เรียนจากแหล่งเรียนรู้ด้วยตนเอง ค้นคว้าหาความรู้ และนำความรู้เดิมมาเชื่อมโยงกับความรู้ใหม่ พัฒนาจนเกิดทักษะและสมรรถนะ

2. โรงเรียนเปลี่ยนอะไร เปลี่ยนอย่างไร?

การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาที่เน้นฐานสมรรถนะ ทำให้โรงเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่บริหารจัดการศึกษาตามนโยบายต่าง ๆ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน เป็นการบริหารจัดการศึกษาให้สอดคล้อง
กับหลักสูตรสถานศึกษาที่พัฒนาขึ้นให้เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา ซึ่งบางสถานศึกษามีรูปแบบการบริหารจัดการศึกษา ที่แสดงถึงตัวตนของสถานศึกษา เปิดโอกาสให้ชุมชน ผู้ปกครองครูและนักเรียนมีส่วนร่วมออกแบบการจัดการศึกษา

  • การเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร

สถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนราธิวาสส่วนใหญ่เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร
โดยจากเดิมผู้บริหารสถานศึกษาจะบริหารจัดการสถานศึกษาเพียงผู้เดียว หรือให้ครูบางส่วนช่วยการขับเคลื่อนสถานศึกษาเปลี่ยนเป็นให้ทุกคนในสถาบศึกษามีส่วนร่วมต่อการจัดการศึกษา รวมทั้งผู้ปกครอง ชุมชนและทุกภาคส่วน

  • การเปลี่ยนสภาพแวดล้อม บรรยากาศนิเวศการเรียนรู้

การนำหลักสูตรสถานศึกษาที่เน้นฐานสมรรถนะไปใช้ สถานศึกษาได้ปรับเปลี่ยนแนวทางพัฒนาฝ่ายสนับสนุน
การจัดการเรียนรู้ โดยปรับสภาพแวดล้อม บรรยากาศของห้องเรียน บริเวณรอบสถานศึกษา ให้สอดคล้องกับหลักสูตรสถานศึกษาใช้แหล่งเรียนรู้และทุนที่มีอยู่ในชุมชนมาจัดการเรียนรู้ เพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่นักเรียนให้เกิดสมรรถนะด้วยตนเอง

  • การเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนรู้

 การจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรสถานศึกษาที่เน้นฐานสมรรถนะ ครูต้องปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนรู้ครูต้องออกแบบหน่วยการเรียนรู้และแผนการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับเนื้อหาที่กำหนดโดยนำสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวนักเรียนและในชุมชนหรือแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ในชุมชนมกำหนดเป็นเนื้อหาในการจัดการเรียนรู้มาบูรณาการกับเนื้อหาหลักในรายวิชา ให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองเกิดทักษะและเกิดองค์ความรู้ที่เชื่อมโยงกันแต่การจัดการเรียนรู้ที่เน้นฐานสมรรถนะครูต้องเรียนรู้การออกแบบการจัดการเรียนรู้และการนำเทคนิคการจัดการเรียนรู้มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับเนื้อหาหรือธรรมชาติของรายวิชา เปลี่ยนครูจากผู้แสดงเป็นผู้กำกับเปลี่ยนนักเรียนจากผู้ร่วมแสดงเป็นนักแสดงเต็มตัว

  • ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับนักเรียน

การจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรสถานศึกษาที่เน้นฐานสมรรถนะนักเรียนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะนักเรียนที่อยู่ตามขอบชายแดนไทย – มาเลเซียและนักเรียนที่ถือสัญชาติอื่นๆ ที่ไม่ใช่สัญชาติไทยสามารถเข้าเรียนในสถานศึกษานำร่องได้ นักเรียนได้เรียนรู้จนสามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้คล่อง มีพื้นฐานทางด้านอาชีพสามารถประกอบอาชีพหารายได้ระหว่างเรียนได้ ครูสอนให้เรียนรู้เรื่องราวใกล้ตัวนักเรียนลงมือปฏิบัติด้วยตนเองเรียนพร้อมกับเพื่อน ๆ อย่างมีความสุข

3. การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เกิดจาก Contribution ของ ผอ.และ ครู (ผอ.และครู ทำะไรบ้าง? อย่างไร?)

การจัดการศึกษาตามหลักสูตรสถานศึกษาที่เน้นฐานสมรรถนะสถานศึกษามีความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการบริหารจัดการ การจัดการเรียนรู้ และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยผู้บริหารสถานศึกษาปรับเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการศึกษาใช้รูปแบบการมีส่วนร่วมจากครู ผู้ปกครอง ชุมชนและภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาออกแบบแนวทางการบริหารจัดการศึกษาของสถานศึกษา กำหนดนโยบายปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมและบรรยากาศ
ของสถานศึกษาให้สอดคล้องกับการจัดการเรียนรู้จัดวงสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการจัดการเรียนรู้ ปัญหาอุปสรรคและแนวทางแก้ไขปัญหา ทำให้มีรูปแบบการบริหารจัดการศึกษาที่ชัดเจน

4. อะไรที่เป็นอุปสรรค จุดติดขัดที่ก้าวข้ามได้จะนำสู่ความสำเร็จ

การจัดการศึกษาตามหลักสูตรสถานศึกษาที่เน้นฐานสมรรถนะสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษา คือ การปรับเปลี่ยน mind set หรือทัศนคติของผู้บริหารและครูในสถานศึกษานำร่องให้เข้าใจต่อการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและการพัฒนาหลักสูตรที่เน้นฐานสมรรถนะเนื่องจากผู้บริหารสถานศึกษามีความเข้าใจต่อการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นเพียงโครงการหนึ่งเป็นหน้าที่ของครูผู้รับผิดชอบโครงการที่ได้รับมอบหมาย และการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษายังไม่มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน สามารถดำเนินการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 สำหรับครูยังคงยึดติดกับการจัดการเรียนรู้แบบเดิมใช้หนังสือเรียนเป็นฐานและจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ครูเป็นศูนย์กลาง ไม่สนับสนุนการเรียนรู้แบบบูรณาการและผลลัพธ์สุดท้ายคือนักเรียนไปไม่ถึงความเป็นสมรรถนะของผู้เรียนนักเรียนยังไม่เห็นคุณค่าความเป็นตัวเอง คุณค่าของสิ่งที่เรียนรู้ และตระหนักภาคภูมิใจต่อการเรียนรู้

* บุคคลที่ปรากฏในบทความนี้ ท่านใด ประสงค์ให้นำภาพหรือข้อมูลซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลออก โปรดแจ้งมาที่ E-mail : Saraban@EduSandbox.com*

ติดตามอื่น ๆ ได้ที่

       

 



ผู้เขียน:
ปัทมาวดี ขันธ์ชัย ศึกษานิเทศก์ ศธจ.นราธิวาส
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
เชียงใหม่เดินหน้าขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสู่ความสำเร็จประกาศคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2566
บทความล่าสุด