การพัฒนาระบบประกันฯ ภายในสถานศึกษาและการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา

3 ตุลาคม 2024
การพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาและการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา

การพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาในสถานศึกษา เป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยยกระดับมาตรฐานการศึกษาของผู้เรียน และสร้างระบบที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการการเรียนรู้ที่มีคุณภาพได้อย่างแท้จริง ซึ่งสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) ได้เสนอแนวทางการบริหารสถานศึกษาด้วยกลยุทธ์ I 5P Model ด้วยมุมองภาพสำเร็จเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. (นายสุรินทร์ มั่นประสงค์) อ่านที่นี้

ในบทความนี้ สบน. จะมุ่งเน้นการนำเสนอแนวทางการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาและการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน ซึ่งสรุปจากการบรรยายพิเศษ หัวข้อ “การเตรียมความพร้อมเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน” โดยผู้เชี่ยวชาญ สพฐ. (นายสุวิทย์ บึงบัว) จากการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนเกี่ยวกับการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสุโขทัย เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 ผ่านโปรแกรม Zoom Meetings

 

การพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา ไม่เพียงแต่ช่วยให้การเรียนการสอนมีมาตรฐานที่ชัดเจน แต่ยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ที่ยั่งยืน ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาระบบการศึกษาที่มีคุณภาพทั้งภายในและภายนอก รวมถึงการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนอย่างรอบด้าน มีรายละเอียดดังนี้:

  • การประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษานำร่อง
  • การประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกและการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน

การพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาในสถานศึกษา

 

การพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา
พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 37 กำหนดให้สถานศึกษานำร่องจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา และมีการประเมินเพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนและตรวจสอบคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด และมาตรา 37 วรรคสอง กำหนดให้สถานศึกษานำร่องรายงานผลการประเมินและตรวจสอบคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาต่อคณะกรรมการขับเคลื่อน และให้คณะกรรมการขับเคลื่อนให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ และแนะนำ สถานศึกษา เพื่อให้การประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (คณะกรรมการนโยบายฯ ได้มีการประกาศกำหนด โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2564)

 
บทนิยามของการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา
  • การประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา หมายถึง กระบวนการและกลไกในการตรวจสอบประเมิน เรียนรู้ และปรับปรุงระบบการบริหารคุณภาพการศึกษาที่สถานศึกษากําหนดขึ้น เพื่อทําให้ผู้เกี่ยวข้องตามหลักสูตร และสถานศึกษาเกิดการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อขยายผลไปสู่การปฏิรูปการศึกษาของประเทศในวงกว้าง
  • ระบบการบริหารคุณภาพการศึกษา หมายถึง ระบบที่ใช้ในการกํากับ ติดตาม ตรวจสอบ ประเมิน เรียนรู้ และปรับปรุงองค์ประกอบ กระบวนการ และปัจจัยสําคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียนตามเป้าหมาย ของหลักสูตร อันได้แก่ ระบบของหลักสูตร การเรียนการสอน และการวัดและประเมินผล แผนปฏิบัติการประจําปี ระบบชุมชนการเรียนรู้ของครู ระบบสนับสนุนของฝ่ายวิชาการ และระบบการทํางานของฝ่ายสนับสนุนทั่วไป ซึ่งควรเป็นการดําเนินงานเป็นวงจรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณภาพตามเป้าหมายของหลักสูตร
  • คุณภาพของผู้เรียน หมายถึง ผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้เรียน อย่างเต็มตามศักยภาพและลักษณะเฉพาะ ของผู้เรียนแต่ละคน ทั้งในด้านสุขภาวะ ทัศนะเชิงคุณค่าต่อความดี ความงาม และความจริง ความรู้ ทักษะ เจตคติ คุณลักษณะ และสมรรถนะตามที่ระบุไว้ในหลักสูตร
 
2 ภารกิจหลักในการพัฒนาระบบบริหารคุณภาพการศึกษา

สถานศึกษานำร่องจะต้องปฏิบัติตามภารกิจหลักสองด้าน ดังนี้

  • ภารกิจที่ 1

เตรียมการ ศึกษาผลการศึกษา วิเคราะห์จุดแข็ง- จุดอ่อน และกำหนดแนวทางพัฒนา สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันคุณภาพ กำหนดเป้าหมายพัฒนา ให้สอดคล้องกับบริบทและชุมชน มุ่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ

การพัฒนาระบบบริหารคุณภาพการศึกษา โดยจะแบ่งเป็น 4 QM ได้แก่
QM 1 ระบบ OLE : พัฒนาหลักสูตรและแผนปฏิบัติการนำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ วัดและประเมินผลการเรียนรู้ทั้งระหว่างและหลังเรียน เพื่อนำผลไปพัฒนาผู้เรียน ครู หลักสูตร และการสอน
QM 2 ระบบ PLC : จัดระบบพัฒนาคุณภาพการศึกษา ติดตาม และปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนและการประเมินผลจัดระบบพัฒนาครูผ่านชุมชนการเรียนรู้หรือระบบอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาตามศักยภาพของสถานศึกษา 
QM 3 ระบบสนับสนุนฝ่ายวิชาการฯ : สนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรการสอน การประเมินผล และการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรม จัดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ในกลุ่มเครือข่ายสถานศึกษา ประมวลข้อมูลสะท้อนกลับตลอดปี เพื่อสร้างวงจรการประกันคุณภาพที่สมบูรณ์
QM 4 ระบบสนับสนุนทั่วไป : จัดการงานสนับสนุนทั่วไปให้เป็นระบบคุณภาพด้วยวงจร PDCA (Plan-Do-Check-Act) และส่งเสริม ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ สำหรับผู้เรียน

  • ภารกิจที่ 2

การตรวจสอบ ประเมินและปรับปรุงระบบบริหารคุณภาพการศึกษา ตรวจสอบและประเมินการบริหารคุณภาพการศึกษาประจำปี สรุปและรายงานผลต่อคณะกรรมการขับเคลื่อน เปิดเผยข้อมูลทุกสิ้นปี และนำผลไปปรับปรุงระบบการบริหารคุณภาพ และคณะกรรมการให้คำปรึกษาและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

การพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาในสถานศึกษา

 
การประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกและการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน

พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 38 กำหนดให้สถานศึกษานำร่องที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด ให้ถือว่าเป็นการผ่านการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอก ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติแล้ว และมาตรา 28 วรรคสอง กำหนดให้สถานศึกษานำร่องที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนไม่เป็นไปตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการขับเคลื่อนขอให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หน่วยงาน องค์กร หรือสถาบันที่มีผลงานด้านการรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ให้คำแนะนำในการปรับปรุงคุณภาพการศึกษาแก่สถานศึกษานำร่องและแจ้งให้คณะกรรมการขับเคลื่อนทราบ (คณะกรรมการนโยบายฯ ได้มีการประกาศกำหนด โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2564)

 
บทนิยามการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน
  • ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา หมายถึง พัฒนาการของผู้เรียนทั้งในด้านความรู้ สมรรถนะ ทักษะ และเจตคติ
  • สมรรถนะพื้นฐาน หมายถึง สมรรถนะในความฉลาดรู้พื้นฐาน (Basic Literacy) 4 ด้าน ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
  • สมรรถนะหลัก หมายถึง สมรรถนะทั่วไปที่ประยุกต์ใช้กับเรื่องและสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง เป็นสมรรถนะที่ช่วยให้บุคคลประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ การปฏิบัติ การทำงาน การแก้ปัญหา และการใช้ชีวิต เช่น สมรรถนะด้านการสื่อสาร การคิด การทำงานเป็นทีม การเป็นพลเมือง โดยคำนึงถึงผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษา (Desired Outcomes of Education: DOE) ระดับชาติและพื้นที่
 
การผ่านเกณฑ์การประเมินฯ ของสถานศึกษานำร่อง
  • สมรรถนะพื้นฐาน
    ผู้เรียนทุกคนมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในกลุ่มสมรรถนะพื้นฐาน อย่างน้อย 2 ด้าน ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 50 อีก 2 ด้าน ที่เหลือไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 40 ยกเว้นกรณีผู้เรียนที่เป็นเด็กพิเศษ
  • สมรรถนะหลัก
    ผู้เรียนทุกคนมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในกลุ่มสมรรถนะหลัก อย่างน้อย 2 ด้าน ในระดับ “สามารถ” ยกเว้นกรณีผู้เรียนที่เป็นเด็กพิเศษ
    ซึ่งระดับ จะแบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่ (1) เริ่มต้น (2) กําลังพัฒนา (3) สามารถ และ (4) เหนือความคาดหวัง
 
สรุปการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา
  • ประเมินอะไร
    (1) สมรรถนะพื้นฐาน
    (2) สมรรถนะหลัก
    ทั้งนี้ ยกเว้นเด็กพิเศษ
  • ใครประเมิน
    (1) กขน. ประเมินผลการจัดการศึกษา ทุก 3 ปี โดยประเมินชั้นสูงสุดของทุกช่วงชั้น และอาจสามารถมอบอำนาจให้สถานศึกษานำร่องที่มีความพร้อมออกแบบทดสอบของตนเองได้
    (2) สถานศึกษานำร่อง ประเมินชั้นสูงสุดของทุกช่วงชั้น
  • ผลการประเมิน
    (1) หากผ่านเกณฑ์การประเมินฯ ให้ถือว่าผ่านการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอก
    (2) หากผ่านไม่เกณฑ์การประเมินฯ ให้ กขน. ขอให้ สมศ. หรือหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการรับรองมาตรฐาน ให้คำแนะนำในการปรับปรุงคุณภาพการศึกษาแก่สถานศึกษานำร่อง และแจ้ง กขน. ทราบ

การพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาในสถานศึกษา

ในการประกันคุณภาพการศึกษาและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาการเรียนรู้ในระดับชาติโดยมุ่งพื้นที่เป็นฐาน เพื่อการเตรียมความพร้อมและการดำเนินงานอย่างเป็นระบบสามารถช่วยให้สถานศึกษาเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกอย่างยั่งยืน ไม่เพียงแต่ยกระดับคุณภาพการศึกษา แต่ยังสร้างความมั่นใจแก่ผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้องว่าผู้เรียนได้รับการศึกษาที่มีมาตรฐานอย่างแท้จริงการปรับปรุงระบบการประกันคุณภาพและการประเมินผลการเรียนรู้จะต้องมีการบูรณาการนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัยและยั่งยืน คาดหวังว่าในอนาคต สถานศึกษาจะสามารถนำเกณฑ์และมาตรฐานที่กำหนดไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนและสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป

 

เอกสารประกอบ

 

ติดตามอื่น ๆ ได้ที่

 


ผู้เขียน: อิศรา โสทธิสงค์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์

Facebook Comments
การรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562
บทความล่าสุด