นวัตกรรมด้านการบริหารและบริหารทางการศึกษา SRIIN MODEL

31 ตุลาคม 2024

เมื่อวันที่ 27 – 30 สิงหาคม 2567 นายสุวิทย์ บึงบัว ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหลักสูตรและสื่อการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยี พร้อมด้วยคณะทำงานจากสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นผู้แทน สพฐ. ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และให้กำลังใจสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสุโขทัย จำนวน 14 แห่ง โดยวันที่ 28 สิงหาคม 2567 ได้เดินทางไปเยี่ยมโรงเรียนบ้านเมืองเก่า “ศรีอินทราทิตย์” สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุโขทัย เขต 1

โดยได้รับการต้อนรับจาก นายวัลลภ วิบูลย์กูล ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุโขทัย เขต 1 นางอุไรวรรณ โพธิ์นาค ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเมืองเก่า “ศรีอินทราทิตย์” นายไมตรี นาคประสิทธิ์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเมืองเก่า “ศรีอินทราทิตย์” รวมถึงผู้บริหารกลุ่มโรงเรียนรามคำแหง คณะศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุโขทัย เขต 1 และคณะครูนักเรียนบ้านเมืองเก่า “ศรีอินทราทิตย์” ร่วมให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง ณ ห้องประชุมเชื่อมศิริสนธิ์ ร่วมลงพื้นที่ยังโรงเรียนบ้านเมืองเก่า “ศรีอินทราทิตย์”

นางอุไรวรรณ โพธิ์นาค ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเมืองเก่า “ศรีอินทราทิตย์” ได้นำเสนอแนวทางการบริหารโรงเรียนภายใต้โมเดล SRIIN ซึ่งเป็นนวัตกรรมด้านการบริหารและบริการทางการศึกษาสำหรับโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรม โดยเน้นการจัดการศึกษาในระดับประถมศึกษา ซึ่งมีความสอดคล้องกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้งหมด และตอบสนองต่อความต้องการของโรงเรียน ปัจจุบันโมเดลนี้อยู่ในขั้นตอนการทดลองและพัฒนา ทั้งนี้ ผลการวิจัยจากการนำ SRIIN Model มาใช้ จะสามารถประยุกต์ไปสู่การบริหารโรงเรียนอื่น ๆ ที่มีความต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและการเรียนการสอนต่อไป ทั้งนี้ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากนวัตกรรม SRIIN ประกอบด้วย

  1. ได้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับสภาพปัจจุบันและปัญหาการบริหารจัดการโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
  2. ได้โมเดลการบริหารจัดการโรงเรียนที่ได้รับการพัฒนาและผ่านการทดสอบแล้วในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
  3. ส่งเสริมประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโรงเรียนและยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน
  4. มีแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาโมเดลการบริหารจัดการที่สามารถนำไปใช้จริงในโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา                                     

และเนื่องด้วยเวลาที่จำกัดในช่วงการนำเสนอในวันที่เยี่ยมชมโรงเรียน ผู้เขียนจึงได้ประสานขอสัมภาษณ์เพิ่มเติมภายหลังกับ ผอ.อุไรวรรณ โพธิ์นาค เพื่อเจาะลึกเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ SRIIN Model ในโรงเรียนบ้านเมืองเก่า “ศรีอินทราทิตย์” โดยข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์มีสาระสำคัญและน่าสนใจ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

จุดเริ่มต้นของการเข้ามาเป็นสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คืออะไร?

โรงเรียนมีความต้องการที่จะแก้ไขปัญหาด้านการศึกษา โดยเน้นการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ แก้ไขความไม่สอดคล้องของหลักสูตรกับบริบทของชุมชนหรือท้องถิ่น พร้อมทั้งพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนใหม่ที่เหมาะสมกับผู้เรียนและตอบสนองต่อความต้องการของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ โรงเรียนยังให้ความสำคัญกับการปรับตัวให้ทันสมัยต่อเทคโนโลยีและการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อีกทั้งยังต้องการความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนด้านทรัพยากร การฝึกอบรมครู การส่งเสริมด้านวิชาการ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมสนับสนุนด้านทรัพยากร การฝึกอบรมครู หรือแม้กระทั่งการสนับสนุนด้านวิชาการหรือด้านงบประมาณ

SRIIN Model ทำไมเป็นนวัตกรรมการศึกษาที่โดดเด่นของโรงเรียน?
นวัตกรรมการศึกษาที่โรงเรียนเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2567 (พฤษภาคม 2567 – มีนาคม 2568) ภายใต้ SRIIN Model คือ นวัตกรรมทางการศึกษาที่มีวัตถุประสงค์หลักดังต่อไปนี้

  1. เพื่อพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
  2. เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์และส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกัน
  3. เพื่อพัฒนาทักษะและความรู้ของครูและบุคลากร
  4. เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ของนักเรียน
  5. เพื่อใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการสนับสนุนการเรียนการสอน
  6. เพื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการโรงเรียน

จะเห็นได้ว่า SRIIN Model เป็นนวัตกรรมการศึกษาที่มีความโดดเด่นในการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียน เนื่องจากมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการปรับปรุงทั้งหลักสูตร การสอน และสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ให้เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง พร้อมกับส่งเสริมการพัฒนาทักษะของครูและบุคลากร อีกทั้งยังมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อสนับสนุนทั้งการเรียนการสอนและการบริหารจัดการภายในโรงเรียน ซึ่งนวัตกรรมนี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในระยะยาว

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หรือผลลัพธ์ที่ได้เป็นอย่างไร?
การนำนวัตกรรมการศึกษาใหม่เข้ามาใช้ในโรงเรียนได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญใน 3 ด้านหลัก ได้แก่

  1. ด้านวิธีการสอน โรงเรียนเริ่มใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและอุปกรณ์สมัยใหม่ในการเสริมสร้างการเรียนรู้ เช่น การใช้สื่อออนไลน์และแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมถึงการเน้นการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Active Learning) เช่น การทำโครงงาน การทำงานกลุ่ม และการคิดวิเคราะห์ในสถานการณ์จริง นอกจากนี้ ครูยังปรับบทบาทเป็น “โค้ช” หรือ “ผู้ชี้แนะ” เพื่อเน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น
  2. ด้านสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ โรงเรียนออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยมีห้องเรียนที่เปิดกว้างและพื้นที่สำหรับกิจกรรมที่หลากหลาย ซึ่งกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์และการทำงานร่วมกัน อีกทั้งยังเชื่อมโยงการเรียนรู้กับทรัพยากรและวัฒนธรรมท้องถิ่น ทำให้การเรียนรู้มีความสอดคล้องกับชีวิตจริงมากขึ้น
  3. ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา นักเรียนได้รับการพัฒนาทักษะที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทักษะวิชาการ ทักษะการคิดวิเคราะห์ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม และการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังพบว่านักเรียนยังมีความสุขในการเรียนรู้มากขึ้น มีความมั่นใจในการแสดงออก และเปิดกว้างในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ

การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายเป็นอย่างไร?
ผู้อำนวยการได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายว่า เป็นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียนกับชุมชนรอบข้างอย่างเป็นระบบ โดยบูรณาการความรู้จากวิถีชีวิตท้องถิ่นและปัญหาต่าง ๆ ในชุมชนให้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ซึ่งไม่เพียงช่วยให้นักเรียนได้ฝึกการคิดวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาในบริบทจริง แต่ยังสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมายและสอดคล้องกับชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ การเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนจากองค์กรภายนอก ยังช่วยเพิ่มมิติของการเรียนรู้ที่กว้างขึ้น ส่งเสริมการพัฒนาทักษะเชิงประสบการณ์และการเรียนรู้ที่หลากหลาย

ความท้าทายและอุปสรรคในการขับเคลื่อนงานฯ คืออะไรและมีวิธีการจัดการอย่างไร?

  1. ความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเรียนการสอน ซึ่งครูบางคนอาจมีความเคยชินกับวิธีการสอนแบบเดิมและไม่คุ้นเคยกับแนวทางการเรียนการสอนใหม่ ๆ ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีหรือการให้ผู้เรียนมีบทบาทมากขึ้น ทำให้มีการต่อต้านหรือไม่เต็มใจที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการสอน โรงเรียนได้ดำเนินการแก้ปัญหานี้โดยการจัดฝึกอบรมและพัฒนาทักษะครูอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครูมีความมั่นใจและเข้าใจถึงประโยชน์ของการใช้วิธีการสอนแบบใหม่
  2. ข้อจำกัดด้านทรัพยากรเทคโนโลยีและการเงินของโรงเรียน ที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคในการจัดหาทรัพยากรที่ทันสมัย เช่น อุปกรณ์เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตที่เพียงพอ เพื่อแก้ปัญหานี้ โรงเรียนสนับสนุนให้ครูใช้สื่อออนไลน์และแพลตฟอร์มการเรียนรู้ฟรี ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้
  3. การจัดการเวลาและภาระงานของครู เป็นผลมาจากการนำร่องนวัตกรรมการศึกษาทำให้ครูต้องใช้เวลามากขึ้นในการวางแผนการเรียนการสอน การจัดทำโครงการ หรือการติดตามผลการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งอาจทำให้ครูรู้สึกเหนื่อยล้าและมีภาระงานเพิ่มขึ้น โรงเรียนจึงแก้ปัญหานี้โดยการแบ่งปันภาระงานและการทำงานเป็นทีม โดยมีการแบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบที่ชัดเจน นอกจากนี้ การจัดการเวลาอย่างมีประสิทธิภาพและการปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับทรัพยากรที่มีอยู่
  4. การวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้มีความซับซ้อน เนื่องจากการเรียนรู้ในพื้นที่นวัตกรรมเน้นการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหาด้วยหลักสูตรที่มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับบริบท ซึ่งอาจไม่สามารถวัดผลได้โดยวิธีการทดสอบแบบดั้งเดิม ทำให้การประเมินผลการเรียนรู้มีความท้าทาย โรงเรียนจึงใช้วิธีการประเมินที่หลากหลาย เช่น การประเมินผ่านโครงงาน การสังเกตพฤติกรรมในชั้นเรียน หรือการวัดผลผ่านการประเมินตนเองของนักเรียน ซึ่งสามารถให้ผลลัพธ์ที่สะท้อนถึงการพัฒนาทักษะที่แท้จริง

จากการสัมภาษณ์ ผอ.อุไรวรรณ โพธิ์นาค เกี่ยวกับการใช้นวัตกรรมการศึกษา SRIIN Model แสดงถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องในการยกระดับคุณภาพการศึกษา ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการสอน สร้างสภาพแวดล้อม การเรียนรู้ที่ทันสมัย และพัฒนาทักษะของนักเรียน แม้ว่าจะมีความท้าทาย เช่น การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเรียนการสอน ข้อจำกัดของทรัพยากร ภาระงานที่เพิ่มขึ้น และความซับซ้อนของการประเมินผล แต่โรงเรียนได้พยายามจัดการกับอุปสรรคเหล่านี้อย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนนวัตกรรมดังกล่าวยังคงต้องการความร่วมมืออย่างใกล้ชิดจากทุกฝ่าย ทั้งครู นักเรียน และภาคีเครือข่าย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุมทุกมิติของการศึกษา

ในฐานะผู้สัมภาษณ์และผู้เขียนบทความนี้รู้สึกประทับใจและชื่นชมในความทุ่มเทและมุ่งมั่นของ ผอ.อุไรวรรณ โพธิ์นาค ทีมงานบริหาร ครู และบุคลากรทุกท่าน แม้ว่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายและอุปสรรคมากมาย แต่ความตั้งใจจริง ความร่วมมือ และการทำงานเป็นทีมที่เข้มแข็งในการปรับปรุงและพัฒนาการศึกษายังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าสิ่งนี้จะเป็นพลังสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน และความพยายามของทุกคนจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับโรงเรียนอื่น ๆ ที่มุ่งพัฒนาการศึกษาในทิศทางเดียวกัน

ติดตามอื่น ๆ ได้ที่

 


ผู้เขียน: ณัฐมล ไชยประดิษฐ์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์
Editor & Design: อิศรา โสทธิสงค์

Facebook Comments
การประชุมประธานกรรมการและเลขานุการ กขน. ระดับ สพท. และ สศศ.
บทความล่าสุด