การขับเคลื่อนการศึกษาภายใต้พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ได้สร้างโอกาสให้โรงเรียนสามารถปรับเปลี่ยนหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และความต้องการของผู้เรียน ส่งผลให้โรงเรียนหลายแห่งประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ โรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมได้รับความอิสระในการบริหารจัดการหลักสูตรและการเรียนการสอน โดยสามารถปรับเปลี่ยนเนื้อหาหลักสูตรให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ เช่น โรงเรียนในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา ที่มีประชากรมุสลิมจำนวนมาก ได้เน้นการบูรณาการศาสนาและการพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างอาชีพในท้องถิ่น
จังหวัดนราธิวาสได้พัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษาโดยใช้รูปแบบ PEACE Model ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยชื่อ PEACE ย่อมาจาก
P (Participation) การมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของทุกฝ่าย
E (Education for All) การศึกษาสำหรับทุกคนโดยไม่แบ่งแยกความแตกต่าง
A (Attention on Attitude Change) การปรับทัศนคติของผู้เกี่ยวข้องเพื่อการพัฒนา
C (Continuum of Action) การดำเนินงานที่ต่อเนื่อง
E (Endurable Global Citizenship) การพัฒนาผู้เรียนให้มีความรับผิดชอบต่อชุมชนและโลก
มีเป้าหมายให้ทุกคนมีส่วนร่วมการพัฒนาการศึกษาหนุนเสริมความเป็นไทย พลเมืองและพลโลกอย่างยั่งยืนการเสริมสร้างความรู้และทักษะให้แก่ผู้เรียน เพื่อให้สามารถเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก และสามารถพัฒนาสังคมให้ยั่งยืน คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนราธิวาส ได้พัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนราธิวาส โดยร่วมกันนำผลจากการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้บริหารและครู มาจัดทำคู่มือการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษานำร่อง เพื่อช่วยให้การจัดการศึกษาของสถานศึกษานำร่องมีความเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกำหนดรูปแบบการดำเนินงาน มาตรฐานการศึกษา และตัวชี้วัด เป็นแนวทางให้สถานศึกษานำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา
ระบบประกันคุณภาพการศึกษาท การพัฒนาระบบกลไกโค้ช (Coaching Mechanism)
ในการดำเนินการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนราธิวาส คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนราธิวาส ผู้บริหาร ครู ศึกษานิเทศก์และผู้เชี่ยวชาญ ได้ร่วมกันพัฒนากลไกระบบโค้ชโดยให้ระบบประกันคุณภาพการศึกษา แนวทางการพัฒนาระบบกลไกโค้ช (Coaching Mechanism) โดยแบ่งออกเป็น 4 ด้านสำคัญ (QM1 ถึง QM4) พร้อมกิจกรรมและกระบวนการที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. ด้านระบบหลักสูตร การจัดการเรียนรู้ และการประเมินผล (QM1) สนับสนุนการพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน และการประเมินผลอย่างเหมาะสมในโรงเรียน ให้คำปรึกษาในการพัฒนาหลักสูตร แนะนำวิธีการจัดการเรียนรู้ วางแผนและติดตามผลการประเมินมุ่งเน้นการพัฒนาครูและผู้เรียน
2. ด้านระบบชุมชนการเรียนรู้ของครู (QM2) สนับสนุนให้ครูมีพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน สร้างชุมชนการเรียนรู้ของครู (PLC) จัดอบรมและพัฒนาครูติดตามและให้ข้อเสนอแนะอย่างต่อเนื่อง
3. ด้านระบบสนับสนุนของฝ่ายวิชาการ (QM3) เสริมสร้างบทบาทของฝ่ายวิชาการในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ ให้คำปรึกษาและจัดหาทรัพยากรสำหรับการเรียนรู้ติดตามการพัฒนาของฝ่ายวิชาการ
4. ด้านระบบสนับสนุนทั่วไป (QM4) สร้างระบบสนับสนุนเพื่อการบริหารจัดการและส่งเสริมการเรียนรู้ในโรงเรียนให้คำแนะนำด้านการบริหารจัดการสนับสนุนทรัพยากรต่าง ๆ ส่งเสริมความร่วมมือทั้งภายในและภายนอก
นอกจากนี้ นราธิวาสยังมีกระบวนการเสริมสร้างความสำเร็จ การสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ (Rapport Building) สร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าร่วมโครงการผ่านการพูดคุย การแลกเปลี่ยนมุมมอง และสร้างความเข้าใจร่วมกันโดยใช้โมเดล GROW (Goal, Reality, Options, Way Forward) ช่วยกำหนดเป้าหมาย วิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน พิจารณาทางเลือก และวางแผนการดำเนินการ การสะท้อนผลการเรียนรู้ (Reflection) กระตุ้นให้ผู้เรียนสะท้อนกระบวนการเรียนรู้ที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาตนเอง การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ (Community of Learning) แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ร่วมกัน เพื่อพัฒนาส่วนบุคคลและระบบโดยรวม
นอกจากพัฒนากลไกระบบโค้ชโดยให้ระบบประกันคุณภาพการศึกษาแล้ว ยังได้มีการพัฒนาระบบประกันคุณภาพในสถานศึกษานำร่อง เพื่อยกระดับมาตรฐานและความสอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น พร้อมทั้งสร้างแพลตฟอร์ม “Narathiwat Learning Eco-System Management Platform” เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้
การพัฒนาหลักสูตร
โรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนราธิวาสได้พัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ โดยมี 4 รูปแบบนวัตกรรมเด่น ดังนี้
1. นวัตกรรมหลักสูตรส่งเสริมด้านวิชาการ เน้นสมรรถนะด้านวิชาการ การคิดวิเคราะห์ และเชื่อมโยงชีวิตด้านในเพื่อพัฒนาทั้งความรู้และจิตใจ
2. นวัตกรรมหลักสูตรส่งเสริมทักษะอาชีพ บูรณาการทักษะอาชีพกับอิสลามศึกษาและชุมชน เพื่อสร้างผู้เรียนที่มีจริยธรรมและคุณธรรมต่อการประกอบอาชีพ
3. นวัตกรรมหลักสูตรส่งเสริมศาสนา ใช้ศาสนาเป็นตัวเดินเรื่องในการพัฒนาคุณธรรมและการดำเนินชีวิตตามวิถีชุมชน
4. นวัตกรรมหลักสูตรส่งเสริมภูมินิเวศและวัฒนธรรม สร้างความรักและภูมิใจในถิ่นฐานโดยใช้ทุนทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมในชุมชนเป็นฐาน
โรงเรียนนำร่องในจังหวัดนราธิวาส โดยเฉพาะโรงเรียนในสังกัด สช.นราธิวาส และ อปท.นราธิวาส มีพัฒนาการที่ดีขึ้นชัดเจนในด้านการจัดการศึกษาและการบริหารจัดการแบบมีระบบ โดยมีปัจจัยสำคัญคือ การปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริหารและครู และ ความต่อเนื่องในบทบาทของผู้บริหาร ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในโรงเรียนที่สอดคล้องกับเป้าหมายของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
โรงเรียนที่นำหลักสูตรที่ปรับใหม่มาใช้ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการสอนให้เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เช่น การเรียนแบบโครงงาน (Project-Based Learning) การเรียนรู้เชิงประสบการณ์ และการเชื่อมโยงทฤษฎีกับการปฏิบัติ ซึ่งช่วยเพิ่มความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของนักเรียนในกระบวนการเรียนรู้
นอกจากนั้น การบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยืดหยุ่น ช่วยให้โรงเรียนสามารถจัดซื้ออุปกรณ์ที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะของหลักสูตรใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม ยังพบปัญหาบางประการเกี่ยวกับความชัดเจนในการวางแผนและการสนับสนุนจากต้นสังกัด
การใช้ความอิสระและการกระจายอำนาจส่งผลดีต่อทุกฝ่าย ทั้งครู นักเรียน และโรงเรียนเอง ครูมีโอกาสออกแบบการเรียนการสอนที่สร้างสรรค์และเหมาะสมกับนักเรียนแต่ละกลุ่ม ซึ่งช่วยพัฒนาทักษะและการประยุกต์ใช้เทคนิคการสอนใหม่ ๆ สำหรับนักเรียน การเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติจริง เช่น การทำโครงงานที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน ช่วยเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นในบริบทของพื้นที่ เช่น ทักษะอาชีพ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการใช้เทคโนโลยี ในส่วนของโรงเรียน การนำหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนใหม่มาประยุกต์ใช้ทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมการศึกษา ซึ่งยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน และสร้างความแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไป
ตัวอย่างเช่น โรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนราธิวาส อาทิ โรงเรียนศิริธรรมวิทยา สังกัด สช. โรงเรียนเทศบาล 3 (บ้านยะกัง) สังกัด อปท. โรงเรียนแหลมทองวิทยา สังกัด สช. โรงเรียนบ้านดุซงยอ สังกัด สพป.นราธิวาส เขต 3 และโรงเรียนบ้านกลูบี สพป.นราธิวาส เขต 1 ที่ได้นำพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 มาขับเคลื่อนการจัดการศึกษาในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิผลบทความนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จและการเติบโตของการศึกษาในโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรม ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนในแต่ละพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
จังหวัดนราธิวาสเป็นพื้นที่ที่มีบริบทเฉพาะทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม และศาสนา โดยส่วนใหญ่ประชากรเป็นชาวมุสลิม การพัฒนาการศึกษาจึงต้องผสานความเป็นท้องถิ่น เช่น การบูรณาการวิทยาศาสตร์และศาสนาอิสลาม เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความเชื่อของนักเรียนในพื้นที่ โรงเรียนนำร่องในจังหวัดนราธิวาส นวัตกรรมการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โรงเรียนนำร่องในจังหวัดนราธิวาสได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ด้วยการนำหลักสูตรนวัตกรรมมาใช้ โดยมุ่งเน้นการบูรณาการหลักสูตรวิทยาศาสตร์และศาสนาอิสลาม เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่นและความต้องการของนักเรียน
1. บูรณาการหลักสูตรวิทยาศาสตร์และศาสนา
โรงเรียนศิริธรรมวิทยา และโรงเรียนเจริญวิทยานุสรณ์ สังกัด สช. ได้ทดลองบูรณาการหลักสูตรวิทยาศาสตร์และศาสนาอิสลาม ผ่านโครงงานวิทยาศาสตร์ที่เน้นการเชื่อมโยงกับหลักคำสอน เช่น การทำเกษตรปลอดสารพิษในชุมชน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามหลักศาสนา เช่น การจัดการขยะและทรัพยากรน้ำ
- ด้านความรู้: นักเรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ากับวิถีชีวิตและหลักศาสนาได้อย่างลงตัว
- ด้านสมรรถนะ: พัฒนาทักษะการแก้ปัญหาและการทำงานเป็นทีมผ่านการทำโครงงาน
- ด้านความสุข: นักเรียนมีความสุขในการเรียนรู้เนื่องจากได้ลงมือปฏิบัติจริงในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน
2. การเรียนรู้เชิงประสบการณ์
โรงเรียนบ้านกลูบี สพป.นราธิวาส เขต 1, โรงเรียนบ้านหัวคลอง และโรงเรียนบ้านน้ำใส สพป.นราธิวาส เขต 2 ได้เน้นการเรียนรู้ผ่านโครงงาน (Project-Based Learning) ที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นและหลักศาสนาอิสลามมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน เช่น การดูแลระบบนิเวศและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
- ด้านความรู้: นักเรียนเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับระบบนิเวศและผลกระทบของการทำลายสิ่งแวดล้อม
- ด้านสมรรถนะ: พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การสังเกต และการสื่อสารผ่านการนำเสนอผลงาน
- ด้านความสุข: นักเรียนแสดงความสนใจเพิ่มขึ้น เนื่องจากกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์จริง
3. หลักสูตรฐานสมรรถนะ
โรงเรียนแหลมทองวิทยา สังกัด สช., โรงเรียนบ้านกลูบี และบ้านบาตูมิตรภาพที่ 66 สพป.นราธิวาส เขต 1 ได้ปรับใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งเน้นการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และการทำงานร่วมกัน โดยมีตัวอย่างกิจกรรม เช่น “การจัดการน้ำในพื้นที่ชุมชน” ที่ให้นักเรียนเรียนรู้วิทยาศาสตร์และแนวทางการแก้ปัญหาในบริบทตามหลักศาสนา
- ด้านความรู้: นักเรียนสามารถนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ไปใช้แก้ปัญหาในชุมชนได้จริง
- ด้านสมรรถนะ: พัฒนาทักษะการคิดอย่างเป็นระบบและการทำงานร่วมกัน
- ด้านความสุข: นักเรียนรู้สึกภูมิใจและมีความมั่นใจในผลงานที่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง
การพัฒนาการศึกษาในจังหวัดนราธิวาสไม่ได้เป็นเพียงการเพิ่มสมรรถนะของนักเรียน แต่ยังช่วยเสริมสร้างความตระหนักรู้ในบทบาทของตนเองในฐานะผู้ดูแลโลกตามหลักศาสนา และเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียน ชุมชน และศาสนา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาการศึกษา
ผู้ให้ข้อมูล: นางปัทมาวดี ขันธ์ชัย ศึกษานิเทศก์ชำนาญการ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส
ผู้เขียน&กราฟิกดีไซน์เนอร์: น.ส.อทิตยา บุญกวย