1 ปี สพฐ. ก่อรูป-ริเริ่ม ขับเคลื่อนนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

24 มิถุนายน 2019

สพฐ. ได้สรุปผลการดำเนินงานโครงการสำคัญตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการและนโยบายรัฐบาล “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา: สนามปฏิบัติการเพื่อสร้างนวัตกรรมการศึกษาของประเทศ” ต่อผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 โครงการนี้สอดคล้องกับพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของในหลวง รัชกาลที่ 10 ด้านที่ 1 มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง ด้านที่ 2 มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง ด้านที่ 3 มีงานทำ มีอาชีพ ด้านที่ 4 เป็นพลเมืองดี และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ข้อ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ สาระสำคัญของรายงานดังกล่าว ประกอบด้วย ความเป็นมา วัตถุประสงค์ เป้าหมาย กิจกรรมการดำเนินการ และรายงานผลการดำเนินงาน ของ สพฐ./ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และแนวทางการดำเนินงานต่อไป

สำหรับผลการดำเนินงานส่วนภูมิภาคโดยสรุปของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้ง 6 พื้นที่ ดังนี้

1. จังหวัดศรีสะเกษ ได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมาย คนศรีสะเกษรู้คิดจิตใจดี มีทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ มีสุขภาพดี ทั้งกาย มีแนวทางดำเนินงานโดยการขยายผลจากต้นทุนนวัตกรรมเด่นในพื้นที่ จำนวน 8 นวัตกรรม ได้แก่ โรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ มอนเตสซอรี โครงการ/โครงงาน การศึกษา ขั้นเรียนและวิธีการแบบเปิด เพาะพันธุ์ปัญญา การจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน การจัดการเรียนรู้ ด้วยกระบวนการวิจัยเป็นฐาน และสะเต็มศึกษา มีโรงเรียนนำร่อง จำนวน 50 โรงเรียน

2. จังหวัดสตูล ใช้จุดเด่นของทุนในพื้นที่มาสู่การเรียนรู้ เช่น แหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ อุทยานธรณีโลกสตูล (Satun UNESCO Global Geopark) นำไปสู่การจัดทำหลักสูตรภูมิสังคม หลักสูตรโครงงานฐานวิจัย หลักสูตรครูสามเส้า (ครูพ่อแม่ ครูชุมชน และครูโรงเรียน) เพื่อจัดการศึกษา ให้ตอบโจทย์อนาคตเด็ก เป็นการจัดการศึกษาเพื่อสร้างคน เน้นหลักสูตรบูรณาการ ทั้งด้านภาษา STEM การอาชีพ สุขภาวะ ส่วนหลักสูตร Digital Platform เป็นการจับมือกันหลายมหาวิทยาลัย พัฒนา 5 สาระวิชา อาทิ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ (echo English) การจัดการเรียนรู้จะใช้โครงงาน ฐานวิจัยในทุกช่วงชั้น ซึ่งจะเป็นแบบ active learning ใช้กิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ และครู ใช้กระบวนการ PLC (professional learning community) มีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าไปช่วยหนุนเสริมการดำเนินงาน มีโรงเรียนนำร่อง จำนวน 10 โรงเรียน

3. จังหวัดระยอง มี 6 ยุทธศาสตร์ ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนา คือ 1) สร้างกลไกขับเคลื่อนแผนการศึกษาจังหวัดระยองสู่การปฏิบัติ 2) จัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการศึกษาจังหวัดระยอง 3) สร้างแพลตฟอร์มทางการศึกษา 4) ปรับกระบวนทัศน์ทางการศึกษาของคนจังหวัดระยอง ทั้งครู ผู้บริหารสถานศึกษา นักเรียน ผู้ปกครอง และภาคสังคม 5) สร้างโรงเรียน/ห้องเรียน/บุคคลต้นแบบการจัดการศึกษา จังหวัดระยอง 6) พัฒนาหลักสูตรระยอง สร้างแหล่งเรียนรู้ และศูนย์สร้างสรรค์ปัญญา สร้างโรงเรียนต้นแบบ ห้องเรียนต้นแบบ สร้างหลักสูตรที่เหมาะสมเพื่อการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน ได้แก่ Rayong Teaching and Learning Academy เพื่อสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เกิดขึ้น และความยั่งยืนในพื้นที่ โดยเริ่มต้นจากการดำเนินการในโรงเรียน มีกิจกรรม Classroom Reflection Change เพื่อปรับเปลี่ยน ห้องเรียน กิจกรรม ผอ.กล้าเปลี่ยน มีความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายหลายส่วน อาทิ ปัญญาภิวัฒน์ TDRI มูลนิธิสยามกัมมาจล มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง สมาคมเพื่อนชุมชนพัฒนาตำบลเป็นฐาน การเรียนรู้ร่วมกับชุมชน มีโรงเรียนนำร่อง จำนวน 25 โรงเรียน

4. จังหวัดเชียงใหม่ มีเครือข่ายที่ร่วมดำเนินการ อาทิ ภาคีเชียงใหม่ เพื่อการปฏิรูปการศึกษา ชมรมนักจัดการศึกษาโรงเรียนพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร เครือข่ายโรงเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายอุดมศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ กองทุนปฏิรูปการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ ชมรมโรงเรียนที่จัดการเรียน แบบทวิภาษา โรงเรียนส่งเสริมอาชีพ และมีคณะทำงานหลัก (core team) ที่มีผู้แทนจากคณะทำงานย่อย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ สังกัดสำนักงาน คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีโรงเรียนนำร่อง จำนวน 32 โรงเรียน

5. จังหวัดกาญจนบุรี มีต้นทุนที่เคยทำงานเรื่องหลักสูตรการบูรณาการ สภาการศึกษา จังหวัดร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ซึ่งมีแนวคิดคล้ายกัน กาญจนบุรีมีโมเดลการดำเนินงาน คือ KAN MODEL ซึ่ง K-Knowledge (ความรู้ เน้นความรู้ของโรงเรียน และชุมชนเป็นฐาน) A-Achievement (ความสำเร็จร่วมกัน ครู โรงเรียน ชุมชนไม่เหลื่อมล้ำกันมากนัก) และ N-Network (เครือข่าย) มี “บวรทอม” (บ้าน วัด โรงเรียน ท่องถิ่น เอกชน มหาวิทยาลัย) ซึ่ง จะเป็นการร่วมกันทำงานอย่างเข้มแข็งไปด้วยกัน แบบกัลยาณมิตร เรื่องโอกาสทางการศึกษา มีโรงเรียน 1 โรงเรียน 3 ระบบ แก้ปัญหาเด็กออกกลางคัน มีหน่วยงานที่จัดการศึกษาตามมาตรา 12 มีเอกชน ชุมชนตั้งศูนย์การเรียนรู้จัดการศึกษาสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมชุมชน มีหลักสูตรที่เป็นเอกลักษณ์ มีโรงเรียนนำร่อง จำนวน 41 โรงเรียน

6. จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมกันทุกหน่วยงาน อาทิ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด สถาบันอุดมศึกษา อาชีวศึกษา มีการ ค้นหานวัตกรรมการศึกษา ในพื้นที่ อาทิ การจัดการเรียนรู้แบบ Active learning บูรณาการศาสตร์ พระราชา Problem-based Learning (PBL) Activity-based Learning (ABL) การสอนบูรณาการ (ครู 1 คน สอนประจำชั้น/ ครู 1 คนสอน 3 วิชา) ทวิภาษา ทั้งอนุบาลถึงประถมศึกษา Open Approach การบูรณาการอิสลามศึกษาและสามัญศึกษา มีโรงเรียนนำร่อง จำนวน 79 โรงเรียน

ดาวน์โหลดเล่มพื้นที่นวัตกรรมได้ที่นี่ https://bit.ly/2RvdrZ1

Facebook Comments
สพฐ. TEP สพท. สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และเครือข่ายในพื้นที่ศรีสะเกษ ระยอง สตูล ร่วมหารือนอกรอบแนวทางขับเคลื่อนและวิจัยพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาระยะต่อไป41 โรงเรียนนำร่อง จ.กาญจนบุรี ร่วมประชุมทำความเข้าใจ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 พร้อมรวมพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อคุณภาพเด็กเมืองกาญจน์
บทความล่าสุด