เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เชิญ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI และนางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล มาสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาและสาระสำคัญของ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และการสนับสนุนของ สพฐ. ในการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่ง TDRI และมูลนิธิสยามกัมมาจล เป็น 2 ใน 26 องค์กร ในภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership: TEP) ที่ร่วมผลักดัน พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ร่วมกับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา จน พ.ร.บ.ดังกล่าว ประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562
ประเด็นที่ผู้แทน TEP ขอความร่วมมือ สพฐ. เช่น
1) ประสานงานกับสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการให้การสนับสนุนส่งเสริมสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมในฐานะเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อน
2) ใช้โอกาสในการดำเนินการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็น “ห้องปฏิบัติการที่มีชีวิต” หรือ Lab ในการเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับนวัตกรรมการปฏิรูปการศึกษา
3) จัดทำ “มาตรฐานข้อมูลและมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูล” สำหรับการเอื้อและส่งเสริมให้สถานศึกษาและหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่ สะดวกในการคิดสร้างสรรค์พัฒนานวัตกรรม
4) สร้างกลไกการลดภาระงาน โดยมีหนังสือราชการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการหารือเพื่อบูรณาการงานโครงการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน
5) จัดทำหนังสือราชการยืนยันให้โรงเรียนสามารถใช้งบประมาณที่ได้รับจัดสรรจัดซื้อสื่อหนังสือเรียนได้อย่างอิสระตามหลักสูตรแกนกลางฯ ที่มีการปรับใช้ ตามข้อกำหนดในมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562
6) รับรองหลักสูตรฝึกอบรมที่เครือข่ายในพื้นที่จัดขึ้น ให้สามารถนับชั่วโมงการพัฒนาครู ตามหลักเกณฑ์ความก้าวหน้าในวิชาชีพครู
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สพฐ. ตระหนักเห็นความสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เพราะ พ.ร.บ. ต้องการยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย โรงเรียนส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนสังกัด สพฐ. พ.ร.บ.นี้จึงกำหนดให้เลขาธิการ กพฐ. เป็นเลขานุการคณะกรรมการนโยบาย ในภารกิจที่ สพฐ. ดำเนินการ เช่น ได้จัดตั้งสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นโครงสร้างภายใน ส่วนการดำเนินการในพื้นที่ ที่ต้องร่วมด้วยช่วยกันดำเนินการหลายเรื่อง ทั้งเรื่อง งบประมาณ การพัฒนานวัตกรรม เรื่องวิชาการ/หลักสูตร ซึ่งจะต้องจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการออกมาอย่างชัดเจน แผนและขั้นตอนการดำเนินงานแต่ละภาคจะแตกต่างกัน และจะต้องหาทางช่วยปลดล็อก เช่น การจัดทำแนวทางการจัดซื้อสื่อหนังสือเรียน แนวทางพัฒนาครูอาจารย์ การคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่ง สพฐ. จะต้องเตรียมการอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถทำได้จริง
Written by พิทักษ์ โสตถยาคม
Photo Credit by กำธร สาธา และประสิทธิโชค ไพบูลย์สิทธิ์
Artwork by เก ประเสริฐสังข์ ศศิธร สวัสดี และภัชธีญาปัญญารัมย์