เมื่อวันอังคารที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการเวลา ๑๕.๓๐ น. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รองประธานกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นประธานการประชุมครั้งนี้ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า การดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นหนึ่งในหลายๆ รูปแบบการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการที่มุ่งพัฒนาการจัดการศึกษาในปัจจุบันและอนาคตให้มีความคล่องตัวและยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถสร้างตัวอย่างในการจัดการศึกษาและต่อยอดได้ ทั้งนี้ ในการดำเนินงานควรคำนึงถึงความรอบคอบและความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ
เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นกรรมการและเลขานุการ ได้มอบหมายให้ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งเป็นผู้ช่วยเลขานุการ รายงานผลการดำเนินงานขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต่อที่ประชุมให้ทราบ จำนวน ๔ ประเด็น ได้แก่ ๑) การออกกฎหมาย/ประกาศ/คำสั่ง ๒) การส่งเสริมสนับสนุนพื้นที่ ๓) การสร้างการรับรู้และความเข้าใจ ๔) การติดตามการดำเนินงาน
ทั้งนี้ผู้ช่วยเลขานุการ ได้แจ้งต่อที่ประชุมเกี่ยวพระราชบัญญัติฯ ที่จะมีระยะเวลา ๗ ปี โดยให้การขยายเวลาบังคับใช้พระราชบัญญัตินี้ ให้การกระทำโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และให้กระทำได้เพียงครั้งหนึ่งไม่เกิดเจ็ดปี ซึ่งสถานศึกษานำร่องและหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการ อาทิ ๑) เลือกใช้นวัตกรรมได้อิสระ ๒) ปรับใช้หลักสูตรแกนกลางได้ ไม่ติดตัวชี้วัด ๓) มีอิสระเลือกซื้อสื่อ หนังสือ ตำรา ตามกรอบหลักสูตรของพื้นที่ ๔) ออกแบบการทดสอบเฉพาะพื้นที่ได้ อาจไม่ใช้ O-NET/NT ๕) ลด ละ เลิก งานโครงการที่เพิ่มภาระงานครูและส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ๖) โรงเรียนได้งบพัฒนาแบบวงเงินรวม (block grant) ๗) สร้างหลักเกณฑ์ประกันคุณภาพแนวใหม่ได้ อาจไม่ใช้การประเมิน สมศ. ๘) มีช่องทางผลักดันการบริหารงานบุคคลให้เหมาะสมกับพื้นที่ได้ และ ๙) มีโครงสร้างการทำงานที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมเชิงพื้นที่
พร้อมกันนี้ผู้ช่วยเลขานุการได้นำเสนอภาพการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาซึ่งมีคณะกรรมการสองชุดหลักที่จะร่วมดำเนินการขับเคลื่อนงานไปพร้อมๆ กับภาคีเครือข่ายและสถานศึกษานำร่องทำงานผสานแนวทางจากบนลงล่างและจากล่างขึ้นบนจนเกิดเป็นรูปแบบการทำงานแนวระนาบที่จะผสานกลมกลื่นเสริมหนุนซึ่งกันและกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์แห่งการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๒
ทั้งนี้สถานศึกษาใน ๓ สังกัด สามารถเข้าเป็นสถานศึกษานำร่องได้ ทั้งสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของเอกชน นอกจากนั้นยังได้มีการนำเสนอสิ่งที่สถานศึกษานำร่องจะได้ประโยชน์ในการบริหารจัดการด้านงบประมาณ อาทิ มาตรา ๒๙ การรับและการใช้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคเพื่อการศึกษาให้แก่สถานศึกษานำร่องที่เป็นสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในสังกัด สพฐ. หรือ อปท. ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน การรับและการใช้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวจะต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาสถานศึกษาหรือเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค และต้องไม่มีเงื่อนไขเลือกปฏิบัติต่อผู้เรียนในการเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งเป็นการระบุให้สถานศึกษาได้ดูแลผู้เรียนอย่างแท้จริง โดยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เป็นต้น จากนั้นประธานในที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมประชุมได้ซักถามเพื่อสร้างความกระจ่างร่วมกันเนื่องจากเป็นการประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ ครั้งแรกจึงจำเป็นที่ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนต้องรับทราบบทบาทหน้าทีของตนเองที่เป็นไปตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๒ จากนั้นจึงได้เริ่มประชุมตามระเบียบวาระต่อไป
สรุปผลการประชุม
เมื่อฝ่ายเลขาได้รายงานผลการดำเนินงานขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต่อที่ประชุมทราบแล้ว ประธานในที่ประชุมได้ดำเนินการตามระเบียบวาระและเปิดโอกาสให้ที่ประชุมได้ร่วมกันอภิปรายแสดงความคิดเห็น ซึ่งผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ ๑/๒๕๖๒ ที่จะเป็นแนวทางการดำเนินงานและขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สามารถสรุปได้เป็น ๘ ประเด็นดังนี้
๑) ศึกษาข้อมูลเส้นฐาน (baseline) ด้านต่างๆ ของสถานศึกษานำร่อง ซึ่งเป็นการวิเคราะห์งบประมาณที่รัฐจะจัดสรรให้สถานศึกษานำร่อง ในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ เพื่อศึกษาลักษณะการกระจายของงบประมาณในหมวดการใช้จ่ายด้านต่างๆ เช่น ค่าอาหารกลางวัน เงินอุดหนุนรายหัว ค่าครุภัณฑ์/สิ่งก่อสร้าง เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนพัฒนาของโรงเรียน และการเตรียมการศึกษาผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของสถานศึกษานำร่อง
๒) การพิจารณารายละเอียดด้านต่างๆ เช่น ทรัพยากรที่กระทรวงศึกษาธิการเตรียมไว้สำหรับขับเคลื่อนพัฒนาสถานศึกษานำร่องว่า สามารถสนับสนุนสถานศึกษานำร่องทั้ง ๒๖๖ โรงเรียน ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้เพียงใด อาจจะแบ่งการดำเนินการออกเป็นระยะๆ เช่น ระยะแรกอาจเลือกสถานศึกษาเพียง ๕ โรงเรียน/พื้นที่ โดยพิจารณาคัดเลือกจากคุณภาพของแผนพัฒนาของสถานศึกษาแต่ละแห่ง ซึ่งจะนำไปสู่การหารือกับผู้ขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแต่ละพื้นที่ว่าสามารถรับผิดชอบและดำเนินการพัฒนาสถานศึกษานำร่องได้อย่างเข้มข้นและสามารถควบคุมคุณภาพได้ในจำนวนจำกัดของสถานศึกษานำร่องเท่าใด เพื่อกำหนดเป็นกลุ่มเป้าหมายการพัฒนาในระยะแรก
๓) การจัดทำข้อมูลของสถานศึกษานำร่อง อาจศึกษาการจัดทำข้อมูลของโครงการอื่น อาทิ CONNEXT ED ในโครงการสานพลังประชารัฐ หรือประสานกับผู้รับผิดชอบโครงการอื่นที่มีความเชียวชาญในการจัดทำข้อมูล เพื่อนำระบบที่มีอยู่มาวิเคราะห์ปรับประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบข้อมูลมาตรฐานข้อมูลต่างๆ ที่ใช้ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
๔) เรื่องงบประมาณที่อยู่ในแผนปีงบประมาณ ๒๕๖๓ ที่ประชุมมอบหมายสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ดำเนินการวิเคราะห์รายการงบประมาณปีงบประมาณ ๒๕๖๓ ที่สถานศึกษานำร่องได้รับมานำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป ส่วนเรื่องการจัดสรรงบประมาณแบบ block grant จะเตรียมการเพื่อให้สามารถดำเนินการจัดสรรได้ในปีงบประมาณ ๒๕๖๔
๕) ที่ประชุมเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยจะได้หารือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา และเมื่อคณะกรรมการสรรหาเสนอรายชื่อผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน ไม่เกิน ๑๖ คน แล้วเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาคัดเลือกให้เหลือไม่เกิน ๘ คน เพื่อเสนอรายชื่อให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งต่อไป ทั้งนี้ให้ฝ่ายเลขาฯ หารือคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในด้านกฎหมายเพื่อพิจารณากลั่นกรองและจัดทำประกาศคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์การสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
๖) ประเด็นการเพิ่มหรือขยายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่ประชุมได้อภิปรายและได้ข้อสรุปร่วมกันว่าที่อยากให้มุ่งเน้นดำเนินการในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่ได้ประกาศจัดตั้งแล้วอย่างเข้มข้น ในกลุ่มเป้าหมายจำนวนน้อย และให้เห็นผลที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมก่อนขยายไปยังจังหวัดอื่น
๗) เรื่องค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และอนุกรรมการที่คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแต่งตั้ง ที่ประชุมเห็นชอบตามที่ฝ่ายเลขาฯ เสนอให้พิจารณาซึ่งเป็นการกำหนดค่าตอบแทนโดยพิจารณาและอ้างอิงหลักเกณฑ์จากพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. ๒๕๔๗ พระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐ และพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๕ ในส่วยของสิทธิประโยชน์ฯ กำหนดตามพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. ๒๕๒๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. ๒๕๕๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
๘) ที่ประชุมเห็นชอบองค์ประกอบคณะอนุกรรมการ ในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาการศึกษา จำนวน ๕ คณะ ได้แก่ ๑) คณะอนุกรรมการนโยบาย ยุทธศาสตร์ ติดตามและประเมินผล ๒) คณะอนุกรรมการกฎหมาย ๓) คณะอนุกรรมการส่งเสริมการบริหารวิชาการ ๔) คณะอนุกรรมการส่งเสริมการบริหารบุคคล ๕) คณะอนุกรรมการส่งเสริมการบริหารงบประมาณและการมีส่วนร่วม และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะเสนอรายชื่อคณะอนุกรรมการให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอนุมัติต่อไป
Written by เก ประเสริฐสังข์
Photo by ภัชธีญา ปัญญารัมย์
Artwork by เก ประเสริฐสังข์