ด้วยสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดระยองร่วมกับคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง และสถาบันอาศรมศิลป์ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความรู้ ความเข้าใจและร่วมแสดงความคิดเห็นในการจัดทำแผนขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมโกลเด้น ซิตี้ ระยอง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 40 ท่าน ประกอบด้วย ศึกษาธิการจังหวัดระยอง คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง นักวิชาการจากสถาบันอาศรมศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 1 ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2 ผู้บริหารสถานศึกษานำร่อง และศึกษานิเทศก์ ได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ประเด็นที่ 1 แนวทางการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง
– การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาตามบริบทเชิงพื้นที่ ขณะนี้มีสถานศึกษาที่ผ่านการพิจารณาอนุมัติในหลักการแล้ว จำนวน 5 โรงเรียน สำหรับอีก 20 โรงเรียน กำลังดำเนินการ ทั้งนี้บางโรงเรียนมีความต้องการพี่เลี้ยง นักวิชาการเข้ามาช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุนการจัดทำหลักสูตร
– ควรพัฒนาการจัดการเรียนสอนที่เน้นโค้ดดิ้ง (Coding) ภาษาเพื่อการสื่อสาร
– ควรจัดให้มีการนิเทศ ติดตาม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน
– แผนขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองควรปรับยุทธศาสตร์ที่ 1 ให้ค้นหา ปรับเปลี่ยนสถานศึกษานำร่องให้เป็นต้นแบบ โดยขอให้เพิ่มคำว่า “พัฒนา”
– ขอให้มีการสร้างเครือข่ายเส้นทางการส่งต่อเด็กจากประถมถึงมัธยม เช่น นักเรียนประถม เมื่อเรียนจบการศึกษาแล้ว ควรมีโรงเรียนมัธยมรองรับในแต่ละอำเภอ
– โรงเรียนบางส่วนมีความต้องการพัฒนาด้วยตนเอง มีนวัตกรรมการจัดการศึกษาของตนเอง มีความเป็นอิสระอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน แต่มีโค้ชที่คอยช่วยเหลือ พัฒนาโรงเรียนตามบริบทเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษายังว่างอยู่
– นโยบายในการพัฒนาสถานศึกษานำร่องควรมี 1 ประเด็นหลัก คือ 1) สถานศึกษาสร้างคนดี คิดดี ทำดี พูดดี 2) ภาษา อ่านออกเขียนได้ ต้องมีการทดสอบจริงๆ ต้องมีมาตรฐาน 3) คิดเป็น แก้ปัญหาเป็น 4) สุขภาพกายและจิต 5) ภาษาอังกฤษ เพราะว่าโลกกว้าง เด็กยุคนี้เรียนรู้ได้กว้าง
– ควรมีการจัดการเรียนการสอนวิชา future management ต้องทำนายอนาคตได้ เรียนรู้ทั้งปัจจุบันและอนาคต เพื่อการเตรียมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
– แนวทางการพัฒนาควรให้ความสำคัญกับการทดสอบ O-NET ด้วย เนื่องจากโรงเรียนและนักเรียนยังต้องใช้ผลโอเน็ตไปใช้ในการประเมินหลายๆ ด้าน
– ควรสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริหารและครูให้มากขึ้น และขยายไปสู่ชุมชน ผู้ปกครอง
– การจัดทำแผนขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมควรสร้างเกณฑ์ ตัวชี้วัดความสำเร็จ สร้างแผนแม่บทร่วมกัน และขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน
ประเด็นที่ 2 การประเมินพัฒนาการของสถานศึกษานำร่อง
แนวทางที่ 1 ควรประเมินโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3 ส่วน ได้แก่ โรงเรียน TDRI และเขตพื้นที่ และมีเนื้อหาการประเมินคุณภาพด้านสถานศึกษาและด้านนักเรียน
แนวทางที่ 2 ควรนำ 7 Changes มาร่วมประเมิน โดยสถานศึกษาสามารถเลือกรับการประเมินตามความสมัครใจ ความพร้อม และจุดเน้นของสถานศึกษาเอง โดยปรับวิธีการประเมินให้เป็นการติดตาม เพื่อการพัฒนามากกว่าการประเมินเพื่อตีค่าคะแนน
ประเด็นที่ 3 การปลดล็อคการบริการจัดการสถานศึกษานำร่อง
– การจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนควรให้อิสระแก่โรงเรียนในการเสนอของบประมาณและการใช้งบประมาณ
– ควรมีอิสระในการบริหารบุคลากร บรรจุ แต่งตั้ง การเลื่อนขั้นเงินเดือน
Written by สุทธิมาศ อภิรักษ์จณิชย์
Artwork by เก ประเสริฐสังข์ ศศิธร สวัสดี และภัชธีญา ปัญญารัมย์