วันที่ 9 ตุลาคม 2562 นายมนูญ บุญชูวงศ์ ศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานเปิดกิจกรรม “เปิดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานราธิวาส สู่การพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน” ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส ณ โรงเรียนบ้านมะนังกายี อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส โดยมีนายพิทักษ์ โสตถยาคม รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สพฐ. ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน คณะครู นักเรียน และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมจำนวนมาก
ภายในงานได้มีการจัดนิทรรศการแสดงนวัตกรรมการศึกษาของสถานศึกษาในพื้นที่ และมีการบรรยายในหัวข้อ “การจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” “การพัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่” และ “การเรียนด้วยนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นของนักเรียน” โดยวิทยากรจากคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ได้มีการสรุปผลงานนวัตกรรมการศึกษาที่นำเสนอเพื่อให้ครูได้นำข้อเสนอแนะกลับไปปรับและพัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้น
นายมนูญ บุญชูวงศ์ กล่าวว่า “ กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพในการจัดการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ส่งเสริมทุกภาคส่วนร่วมกันจัดการศึกษา จึงจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาขึ้น เพื่อให้สถานศึกษามีอิสระในการจัดการหลักสูตร การจัดการเรียนรู้ ครูใช้เวลาในการพัฒนานักเรียนอย่างเต็มที่ มีการคิดค้น พัฒนานวัตกรรมการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบท และสามารถขยายวิธีปฏิบัติที่ดีมีประสิทธิภาพของสถานศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาไปยังสถานศึกษาในพื้นที่อื่นได้ ซึ่งถือเป็นมิติใหม่สำหรับการจัดการศึกษาของจังหวัดนราธิวาส ”
ด้านนางสาวนวลพรรณ วรรณสุธี รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา “นำร่อง” ในจังหวัด ระยอง ศรีสะเกษ และสตูล และได้เพิ่มเติมอีก 3 พื้นที่ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) เชียงใหม่ และกาญจนบุรี ซึ่งการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของจังหวัดนราธิวาส มีสถานศึกษาเข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่อง และโรงเรียนในโครงการ Teams for Education (TFE) ของจังหวัดนราธิวาส รวมจำนวน 28 โรงเรียน สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาสได้ส่งเสริมให้โรงเรียนนำร่อง ได้พัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ โดยใช้ทุนทางสังคม ทุนทางทรัพยากร ทุนทางเศรษฐกิจและอาชีพ และมรดกทางวัฒนธรรมเข้ามาพัฒนาการจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนอย่างเหมาะสม และในวันนี้ได้นำสถานศึกษาที่มีผลการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ มีความก้าวหน้าและโดดเด่นจำนวน 9 แห่งมานำเสนอ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบของตลาดนัดวิชาการ และเสวนาทางวิชาการ ให้ผู้ร่วมงานสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการจัดการศึกษา สามารถหาแนวทางที่เหมาะสมไปพัฒนา ปรับปรุงการเรียนการสอนของตนเองให้มีประสิทธิภาพต่อไป
Written and Photo by ศึกษาธิการส่วนหน้า
ที่มา facebook.com/ศึกษาธิการส่วนหน้า
Artwork by เก ประเสริฐสังข์ ศศิธร สวัสดี และภัชธีญา ปัญญารัมย์