หลังจากเข้าร่วมประชุมในการลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อติดตามนโยบายของรัฐบาลของ พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันพุธที่ 8 มกราคม 2563 ณ วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานี ได้มีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนแนวความคิดกับ ดร.สุทิน แก้วพนา ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ในหลากหลายประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562
ดร.สุทิน แก้วพนา ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึง จุดเน้นของงานวิชาการว่า หัวใจคือหลักสูตรสถานศึกษา ขณะนี้ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ได้เปิดโอกาสให้สถานศึกษาสามารถยืดหยุ่นหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ คำว่ายืดหยุ่นคือ ให้สามารถปั้นหลักสูตรสถานศึกษาให้เป็นรูปร่างหน้าตาอย่างไรก็ได้ในแบบที่อยากให้เป็น โดยจะต้องสอดคล้องกับทิศทางที่ต้องการให้ลูกหลานเป็น ดังนั้น เมื่อได้รับโอกาสต้องทำให้เห็นผล เมื่อสถานศึกษามีหลักสูตรสถานศึกษาเข้มแข็ง จะสามารถเดินไปสู่เป้าหมายของการเป็นสถานศึกษานำร่องของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแต่ละจังหวัดได้อย่างชัดเจน
“สถานศึกษาต้องการเน้นในเรื่องใด ๆ ที่เป็นความต้องการของชุมชน พื้นที่ สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ และพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะที่อยู่รอดได้ในอนาคต ก็สามารถใส่เข้าไปในหลักสูตรสถานศึกษาได้ หรือจะนำนวัตกรรมใด ๆ มาใช้ก็ได้”
ดร.สุทิน แก้วพนา กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าการบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษามีประสิทธิภาพ ทำให้ “เบ้าหลอม” มีประสิทธิภาพ ครูพัฒนาตนเองให้รองรับและสามารถหลักสูตรสถานศึกษาได้ ตัวเด็กก็จะมีคุณภาพตามที่มุ่งหวัง
ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่สถานศึกษานำร่องและคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จะใช้มาตราดังกล่าวให้เกิดประโยชน์มากที่สุดในการสร้างพิมพ์เขียวเพื่อพัฒนาผู้เรียนและนวัตกรรมการศึกษาดังที่ผู้ช่วยเลขาธิการปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้แนะไว้
หมายเหตุ: การปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ปรากฎอยู่ในมาตรา 20 (4) แห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา “นำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติไปปรับใช้กับการจัดการศึกษานำร่องให้เหมาะสมกับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” มาตรา 25 วรรคหนึ่ง “หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ได้รับการปรับเพื่อนำไปใช้ตามมาตรา 20 (4) ต้องครอบคลุมสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และมาตรฐานการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาชาติ โดยต้องจัดสาระการเรียนรู้รายวิชาให้หลากหลายและสอดคล้องกับความสามารถ ความถนัดหรือความสนใจของผู้เรียน และสภาพภูมิสังคม”
ผู้เขียน: พิทักษ์ โสตถยาคม
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์, ศศิธร สวัสดี, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ศธ.360 https://www.moe.go.th/websm/2019/3/IMG_4431.JPG