ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และคณะ ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้โรงเรียนพัฒนาตนเองและเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ และผู้เกี่ยวข้องในการร่วมยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ครั้งที่ 4 ภายใต้โครงการบริหารจัดการโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง จัดโดยสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระหว่างวันที่ 24 – 25 กุมภาพันธ์ 2563 ณ จังหวัดเชียงใหม่
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ได้สะท้อนความคิดต่อการดำเนินงานของโรงเรียนพัฒนาตนเองและโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หลังจากที่นายพิทักษ์ โสตถยาคม รอง ผอ.สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) สพฐ. ได้นำเสนอกรอบและแนวทางการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ต่อเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 ณ โรงแรมกรีนเลค รีสอร์ท จ.เชียงใหม่ ซึ่งการสะท้อนคิดดังกล่าวทำให้ได้ข้อคิด/ข้อเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยสรุปดังนี้
1. ต้องกล้าคิดต่าง ไม่ติดหลุมพรางทฤษฎี
ในการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้จะต้องหลุดพ้นจากการครอบงำจากการศึกษาแนว “เคารพทฤษฎี” ซึ่งเป็นกับดักหรือหลุมพราง จนทำให้ผู้เรียนและผู้เกี่ยวข้องไม่กล้าคิดต่าง แต่ในการจัดการเรียนรู้จะต้องช่วยให้เด็กกล้าก้าวข้ามและสร้างสรรค์
2. เน้นหลักปฏิบัติสรุปสู่หลักการ
การพัฒนาตนเองของโรงเรียน จะต้องให้ความสำคัญและให้เกิดการปฏิบัติจริง ต้องให้เด็กได้ฝึกคิดจากการปฏิบัติ แล้วสังเคราะห์จากการปฏิบัติ ได้แนวคิด/หลักการจากการปฏิบัติ แล้วสรุปเชื่อมโยงกับทฤษฎี
3. ใช้การประเมินเพื่อหนุนการเรียนรู้ (Formative Assessment)
ประเมินเด็กตลอดเวลา ช่วย feedback การปฏิบัติ ช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง บรรลุผลลัพธ์ที่ต้องการ และหนุนไปสู่การช่วยให้เด็กสามารถประเมินวิธีการเรียนรู้ของตนเองเป็น (โปรดศึกษาเพิ่มเติมจากหัวข้อบรรยาย “เพื่อบรรลุเป้าหมายการศึกษาไทย 4.0”)
4. ศึกษานิเทศก์ต้องเป็นโค้ช
การมีส่วนร่วมจัดการศึกษาจากหลายภาคส่วน มีหน่วยงานภายนอกเข้ามาร่วมเป็นพี่เลี้ยงโรงเรียนดังที่เป็นอยู่ สิ่งสำคัญคือในระบบการศึกษาของแต่ละพื้นที่ จะต้องมีศึกษานิเทศก์เข้าร่วมเป็นโค้ชในกระบวนการพัฒนาครูและโรงเรียนด้วย ศึกษานิเทศก์จะเป็นโค้ชภายในระบบ ที่จะใช้เหตุการณ์/สถานการณ์จริง ส่งเสริมให้ครูและเด็กได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ แล้วสรุปไปสู่ทฤษฎี โดยมีเด็กเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุด และต้องจัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ เกี่ยวกับการออกแบบการเรียนรู้ใหม่ ๆ ของทั้งครูและเด็ก ทั้งนี้ ใจต้องเปิดกว้าง และให้โรงเรียนมีอิสระในการเลือกปฏิบัติ
5. พัฒนานวัตกรรมในพื้นที่ ต้องมีตัวประสาน (Coordinator)
การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะต้องมีองค์ประกอบที่ไม่เป็นทางการร่วมช่วยด้วย นั่นคือ ต้องมีตัวประสาน หรือ Coordinator ในการประสานสิบทิศในพื้นที่ หากลยุทธ์ที่เหมาะสมในการทำงาน “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” และ Respect หรือเคารพกันและกัน ตัวอย่างตัวประสาน เช่น จ.ศรีสะเกษ คือ มูลนิธิสยามกัมมาจล, จ.ระยอง คือ สถาบันอาศรมศิลป์, จ.สตูล คือ โหนดสตูล และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้เขียน: พิทักษ์ โสตถยาคม
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ศศิธร สวัสดี, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP)