กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดกิจกรรมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ครั้งที่ 4 โรงเรียนพัฒนาตนเอง สู่พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเชียงใหม่” ภายใต้โครงการบริหารจัดการโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) ณ โรงแรมกรีนเลค รีสอร์ท เมื่อวันที่ 24-25 ก.พ. ที่ผ่านมา
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) กล่าวว่า เริ่มต้นเรามีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 290 โรงเรียน การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนและนักเรียนแต่ละพื้นที่จะมีการพัฒนาที่มีรายละเอียดแตกต่างกัน เพราะแต่ละพื้นที่นักเรียนก็มีชีวิตความเป็นอยู่ไม่เหมือนกัน วันนี้เป็นโอกาสดีที่ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ อุปสรรคในศตวรรษที่ 21 ที่เราต้องช่วยให้เด็กหลุดพ้นคือการช่วยให้หลุดพ้นจากทฤษฎีในอดีต ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งการจะทำให้หลุดพ้นจากกรอบทฤษฎีก็คือการมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งต้องได้รับการฝึก ให้เด็กคิดทฤษฎีจากการปฏิบัติเป็นการศึกษาแบบกลับทาง ต่างจากยุคของเราในอดีตที่เรียนจากทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติ
ศธ.เชียงใหม่ ยกโมเดลขับเคลื่อนการศึกษาต้องร่วมกันทำถึงจะสำเร็จ
นายกิตติ์ธเนศ พันธ์ภานุฉัตร ศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าว่า หากพูดเรื่องการศึกษาไม่ใช่เรื่องเฉพาะของกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกฝ่ายที่จะต้องร่วมมือกันไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งทางจังหวัดเชียงใหม่ได้กำหนดให้การศึกษาเป็นวาระของจังหวัดที่จะต้องขับเคลื่อนร่วมกัน โดยเริ่มจากนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ เน้นเรื่องการไม่ทิ้งเด็กไว้ข้างหลัง ใช้แอคทิฟเลิร์นนิ่ง และมีภาคีเครือข่าย นอกจากนี้ ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้พยายามทำให้ทุกฝ่ายเห็นภาพร่วมกันด้วยการทำเป็น “ธงการศึกษา” เพื่อให้แต่ละฝ่ายเห็นทิศทางและร่วมกันขับเคลื่อนไปทางเดียวกันซึ่งสอดรับการแผนยุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัด และยุทธศาสตร์ชาติ ด้วยการตั้งเป้าหมายให้เชียงใหม่เป็นนครแห่งการเรียรู้เพื่อคุณภาพชีวิต โดยการปฏิรูปการศึกษาหากทำแบบเดิมๆ ต่างคนต่างทำคงไม่สำเร็จแน่นอนทุกฝ่ายต้องขับเคลื่อนร่วมกัน
พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาโอกาสทองพัฒนาหลักสูตรในพื้นที่
นายพิทักษ์ โสตถยาคม รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สพฐ. กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาเยอะมากที่ผ่านมา 20 ปี เฉลี่ยเปลี่ยนรัฐมนตรี 20 คน ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนนโยบาย อีกทั้งพบว่าหน่วยงานด้านการศึกษาไม่ได้เชื่อมโยงกัน ทั้งหลักสูตร สื่อการเรียนรู้ วัดประเมินผล บุคลากร งบประมาณ ทำให้เราไม่ได้ในสิ่งเราอยากเห็นดังนั้นต้องทำความเชื่อมโยงให้เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพื้นที่นวัตกรรมทำให้เกิดการทำอะไรนอกกรอบ โดยมี พ.ร.บ.ออกมารองรับเพื่อเป็นเครื่องมือให้สามารถทำได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เป็นเกราะป้องกันทำให้สามารถทำอะไรไม่เหมือนเดิมเพื่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพ โดย พ.ร.บ.นี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อกระจายอำนาจเพิ่มผลสัมฤทธิ์ ผลิตคิดค้นพัฒนา ต่อยอดนวัตกรรมฯ ลดความเหลื่อมล้ำ และผสานเครือข่ายร่วมกันของทุกภาคส่วนในพื้นที่ ผลลัพธ์ที่ได้จะทำให้นักเรียนมีทักษะศตวรรษที่ 21 ได้รับการเรียนรู้ตอบโจทย์พื้นที่ ตอบโจทย์อนาคต โรงเรียนมีประสิทธิภาพสูงโดยนำนวัตกรรมการศึกษาไปใช้ได้ผมสัมฤทธิ์และลดความเหลื่อมล้ำ
นายพิทักษ์ กล่าวว่า พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เป็นโอกาสทองของจังหวัดในการจัดการการศึกษาตอบโจทย์พื้นที่ ทำให้สามารถเหลือกใช้นวัตกรรมได้อย่างอิสระ ทำให้สามารถปรับหลักสูตรได้โดยไม่ติดตัวชี้วัด มีอิสระในการเลือกหนังสือ รวมทั้งออกแบบการทดสอบในพื้นที่ อาจไม่ต้องใช้ O-NET/NT และสามารถลด ละ เลิก โครงการที่ไม่สำคัญได้
เครือข่าย กสศ.ออกแบบพัฒนาการศึกษาสอดรับความต้องการในพื้นที่
ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ของเครือข่ายการศึกษา ทั้งจาก มูลินิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม, มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี , มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา, มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธานมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม กล่าวว่า จากโรงเรียนเครือข่ายในพื้นที่ของสตาร์ฟิช มีทั้งหมด 3 จังหวัดได้แก่เชียงใหม่ ลำพูน และสมุทรสาคร รวมทั้งหมด 59 กลุ่มเป้าหมายในการพัฒนาโรงเรียน โดยกว่า 54 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องของการฝึกอาชีพ รองลงมาสิ่งแวดล้อม ความคิดสร้างสรรค์เทคโนโลยี และภาษา และจากการดำเนินการพัฒนาการเรียนการสอนพบว่า ได้ความรู้จากห้องเรียนที่ไม่ใช่วิธีการสอนแบบเดิม
ในขณะที่การพัฒนาการเรียนการสอนได้มีการนำเครื่องมือการประเมินในรูปแบบ AI โดยสามารถประเมินรายบุคคล รายกลุ่ม ประเมินครู เก็บสมรรถนะของเด็ก จะมีการวิเคราะห์ หากห้องเรียนไหนจะต้องเพิ่มเติมการสอนในจุดไหนก็จะมีการประเมินออกมา ซึ่งระบบนี้จะสามารถนำมาใช้ได้ในปีการศึกษา 2563 ช่วงเดือนพฤษภาคมนี้
เช่นเดียวกับ รศ.ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลุบรี กล่าวว่า การเริ่มต้นพัฒนาการเรียนการสอนที่นำมาใช้ โดยเริ่มต้นจากปัญหาในโรงเรียน ปัญหาระดับชุมชน และนำมาสู่การทำเป็นโครงการออกมาเป็นนวัตกรรมที่ใช้แก้ไขปัญหาได้จริง ในเทอมที่ผ่านมาได้เข้าประชุมพบเครื่องมือใหม่ๆ มากมาย แต่ก็เป็นเพียงแค่กระพี้ แก่นที่แท้จริงคือการสร้างมุมมองใหม่ กระบวนการใหม่ ซึ่งบังคับเด็กเองไม่ได้ เด็กต้องสร้างขึ้นเองทั้งหมด ต้องเริ่มจากการให้คือให้กำลังใจ ให้อาจารย์มองเด็กเป็นตัวตั้ง ให้สติ และให้พื้นที่
ที่มา: กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ศศิธร สวัสดี, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP)