ภายใต้สถานการณ์โลกอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความไม่แน่นอน และซับซ้อนมากขึ้น เด็กที่จะอยู่รอดได้จะต้องมีความรู้และสมรรถนะชุดใหม่ที่แตกต่างจากโลกยุคก่อน ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายของผู้บริหาร ครู และระบบการศึกษา ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างสมรรถนะของผู้เรียนที่จะพัฒนาไปสู่ผลลัพธ์ของการศึกษาที่ต้องการ หรือ DOE (Desired Outcomes of Education) ซึ่งจะมีความแตกต่างกันตามบริบทชุมชน
ระหว่างวันที่ 12-14 มีนาคม 2563 รศ.ประภาภัทร นิยม และทีมคณาจารย์จากสถาบันอาศรมศิลป์ ได้พาทีมขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล เรียนรู้ทำความเข้าใจและฝึกออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะของสถานศึกษา ใน “การประชุมปฏิบัติการพัฒนาโคชเพื่อขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ ครั้งที่ 1” ณ ห้องประชุมโรงเรียนอนุบาลสตูล จังหวัดสตูล นับเป็นพื้นที่แรกที่เริ่มขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ โดยผู้เข้าร่วมประชุมเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในและนอกพื้นที่จากภาคส่วนต่างๆ ประกอบด้วย ผู้อำนวยการและครูแกนนำโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดสตูล 10 โรงเรียน ได้แก่ อนุบาลสตูล อนุบาลมะนัง บ้านควนเก บ้านเขาจีน วัดหน้าเมือง บ้านบ่อเจ็ดลูก บ้านโกตา บ้านทางงอ บ้านทุ่งสภากาชาดอุปถัมภ์ 2550 และบ้านห้วยน้ำดำ รวมทั้งทีมโค้ชในพื้นที่ กรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง และศึกษานิเทศก์ นอกจากนี้ ยังมีทีมวิชาการจากสำนักงานการศึกษาเอกชน จ.ปัตตานี เข้าร่วมเรียนรู้เพื่อนำไปขยายผลพัฒนาการจัดการเรียนรู้โรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ปัตตานี
รศ.ประภาภัทร นิยม และคณะ ได้เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดึงความเข้าใจ ศักยภาพ และความต้องการของผู้มีส่วนร่วมในพื้นที่ ช่วยกันกำหนด DOE บนความเป็นตัวตนและตอบโจทย์ความต้องการของคนในพื้นที่ และได้ข้อสรุปเบื้องต้น DOE สตูล ประกอบด้วยสมรรถนะหลัก ได้แก่ ทักษะการสื่อสาร ทักษะการใช้เทคโนโลยี ทักษะการคิด ทักษะชีวิต และรักษาอัตลักษณ์ของคนสตูล คือ ความเป็นพลเมืองที่รักและเห็นคุณค่าของพหุวัฒนธรรม และทรัพยากรท้องถิ่นสตูล
ทั้งนี้ หัวใจของการจัดการเรียนรู้หลักสูตรฐานสมรรถนะที่จะส่งผลให้เกิดที่เด็กได้ ครูต้องออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ วิเคราะห์เป้าหมายการเรียนรู้ (Objective) ว่าอยากให้เด็กได้เรียนรู้หรือสมรรถนะอะไร ต้องมีกระบวนการจัดการเรียนรู้ (Learning Process) ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติ (Active Learning) ซึ่งครูต้องสามารถวิเคราะห์ได้ว่าเด็กทำอะไร แล้วได้ตามเป้าหมายหรือยัง ดังนั้น หากครูมีเป้าหมายสมรรถนะชัดเจน ครูจะยิ่งสรรหาวิธีมาจัด Learning Process และหาแนวทางมาวัดประเมินผล (Evaluation) ได้สอดคล้องกับเป้าหมาย ทำให้เด็กเกิดเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง
การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรครั้งนี้นับเป็นการปฏิวัติการจัดการเรียนรู้ครั้งใหญ่ ต้องอาศัยพลังของการร่วมแรงร่วมใจ ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญ คือ ผู้บริหารเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ครูมีจิตวิญญาณของความเป็นครู และผู้ปกครอง/ชุมชนร่วมมือสนับสนุนการทำงานของโรงเรียน ด้วยมีเป้าหมายการจัดการศึกษาอยู่ที่ “ผู้เรียน” เป็นที่ตั้ง วิเคราะห์สมรรถนะที่เกิดกับเด็กจากแผนการสอน นำสู่การระดมความคิดกำหนด DOE จังหวัดสตูล ออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ โดยครูเปิดโอกาสให้เด็กได้สัมผัสสถานการณ์จริงด้วยตัวเอง ครูเป็นผู้กระตุ้น สร้างแรงบันดาลใจ ให้เด็กเกิดความกระหายใคร่รู้ มีความเป็นเจ้าของโจทย์การเรียนรู้ และต้องการแสวงหาคำตอบด้วยตนเอง
ผู้เขียน: สุจินดา งามวุฒิพร
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์, ศศิธร สวัสดี, รัตนากร พึ่งแก้ว, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: สุจินดา งามวุฒิพร, ณัฐวุฒิ สุภประกร, สถาบันอาศรมศิลป์