เมื่อวันพุธที่ 18 มีนาคม 2563 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้จัดเวทีพิจารณาข้อเสนอชุดโครงการวิจัย ภายใต้แผนงานริเริ่มสำคัญ (Flagship) “พื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา” กรอบวิจัยพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา (Education Sandbox) ณ ห้อง Magic 1 ชั้น G โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ มีรายละเอียดและลำดับการนำเสนอดังนี้ (กำหนดการ)
สืบเนื่องมาจาก บพท. ได้ประกาศรับข้อเสนอชุดโครงการวิจัยภายใต้แผนงานสำคัญ (Flagship) ประจำปีงบประมาณ 2563 เรื่อง พื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา กรอบวิจัย พื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา (Education Sandbox) ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาและการเรียนรู้ในพื้นที่ที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่แล้วนำไปสู่กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ทำให้นักเรียนมีทักษะการเรียนรู้ (Learning Outcome) และมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดีขึ้น เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2562 – 20 มกราคม 2563 โดยยื่นผ่านระบบ NRMS และ ได้ประกาศผลการพิจารณาเบื้องต้นข้อเสนอชุดโครงการวิจัย เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 ซึ่งข้อเสนอชุดโครงการวิจัยเรื่อง “รูปแบบการพัฒนาโค้ชและดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ของโค้ชในการขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษาสู่ฐานสมรรถนะ” รหัสโครงการวิจัย 1463603 มีผู้เขียนเป็นหัวหน้าโครงการ ได้ผ่านการพิจารณาเบื้องต้น นอกจากนั้นยังมีนักวิจัยท่านอื่น ๆ ผ่านการพิจารณาเบื้องต้นด้วย ดังประกาศนี้ (ประกาศ บพท.)
โครงการวิจัยเรื่อง “รูปแบบการพัฒนาโค้ชและดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ของโค้ชในการขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษาสู่ฐานสมรรถนะ” ซึ่งโครงการวิจัยนี้เป็นความร่วมมือของสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) และสถาบันอาศรมศิลป์ มีคณะผู้วิจัย ดังนี้ 1) ดร.พิทักษ์ โสตถยาคม ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย 2) รศ.ประภาภัทร นิยม ผู้ร่วมวิจัย 3) ดร.เกศรา รักชาติ ผู้ร่วมวิจัย 4) ดร.ชินวงศ์ ศรีงาม ผู้ร่วมวิจัย 5) อ.อภิษฎา ทองสอาด ผู้ร่วมวิจัย 6) ดร.เก ประเสริฐสังข์ ผู้ร่วมวิจัย 7) อ.อุมาภรณ์ พัฒนะนาวีกุล ผู้ร่วมวิจัย และ 8) ดร.อโณทัย ไทยวรรณศรี ที่ปรึกษาโครงการวิจัย
ผู้เขียนและอาจารย์อภิษฎา ทองสอาด ได้ร่วมนำเสนอข้อเสนอโครงการวิจัยเรื่อง “รูปแบบการพัฒนาโค้ชและดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ของโค้ชในการขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษาสู่ฐานสมรรถนะ” ต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ใน 5 ประเด็น ดังนี้
1. โจทย์วิจัย การวิเคราะห์ปัญหาและสถานการณ์ของพื้นที่ และความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา
ผู้เขียนได้นำเสนอให้เห็นว่า สบน. เป็นฝ่ายวิชาการและธุรการของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และประสานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จำนวน 8 จังหวัด รับทราบนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการและคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ที่กำหนดให้มีการทดลองนำร่องหลักสูตรฐานสมรรถนะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ในปีการศึกษา 2563 ขณะเดียวกัน โรงเรียนนำร่องจะต้องปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นไปตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เพื่อใช้ในปีการศึกษา 2563 ดังนั้น ในโอกาสและสถานการณ์ที่จะต้องเร่งสร้างรูปธรรมของการเริ่มปรับใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในโรงเรียนนำร่อง สบน. จึงปรึกษาผู้รู้และเป็นผู้ร่วมจัดทำกรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะของกระทรวงศึกษาธิการ และมีประสบการณ์การปฏิบัติจริงในการนำพาโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ระยอง ปรับเปลี่ยนหลักสูตรสถานศึกษาสู่ฐานสมรรถนะแล้ว คือ รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ ในช่วงระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา ผลการวิเคราะห์ทางเลือกที่หลากหลาย พบว่า แนวทางที่ดีและเหมาะสมที่สุดในการทำความเข้าใจเรื่องการปรับเปลี่ยนหลักสูตรสถานศึกษาให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ คือ การสร้าง change agent หรือโค้ชเพื่อไปช่วยโรงเรียนนำร่องแต่ละโรงเรียน ให้สามารถวิเคราะห์บริบท/ศักยภาพของโรงเรียน กำหนดเป้าหมายทิศทางและผลลัพธ์ของผู้เรียน ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของตนเอง และมีความสอดคล้องหรือเป็นไปตามกรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยใช้การทำงานของโค้ช (โค้ช คือ ผอ.รร.ที่เข้มแข็ง ครูผู้นำที่แกร่ง และศึกษานิเทศก์ที่สามารถ) ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ระยอง เป็นฐาน เพราะโค้ชจะต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรและการศึกษาฐานสมรรถนะในโรงเรียนนำร่องต่าง ๆ ของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ระยอง ให้สามารถจัดการศึกษาเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ. และตอบโจทย์ชุมชนและพื้นที่
2. คำถามการวิจัย วัตถุประสงค์และเป้าหมายการวิจัย
คำถามการวิจัย คือ 1) รูปแบบและกระบวนการพัฒนาโค้ชในการขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษาสู่ฐานสมรรถนะที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร 2) ระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ของโค้ชในการขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษาสู่ฐานสมรรถนะที่เหมาะสมควรมีลักษณะเช่นใด 3) การขยายผลรูปแบบและกระบวนการพัฒนาโค้ชในการขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษาสู่ฐานสมรรถนะควรมีวิธีและเครื่องมือใดใช้เพื่อการปฏิบัติจริง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ของการวิจัย 3 ประการคือ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบและกระบวนการพัฒนาโค้ชในการขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษาสู่ฐานสมรรถนะ 2) เพื่อพัฒนาระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ของโค้ชในการขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษาสู่ฐานสมรรถนะ 3) เพื่อขยายผลรูปแบบและกระบวนการพัฒนาโค้ชในการขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษาสู่ฐานสมรรถนะ โดยมีเป้าหมายการวิจัยคือ โค้ช ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ. ระยอง และในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดอื่น ๆ ที่มีความพร้อมดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จ ประกอบด้วย ผู้บริหารโรงเรียนนำร่อง ครูผู้นำในโรงเรียนนำร่อง และศึกษานิเทศก์ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่มีความเป็นผู้นำทางวิชาการ และมีการปฏิบัติที่เข้มแข็งในการร่วมเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษา
3. กรอบการวิจัย (Research Framework)
การขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษาสู่ฐานสมรรถนะอย่างมีประสิทธิภาพ มี 2 เครื่องมือสำคัญคือ 1) กระบวนการพัฒนาโค้ช และ 2) ระบบการเรียนรู้ผ่านระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มในการสร้างโค้ช ซึ่งจะทำให้ได้โค้ชที่มีความรู้ ความสามารถ และเชื่อมั่นในตนเองในการสร้างการเปลี่ยนแปลงนำพาโรงเรียนพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาสู่ฐานสมรรถนะ ได้ระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เป็นพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติการและสร้างโค้ช ได้คู่มือการพัฒนาโค้ชสู่การขยายผล
4. แผนการดำเนินงาน
อาจารย์อภิษฎา ทองสอาด ได้นำเสนอแผนการดำเนินงาน ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย ดังนี้ 1) การพัฒนารูปแบบและกระบวนการพัฒนาโค้ชในการขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษาสู่ฐานสมรรถนะ มีแผนการดำเนินงาน เช่น การพัฒนาโครงสร้าง รูปแบบ กระบวนการสร้างโค้ช, การเตรียมโค้ช, การฝึกโค้ช, การกำหนด DOE และ school concept เชื่อมสู่กรอบสมรรถนะ, การสร้างคำอธิบายสมรรถนะ, การฝึกออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ที่สร้างสมรรถนะ, การฝึกนำแผนฯ ไปสอนจริง, การร่วมสะท้อนผลการใช้แผนฯ, การฝึกประเมินสมรรถนะ, โค้ชนำความรู้ไปใช้จริงช่วยโรงเรียนพัฒนาหลักสูตร 2) การพัฒนาระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ของโค้ชในการขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษาสู่ฐานสมรรถนะ มีแผนการดำเนินงาน เช่น การวิจัยเพื่อพัฒนาระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มาจากความต้องการจำเป็นของผู้ใช้งาน การบันทึกคลิป VDO จากการปฏิบัตินำเข้าระบบเพื่อเรียนรู้ร่วมกันตลอดระยะเวลาของการพัฒนาโค้ช 3) การขยายผลรูปแบบและกระบวนการพัฒนาโค้ชในการขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษาสู่ฐานสมรรถนะ มีแผนการดำเนินงาน เช่น การถอดบทเรียนจากการพัฒนาและการปฏิบัติของโค้ช การจัดทำคู่มือการพัฒนาโค้ช/รูปแบบและกระบวนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาสู่ฐานสมรรถนะ ทั้งในลักษณะดิจิทัลแพลตฟอร์ม หรือออนไลน์ และออฟไลน์
5. Output Outcome Impact
อาจารย์อภิษฎา ทองสอาด ได้นำเสนอให้เห็นว่าในแต่ละวัตถุประสงค์ของการวิจัยทำให้เกิด Output Outcome Impact ที่มีความสอดคล้องกัน และสอดรับกับ OKR ของแผนริเริ่มสำคัญที่ประกาศทุน ดังแผนภาพต่อไปนี้
หลังจากผู้ทรงคุณวุฒิได้ตั้งประเด็นคำถามต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการวิจัย ผู้เขียนได้ตอบคำถามในแต่ละประเด็น รวม 5 ประเด็น ดังนี้
1. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษากับ Area-based Education
พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ประกาศพื้นที่นวัตกรรมเป็น “จังหวัด” แต่ปฏิบัติการที่ “โรงเรียนนำร่อง” ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่จึงเริ่มต้นที่การพัฒนาโรงเรียนนำร่อง โดยการส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันการจัดการศึกษาโดยคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของจังหวัดนั้น ๆ แล้วเมื่อได้ข้อค้นพบจากการดำเนินการจะนำไปสู่การขยายผลทั้งเชิงปฏิบัติและเชิงระบบ ผ่านกลไกจังหวัดสู่คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
2. Digital Platform
ดิจิทัลแพลตฟอร์มที่จะสร้างและจะใช้ในโครงการวิจัยเพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันของโค้ชในการขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะของโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา อย่างไรก็ตาม สามารถเปิดให้ผู้สนใจทุกภาคส่วนเข้ามาเรียนรู้การปฏิบัติของโค้ชได้
3. Coach/ กลุ่มเป้าหมาย
โค้ชขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษาสู่ฐานสมรรถนะ คือ ผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีความเข้มแข็งในการเป็นผู้นำการเรียนรู้ ครูผู้นำที่สอนดีและมีศักยภาพ และศึกษานิเทศก์ที่สามารถชี้แนะและเป็นพี่เลี้ยงครู ณ สถานศึกษาได้จริง ในโครงการวิจัยนี้ใช้โค้ชในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ระยอง เป็นฐาน จำนวน 39 คน และโค้ชในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอื่น เช่น ศรีสะเกษ สตูล จำนวน 31 คน
4. การปลดล็อกในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
เป้าหมายของโครงการวิจัยนี้ไม่ได้มุ่งไปที่การปลดล็อกในเรื่องบุคลากร หรืองบประมาณ แต่โครงการวิจัยนี้จะช่วยให้โรงเรียนนำร่องสามารถทำเรื่องที่ต้องทำ ที่กำหนดอยู่ใน พ.ร.บ. มาตรา 25 คือ การปรับหลักสูตรสถานศึกษา เพราะหากโรงเรียนนำร่องไม่ได้ดำเนินการได้ทันเวลา การใช้สิทธิ์ต่าง ๆ ของโรงเรียนนำร่องจะทำได้ไม่เต็มที่ เช่น ไม่สามารถใช้งบประมาณซื้อสื่อหนังสือเรียนตามหลักสูตรสถานศึกษาที่ได้รับการปรับและคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนั้น ๆ ให้ความเห็นชอบ ดังนั้น โครงการวิจัยจะช่วยสนับสนุนให้โรงเรียนนำร่องสามารถปลดล็อกเรื่องหลักสูตรสถานศึกษา ซึ่งเป็นหัวใจของการจัดการเรียนรู้สู่คุณภาพผู้เรียนให้ได้ก่อน
5. ความซ้ำซ้อนของงานและเงินงบประมาณของนักวิจัยในสังกัด สพฐ.
ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย หรือนักวิจัยร่วม ที่ปฏิบัติงานในสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สพฐ. สำนักงานนี้เป็นฝ่ายวิชาการและฝ่ายธุรการของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และทำหน้าที่ประสานงาน ส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงานของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดต่าง ๆ สำนักงานไม่ได้มีแผนการพัฒนาโค้ชขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษาสู่ฐานสมรรถนะ ในเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมาได้สนับสนุนงบประมาณให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานำไปช่วยโรงเรียนนำร่องปรับหลักสูตร โดยคิดจากฐานโรงเรียน เฉลี่ยโรงเรียนละ 5,000 บาท และไม่มีงบประมาณที่จะใช้ในการสร้างความเข้มแข็งให้โค้ช ซึ่งประเด็นความจำเป็นที่สร้างโค้ชขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษา เพิ่งเกิดขึ้นมา เมื่อกระทรวงศึกษาธิการและคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มีนโยบายให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นกลุ่มเป้าหมายในการนำร่องหลักสูตรฐานสมรรถนะของประเทศ และจะต้องเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2563 จึงใช้โอกาสที่ บพท. เปิดให้ขอรับทุนสนับสนุนได้ มาขอทำโครงการวิจัยที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศในด้านการศึกษา
สรุปว่า โครงการวิจัยที่คณะผู้วิจัยเสนอไม่ซ้ำซ้อนกับกรอบงานและกรอบการใช้งบประมาณของสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สพฐ. หากได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจะเป็นการสร้างกลไกสำคัญในการปรับเปลี่ยนหัวใจของการจัดการศึกษา หรือหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนนำร่อง ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของการปฏิรูปการศึกษาใหม่ โดยใช้ bottom up ควบคู่การกำกับสนับสนุนเชิงนโยบาย
ผู้เขียน: พิทักษ์ โสตถยาคม
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์, ศศิธร สวัสดี, รัตนากร พึ่งแก้ว, ภัชธีญา ปัญญารัมย์