ความจำเป็นของโรงเรียนบ้านน้ำกร่อยในปีการศึกษา ๒๕๖๓ ต้องใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งมีกิจกรรมแตกต่าง หลากหลายจากหลักสูตรเดิม นักเรียนต้องลงมือทำงาน เรียนรู้ ด้วยตนเอง ผ่านกิจกรรมในหน่วยการเรียนรู้ต่าง ๆ ดังนั้นถ้านักเรียนมีศักยภาพไม่เพียงพอ การเข้าร่วมกิจกรรมของนักเรียนก็จะช้า และไม่ได้ผลเท่าที่ควร อาจมีนักเรียนบางส่วนเท่านั้นที่สามารถพัฒนาตนเองได้ ด้วยความจำเป็นตรงนี้ที่โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยต้องเตรียมนักเรียนให้มีพื้นฐานเพียงพอก่อนเปิดเทอม
ประเด็นที่ ๑ “อ่านเก่ง อ่านรู้เรื่อง”
การอ่านเก่ง อ่านรู้เรื่อง เป็นความพร้อมพื้นฐานที่นักเรียนทุกคนต้อง มี แต่ปัญหาที่พบมี ๒ ประการ ประการที่หนึ่ง นักเรียนบางคนยังอ่านไม่ออก และประการที่สอง นักเรียนที่อ่านออกบางคนยังอ่านไม่รู้เรื่อง ไม่มีความมั่นใจในการอ่าน มีอาการเขินอายเมื่อให้อ่านต่อสาธารณชน
ประเด็นที่ ๒ “วิธีการช่วยให้นักเรียนอ่านเก่ง อ่านรู้เรื่อง”
จากการศึกษาเอกสาร การสนทนากับผู้ทรงคุณวุฒิ และครูผู้สอนทุกคนในโรงเรียน ทำให้ได้วิธีการที่จะพัฒนานักเรียนในระยะเวลาอันสั้น (เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๒ จนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๖๓) และทั่วถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย (นักเรียนทุกคน รวมทั้งเด็กพิเศษด้วย) โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยค้นหาวิธีการช่วยให้นักเรียนอ่านเก่ง อ่านรู้เรื่อง ทั้งสิ้น ๕ วิธี ดังนี้
วิธีที่ ๑ สร้างแบบฝึกที่นักเรียนทุกคนฝึกเองได้
วิธีที่ ๒ สร้างความร่วมมือกับผู้ปกครองในการฝึกอ่าน
วิธีที่ ๓ ติดตามความก้าวหน้าของนักเรียน รายบุคคลอย่างใกล้ชิด
วิธีที่ ๔ กระตุ้นให้นักเรียนสร้างคำใหม่ จากคำที่อ่านได้
วิธีที่ ๕ สร้างเวทีสาธารณะให้นักเรียน เผชิญสถานการณ์คำใหม่
ประเด็นที่ ๓ “สร้างแบบฝึกที่นักเรียนทุกคนฝึกเองได้”
การสร้างแบบฝึกอ่านคำภาษาไทยของโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย เกิดจากการวิเคราะห์สาเหตุที่นักเรียนมักอ่านและเขียนผิดบ่อย และใช้วิธีการแบบคนไทยโบราณ คือฝึกให้นักเรียนนำพยัญชนะและสระมาประสมกัน แล้วอ่านเป็นคำ โดยแบ่งการฝึกตามหมู่ของพยัญชนะ และสระที่มีความจำเพาะเจาะจง และความยากง่ายต่างกัน ยกตัวอย่าง
- พยัญชนะแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่ อักษรกลาง อักษรสูง และอักษรต่ำ
- สระแบ่งเป็น ๔ กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มที่ ๑ กลุ่มสระที่อยู่หลัง บน และ ล่าง ของพยัญชนะ ได้แก่ อะ อา อิ อี อึ อื อุ อู ออ
- กลุ่มที่ ๒ กลุ่มสระที่อยู่หน้าพยัญชนะ ได้แก่ เอ แอ โอ ไอ ใอ
- กลุ่มที่ ๓ กลุ่มสระประสม ได้แก่ อำ เอา อัว เอะ แอะ โอะ เออ
- กลุ่มที่ ๔ กลุ่มสระประสม ได้แก่ เอาะ อัวะ เออะ เอียะ เอีย เอือะ เอือ
หลังจากนั้นสร้างแบบฝึกโดยคำนึงถึงโอกาสที่นักเรียนจะอ่านได้เป็นสำคัญแล้วค่อยเพิ่ม ความยากขึ้นตามลำดับ
โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยสร้างแบบฝึกเป็นเล่มและมอบให้กับนักเรียนทุกคนได้ฝึกทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ทั้งในชั่วโมงเรียนภาษาไทยและนอกเวลาเรียน เรียกได้ว่า “ฝึกจริงจัง”
ตัวอย่างแบบฝึกอ่านคำภาษาไทย
ประเด็นที่ ๔ “สร้างความร่วมมือกับผู้ปกครองในการฝึกอ่าน”
พ่อแม่ ผู้ปกครอง เป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนในการฝึกอ่านของนักเรียน ดังนั้นโรงเรียนบ้านน้ำกร่อยจึงจัดทำแบบฝึกสำหรับนักเรียนมอบหมายให้กับผู้ปกครองอีกส่วนหนึ่ง สำหรับไว้เป็นเครื่องมือในการสอนลูกหลานให้ฝึกท่อง ฝึกอ่าน รวมทั้งได้พูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้ปกครองในการที่จะใช้วิธีการที่หลากหลายเพื่อให้นักเรียนอยากอ่าน อยากท่อง อ่านไปพร้อมกัน
ประเด็นที่ ๕ “ติดตามความก้าวหน้าของนักเรียนรายบุคคลอย่างใกล้ชิด”
จัดทำแบบบันทึกการอ่าน วัตถุประสงค์เพื่อบันทึกความก้าวหน้าของนักเรียน มีรายละเอียดเกี่ยวกับ ชื่อ นามสกุลของนักเรียน โดยให้นักเรียนบันทึกผลการอ่านลงในแบบบันทึกด้วยตนเอง หรือครูเป็นผู้บันทึก
ประเด็นที่ ๖ “กระตุ้นให้นักเรียนสร้างคำใหม่ จากคำที่อ่านได้”
วัตถุประสงค์หลักของวิธีนี้คือเพื่อให้นักเรียนค้นหาคำ สร้างคำใหม่ที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน แล้วนำมาเชื่อมโยงกับคำที่ฝึกอ่าน นักเรียนจะใช้ชีวิตเป็นตัวตั้ง เพียงแต่ว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำในักเรียนอ่านไม่ได้ เพราะว่าไม่มีคลังคำในสมองมากพอ โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยจึงใช้วิธีการสร้างคำใหม่หลังนักเรียนอ่านคำในแบบฝึกเสร็จแล้ว ขณะนี้มีวิธีสร้างคำใหม่ อย่างน้อย ๓ วิธี ดังนี้
กระตุ้นส่งเสริมการสร้างคำ โดยให้ครูลองออกแบบกิจกรรมที่ให้นักเรียนสร้างคำใหม่ ก็ได้มาประมาณ ๓ วิธี
- วิธีที่ ๑ ครูให้นักเรียนเลือกคำในแบบฝึกมาสัก ๒-๔ คำ มาสร้างเป็นคำใหม่ตามใจนักเรียน แต่ต้องเป็นคำที่นักเรียนอธิบายได้ว่าคืออะไร โดยให้เวลานักเรียนสัก ๕ หรือ ๑๐ นาที แล้วมานับจำนวนคำที่นักเรียนสร้างได้ พบว่านักเรียนสร้างคำใหม่ได้ไม่มีขีดจำกัด
- วิธีที่ ๒ ครูกำหนดคำจากแบบฝึกที่นักเรียนอ่านขึ้นมาคำหนึ่ง หลังจากนั้นให้นักเรียนสร้างคำใหม่ร่วมกัน โดยผลัดกันบอก ใครคิดคำอะไรได้ก็บอก วิธีการนี้ก็สนุก และได้คำใหม่หลายคำ เมื่อนักเรียนบอกคำไหน ครูก็ช่วยกันเขียน หรือ ให้นักเรียนเขียนลงในสมุด แบบนี้ช่วยสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ได้ดีมาก
- วิธีที่ ๓ ครูให้เวลานักเรียนประมาณ ๕-๑๐ นาที แล้วให้นักเรียนเขียนลงในกระดาษหรือสมุดของตนเอง ได้คนละกี่คำก็ได้ ไม่ใช่เป็นการแข่งขัน หลังจากนั้นเมื่อหมดเวลา ครูให้นักเรียนล้อมเป็นวงกลมแล้วผลัดกันบอกคำของตนเอง ถ้าคำใดมีเพื่อนบอกแล้ว เมื่อถึงคราวของตนเอง ก็ไม่ต้องคำซ้ำนั้น แบบนี้นักเรียนใจจดจ่อว่าเพื่อนคิดคำเหมือนตนหรือไม่
ประเด็นที่ ๗ “สร้างเวทีสาธารณะให้นักเรียนเผชิญสถานการณ์คำใหม่”
จัดโชว์ยกชั้น เริ่มต้นจากที่เริ่มมองเห็นความก้าวหน้าในการอ่านของนักเรียน นักเรียนและครูผู้สอนจะร่วมกันระบุว่าจะโชว์การอ่านคำในแบบฝึกที่เท่าไร หลังจากนั้นทางโรงเรียนจึงเชิญผู้ปกครอง ชุมชน หน่วยงานต้นสังกัด และบุคคลภายนอก มาร่วมทดสอบการอ่านยกชั้นของนักเรียน ในการอ่านจะใช้แบบทดสอบที่ผู้ทรงคุณวุฒิสร้างขึ้น จำนวน ๒๐ คำ โดยมีผู้ปกครองร่วมกิจกรรมทดสอบด้วย
มุมมองผู้ที่เกี่ยวข้อง
ครูวีระ คำแหง (ครูชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย)
ครั้งแรกที่ให้นักเรียนฝึกอ่านคำในแบบฝึก ก็ไม่แน่ใจว่าจะเกิดประโยชน์อะไร เพราะว่าเป็นแค่การฝึกออกเสียงคำ จากหน้าไปหลังซ้ำๆ กัน อยู่อย่างนั้น แต่เมื่อผ่านไป ๑ สัปดาห์ สังเกตว่านักเรียนอ่านคล่องมาก แม้จะเป็นคำที่ประสมด้วยสระยากๆ ก็ตาม
สุดท้ายที่ผมเห็นประจักษ์ตา คือ เมื่อให้นักเรียนสร้างคำใหม่ นักเรียนสามารถสร้างคำได้ทุกคน แม้นักเรียนที่อ่านไม่คล่องก็สามารถสร้างคำใหม่ได้โดยอาศัยดูคำที่อยู่ในแบบฝึกเป็นฐาน นั่นแสดงว่านักเรียนเขานำสิ่งที่พบเห็นมาเขียนเป็นคำได้
ตรงส่วนนี้ที่ทำให้มั่นใจว่าในปีการศึกษาหน้า นักเรียนทุกคนจะมีสมรรถนะการอ่านเพียงพอกับการใช้หลักสูตรใหม่แน่นอน
ครูชลิตา แก้วตุ้ย (ครูชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย)
นักเรียนห้องนี้มีทั้งนักเรียนปกติและนักเรียนที่เรียนรู้ช้า ครั้งแรกนักเรียนที่เรียนรู้ช้าก็อ่านไม่คล่อง แต่นักเรียนที่อ่านเก่งกว่าก็จะมาช่วยกันสอน จึงทำให้อ่านคล่องขึ้น มาถึงขณะนี้นักเรียนจำได้ว่าแบบฝึกที่ ๑ มีพยัญชนะและสระอะไรบ้าง เรียกว่าจำขึ้นใจเลย ส่วนกิจกรรมสร้างคำใหม่เป็นกิจกรรมที่้สนุก นักเรียนชอบ เขาจะนั่งล้อมวงกัน แล้วผลัดกันตรวจสอบคำที่เขียนว่ามีคำอะไรบ้าง ซ้ำกันหรือไม่ มีความหมายว่าอย่างไร ตรงส่วนนี้เป็นเรื่องของนักเรียนที่เขาจะเรียนรู้ร่วมกัน
นักเรียนบางคนในห้องนี้เคยเป็นนักเรียนที่เรียนรู้ช้า แต่จากกิจกรรมการสร้างคำ ทำให้ครูรู้ว่านักเรียนคนนี้มีคลังคำในสมองเยอะมาก เขาจะบอกความหมายของคำได้หลายความหมายอย่างรวดเร็ว เช่น คำว่า “กา” เขาบอกได้ว่าเป็นสัตว์ หรือ ภาชนะ ส่วนนักเรียนบางคนสามารถอธิบายความหมายของคำได้ละเอียด เช่น งูกะปะ เป็นงูที่มีพิษร้าย กัดแล้วตาย
ในมุมมองส่วนตัว ชอบวิธีนี้ เพราะว่าครูไม่จบเอกภาษาไทย ยังไม่มีวิธีสอนภาษาไทยที่ดี ถ้าจะให้แก้ปัญหานี้คงต้องเหนื่อยมาก แต่ตอนนี้ครูเหนื่อยน้อยลง นักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเองได้ และเก่งมากขึ้นทุกวัน
บทสรุปจากผู้อำนวยการโรงเรียน
กิจกรรมนี้ช่วยนักเรียน ช่วยครู ช่วยผู้ปกครอง ได้มาก เพราะว่าเห็นผลชัดเจน เด็กที่อ่านไม่ได้ ก็อ่านได้ เด็กที่ไม่อยากอ่านหนังสือให้ใครฟัง ก็อยากอ่าน มีเด็กดักรอ ผอ. เพื่อจะมาอ่านหนังสือให้ฟังทุกครั้งที่พบกัน เห็นแล้วรู้สึกถึงความภาคภูมิใจ รู้สึกถึงความโล่งใจของผู้ปกครองที่ลูกหลานอ่านหนังสือได้ ในวันที่โรงเรียนโชว์ยกชั้น ผู้ปกครองมาร่วมกิจกรรมประมาณเกือบ ๒๐ คน มาทดสอบการอ่านด้วยตนเอง เห็นรอยยิ้ม แววตา ของทั้งผู้ปกครองและเด็กแล้วหายเหนื่อย ผู้ปกครองหลายคนแสดงความคิดเห็นว่า ชอบและขอบคุณโรงเรียนที่ทำให้ลูกหลานอ่านออก ส่วนของพฤติกรรมเด็กเมื่อกลับถึงบ้านก็เปลี่ยนไป อยากจะอ่านหนังสือให้พ่อแม่ฟัง ชวนกันอ่านหนังสือระหว่างพี่น้อง บางครอบครัวพี่อ่านไม่ได้ แต่น้องอ่านได้ น้องก็จะสอนพี่
หลายท่านอาจไม่เชื่อ คิดว่าโรงเรียนสร้างภาพ แต่หลักฐานเชิงประจักษ์อยู่ที่นักเรียน ถ้าสนิทสนมกันแล้ว นักเรียนที่ขี้อายก็อ่านหนังสือให้ฟังได้แล้ว ต้องบอกว่าขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนเพื่อแก้ปัญหาก่อนเปิดเทอม เป็นบันไดขั้นแรกของเรา เราทุกคนในโรงเรียน และพ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน หวังว่าในปีการศึกษาใหม่ นักเรียนของเราจะอ่านเก่งขึ้น จะใช้ภาษาไทยเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ได้มากขึ้น
ดาวน์โหลดไฟล์แบบฝึกได้ที่นี่ >>>> คลิก <<<<
ผู้เขียน: อิงกมล บุญลือ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย โทร.๐๙๗-๙๖๒๘๒๓๙
ผู้ให้สัมภาษณ์: อิงกมล บุญลือ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย โทร.๐๙๗-๙๖๒๘๒๓๙
ผู้สัมภาษณ์: อาภาภรณ์ ชื่นมณี ศึกษานิเทศก์ สพป.ระยอง เขต ๒
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์, ศศิธร สวัสดี, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: โชติกา สมหมาย