โรงเรียนบ้านหนองหวาย สังกัด สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 เปิดสอนในระดับอนุบาลถึงประถมศึกษา มีนักเรียน 140 คน เป็นเด็กพื้นถิ่น 76 คนที่เหลือมาจากนอกเขตพื้นที่บริการ ในจำนวนเด็ก 140 คน มีเด็กช่วงอายุ 3 ขวบ รวมอยู่ด้วย 10 คน เหตุที่นำเอาเด็ก 3 ขวบที่อยู่ในการดูแลขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมาเรียนร่วมนั้น เพราะการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรของมอนเตสซอรี่กำหนดไว้ว่าในหนึ่งห้องเรียนต้องมีเด็กสามวัยเรียนรวมกัน ทั้งนี้ เด็ก 3 ขวบ โรงเรียนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง โดยไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานแต่อย่างใด โรงเรียนบ้านหนองหวาย มีครูประจำการ 7 คน พนักงานราชการครู 1 คน และครูอัตราจ้างที่ใช้เงินอุดหนุนของโรงเรียน 1 คน รวมมีครู 9 คน ทางโรงเรียนได้ใช้การจัดการเรียนรู้ตามที่สพฐ.กำหนดมาก่อนและมาใช้การจัดการเรียนรู้ตามแนวทางของมอนเตสซอรี เมื่อปีการศึกษา 2556 ที่ผ่านมา
การจัดการเรียนรู้ตามแนวทางของมอนเตสซอรี่ ผู้ริเริ่มคิดวิธีการสอนนี้ คือ ดร.มาเรีย มอนเตสซอรี่ เกิดเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1870 ในเมือง Chiaravalle จังหวัด Ancona ประเทศอิตาลีและครอบครัวของเธอได้ย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงโรม เมื่ออายุ 12 ปี จากนั้นเธอได้แสดงถึงความเป็นตัวของตัวเองซึ่งเป็นเอกลักษณะเฉพาะของเธอตลอดมา โดยการเข้าเรียนในโรงเรียนเทคนิคชายล้วนและได้ศึกษาวิชาคำนวณและวิชาวิศวกรรม ซึ่งต่อมาเธอได้สนใจเรียนชีววิทยาเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นเธอก็แน่วแน่ที่จะศึกษาต่อในวิทยาลัยแพทย์แห่งหนึ่ง เพื่อที่จะเป็นแพทย์ให้ได้ แต่ก็ถูกปฏิเสธเนื่องจากความที่เธอเป็นผู้หญิง เธอได้พยายามเอาชนะอคติที่มีต่อความเป็นผู้หญิงในศตวรรษที่ 19 นี้เรื่อยมา จนกระทั่งประสบความสำเร็จและต่อมาได้กลายเป็นผู้หญิงคนแรกของประเทศอิตาลีที่ได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตและมีคนจำนวนมากที่เรียกเธอว่า Dottoressa หรือแพทย์หญิง จากนั้นเป็นต้นมา หลังจากเรียนจบแล้ว เธอได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยหมอที่คลินิกจิตแพทย์ในมหาวิทยาลัยแห่งกรุงโรม ซึ่งเป็นที่ที่เธอได้ทำงานกับเด็กพิเศษจำนวนมากและเริ่มเกิดความสนใจอย่างลึกซึ้งในกระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆเหล่านั้น จนเริ่มมั่นใจว่าเพียงการรักษาด้านร่างกายและการใช้ยานั้นยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เด็กพิการทางสมองนี้มีสภาพที่ดีขึ้นหากต้องการมีการเพิ่มกระบวนการเรียนการสอนและการฝึกหัดแบบพิเศษจึงจะช่วยพวกเขาได้ เธอเริ่มทดลองโดยเฝ้าดูพวกเด็กๆและเห็นถึงการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมตามสัญชาติญาณโดยการใช้มือของพวกเขา โดยแนวคิดที่ว่า มือทั้งสองข้างเป็นหนทางแห่งการพัฒนาสติปัญญา สิ่งนี้เองที่ใช้เป็นแนวคิดหลักในกระบวนการเรียนรู้ของมอนเตสซอรี่ตลอดมา
จุดมุ่งหมายในการจัดการศึกษาตามแนวคิดของมอนเตสซอรีไม่ใช่การเอาความรู้ไปบอกเด็ก แต่เป็นการปลูกฝังให้เด็กได้เจริญเติบโตไปตามพัฒนาการ ตามธรรมชาติของเด็ก โดยครูจะต้องพัฒนาการสอนให้สัมพันธ์กับพัฒนาการและความต้องการของเด็ก ซึ่งเป็นความต้องการจะเป็นอิสระในขอบเขตที่กำหนดไว้ให้ ตลอดจนการจัดสิ่งแวดล้อมอย่างสมบูรณ์ พิถีพิถัน และด้วยความปราณีต
การจัดการเรียนรู้ตามแนวทางของมอนเตสซอรี่ มาจากการที่ ดร.มอนเตสซอรี่ได้สังเกตในสภาพที่เป็นจริงของเด็ก ไม่ใช่สภาพที่ผู้ใหญ่ต้องการให้เด็กเป็น จากการสังเกตเด็กจึงได้พัฒนาวิธีการสอน การจัดเตรียมสิ่งแวดล้อม และอุปกรณ์การสอนต่างๆ ขึ้นมาใช้ โดยเริ่มต้นจากการทดลองในโรงเรียนที่มอนเตสซอรี่รับผิดชอบ ที่เรียกว่า Casa Dei Bambini หรือ Children’s House ซึ่งวิธีการสอนตามแนวคิดนี้จึงได้แพร่หลายไปจนทั่วโลกเฉกเช่นในปัจจุบัน
โรงเรียนบ้านหนองหวายก็ได้นำเอารูปแบบการสอนตามแนวคิดของมอนเตสซอรีมาใช้ในปีการศึกษา 2556โดยนำเอาหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดของมอนเตสซอรีของสมาคมมอนเตสซอรแห่งประเทศไทยมาปรับใช้ให้เป็นหลักสูตรนี้มาปรับใช้กับโรงเรียนตามบริบทของโรงเรียน เพราะหากใช้ตามหลักสูตรของ มอนเตสซอรี (AMI) มาสอนเต็มรูปแบบนั้นต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสื่อการสอนที่ได้มาตรฐานตามหลักสูตรสากลนั้นต้องสั่งซื้อมาจากต่างประเทศ จึงปรับมาใช้สื่อการเรียนรู้ที่โรงเรียนสามารถจัดหาในประเทศ และจัดทำสื่อเทียงเคียงเองมาประกอบการจัดการเรียนการสอน
ในระยะห้วงเวลาก่อนที่โรงเรียนบ้านหนองหวายจะใช้นวัตกรรมการเรียนรู้ตามแนวทางของมอนเตสซอรีนั้น โรงเรียนก็ได้จัดการเรียนการสอนตามแนวทางที่ สพฐ. กำหนด สภาพที่พบในขณะนั้นประชาชนในพื้นที่เห็นความสำคัญที่จะส่งบุตรหลานไปศึกษาในโรงเรียนเอกชน เพราะโรงเรียนเอกชนมีการจัดการเรียนรู้ที่เข้มข้นหว่าโรงเรียนของรัฐ เป็นเหตุให้โรงเรียนประจำหมู่บ้านลดลง ๆ ทุกปี เมื่อเป็นเช่นนั้นผู้บริหารโรงเรียนและครูจึงแสวงหารูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่มีความเหมาะสมกับพื้นถิ่นและมีความแปลกใหม่ โดดเด่นกว่าโรงเรียนทั่วไป โดยเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2552 ได้ทำการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบต่างๆที่เขาว่าดีมาจัดการเรียนการสอนในหลาย ๆ รูปแบบ นำครูไปศึกษาดูงานโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในรูปแบบนั้น แล้วนำมาประยุกต์ใช้ตามบริบทของตนเอง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ อีกทั้งได้รับการต่อต้านจากครูผู้สอน จนในปีการศึกษา 2556 สพฐ. ได้จัดให้มีการอบรมครูหลักสูตรมอนเตสซอรีสากล (AMI) ระดับประถมศึกษาขึ้นมา โรงเรียนจึงได้ส่งครูจำนวน ๒ คนเข้ารับการศึกษาในหลักสูตรนี้เป็นยะเวลา 2 ปี ระหว่างเรียนนั้นได้เปิดทำการเรียนการสอนกับนักเรียนในระดับปฐมวัยคบคู่ไปกับการเรียนหลักสูตร AMI ของครูไปด้วย เมื่อครูเรียนจบหลักสูตร และสอบผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานของหลักสูตร AMI แล้ว จึงได้มาทำการเรียนการสอนสู่ช่วงชั้นที่ 2 (ป.1-3) อย่างแท้จริงตามแนวทางมอนเตสซอรี จนกระทั่งปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษารูปแบบการสอนในระดับประถมศึกษาตอนปลาย (ป.4-6)
ในระยะเริ่มต้นนั้นครูในส่วนที่ไม่ได้รับการเรียนตามหลักสูตร AMI ยังมีการต่อต้าน ผู้บริหารจึงสร้างความเชื่อมั่นในหลักการสอนแบบนี้ว่าเกิดผลดีต่อตัวครู นักเรียนและชุมชนต้องเห็นความสำคัญในการสอนรูปแบบนี้ โดยผู้บริหารได้นำครูทั้งหมดไปศึกษาดูงานกับโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จทั้งของรัฐและของเอกชน พร้อมนี้ได้จัดหา จัดทำสื่อการสอน ผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษาชี้แนะแนวทางการสอนต่อครูผู้ปฏิบัติการสอน ใช้เวลาเกือบ 3 ปีครูจึงมีเจตคติที่ดีต่อการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางของมอนเตสซอรี เมื่อครูมีเจตคติที่ดีต่อการสอนรูปแบบนี้แล้ว ผลตามมาคือประชาชนในพื้นถิ่นได้ย้ายนักเรียนกลับมาเรียนที่โรงเรียนในหมู่บ้านของตน มีความศรัทธาต่อโรงเรียน อีกทั้งประชาสัมพันธ์การเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านหนองหวายแห่งนี้สู่สาธารณชน จนปัจจุบันโรงเรียนได้เปลี่ยนสถานะจากโรงเรียนขนาดเล็กเป็นโรงเรียนขนาดกลาง โดยมีนักเรียนต่างถิ่นมาเรียนด้วย
จากการใช้หลักสูตรการสอนตามแนวทางของมอนเตสซอรี่และสื่อการเรียนรู้ ตลอดระยะเวลา 6 ปี ที่ผ่านมา โรงเรียนได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบสอนของครูและการเรียนของเด็กนักเรียน คุณครูเป็นเพียงแค่ผู้ชี้แนะแนวทางในการเรียนการสอนของนักเรียน โดยที่ครูได้เข้ารับการอบรมหลักสูตร AMI Administration Course หลักสูตรการบริหารมอนเตสซอรี่สากล ซึ่งเป็นหลักสูตรนานาชาติ
ส่วนการเรียนรู้ของนักเรียนนั้น นักเรียนเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกชั่วโมงเรียนว่าต้องการเรียนสื่อวิชาการสอนหมวดใด แบบใด ตามความสนใจได้นั้น เพราะโรงเรียนมีสื่อการสอนวางไว้ในชั้นเรียน เป็นหมวดหมู่ ให้นักเรียนเลือกเรียนตามความสนใจของนักเรียน ซึ่งเวลาเรียนนั้นจะเปิดห้องเรียนรวมกัน มีผู้เข้าเรียน 3 ช่วงวัย เข้าเรียนร่วมกันเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนกัน ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนชั้นอนุบาล 1-3 เรียนรวมกัน โดยจะมีเด็กอนุบาล 3 เป็นพี่ช่วยสอนน้อง ๆ ในชั้นอนุบาล 1-2 โดยอยู่ภายใต้การควบคุม การสังเกต การเสนอบทเรียนใหม่ของคุณครูต่อผู้เรียน ซึ่งครูจะมีการสังเกตการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนรายบุคคลตลอดเวลาเพื่อดูพัฒนาการของนักเรียนในการใช้สื่อการเรียนการสอนบรรลุตัวชี้วัดหรือไม่ และเด็กมีการเรียนรู้จากสื่อครอบคลุมทุกตัวชีวัดการเรียนรู้หรือไม่
จากการดำเนินการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางของมอนเตสซอรี่ทำให้คุณครูของโรงเรียน ณ เวลานี้มีความสนใจและชื่นชอบการสอนในรูปแบบนี้ เพราะเป็นการสอนที่เพิ่มความสบายและลดภาระต่อครูผู้สอน นักเรียนมีความกระตือรือร้นต่อการเรียนมากขึ้น เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนตามความต้องการของตนเอง โดยไม่มีการบังคับส่งผลให้นักเรียนมีความสุขและความสนุกต่อการเรียน โดยไม่ได้มีตัวชี้วัดความรู้ความสามารถของนักเรียน เป็นการป้องกันไม่ให้เด็กมีปมด้อย และอีกหนึ่งสิ่งที่โรงเรียนได้รับจากการเข้าเป็นโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาคือการที่โรงเรียนได้ปรับขนาดจากโรงเรียนขนาดเล็กเป็นโรงเรียนขนาดกลาง ชุมชนรักและศรัทธาต่อโรงเรียน เป็นแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนที่มีความสนใจการสอนในรูปแบบนี้
จากการดำเนินการใช้นวัตกรรมสิ่งที่ยังคงเป็นปัญหา คือ สื่อการเรียนของหลักสูตรมอนเตสซอรี่มีราคาแพงต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก เพราะต้องสั่งจากต่างประเทศ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งสื่อแต่ละชิ้นต้องได้มาตรฐานตามที่ AMI กำหนด อีกทั้งสื่อบางชิ้นมีลิขสิทธิ์ด้วย และการสอนรูปแบบนี้ในเวลานี้ยังไม่ได้ครอบคลุมถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เพราะขาดแคลนสื่อการสอน
เป้าหมายของโรงเรียนในอนาคตข้างหน้าคือ ต้องการที่จะขยายขนาดของโรงเรียนและเพิ่มชั้นเรียนที่จะใช้หลักสูตรของมอนเตสซอรี่ไปจนถึงระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 ปัจจุบันโรงเรียนใช้หลักสูตรมอนเตสซอรี่ถึงเพียงชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 4 และมีเป้าหมายที่จะส่งโรงเรียนเข้ารับการประเมินเพื่อขอรางวัลโรงเรียนพระราชทานในระดับปฐมวัยในอนาคตอันใกล้นี้
ผู้เขียน: จิรปรียา บูรณะศักดิ์, นัฐฏ์ พงษ์เกษ
ผู้ให้สัมภาษณ์: นัฐฏ์ พงษ์เกษ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองหวาย จังหวัดศรีสะเกษ
ผู้สัมภาษณ์: จิรปรียา บูรณะศักดิ์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์, ศศิธร สวัสดี, รัตนากร พึ่งแก้ว, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: นัฐฏ์ พงษ์เกษ