สื่อสารด้วยข้อความเชิงบวก เสริมสร้างความสามัคคี ดึงพลังการมีส่วนร่วม: 6 เดือนของ ดร.ปิยภัทร ทองพรม กับตำแหน่ง ผอ.รร.นำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

16 เมษายน 2020

โรงเรียนวัดท่าเรือเป็นหนึ่งในโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตั้งอยู่ที่ตำบลแกลง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  เป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนจำนวน 659 คน มีผู้อำนวยการ ครู และบุคลากร รวมทั้งสิ้น 36 คน เป็นโรงเรียนนำร่องที่มีความโดดเด่นและมีความพร้อมในด้านหลักสูตรของโรงเรียนที่จะเปลี่ยนไปสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563 สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ดร.ปิยภัทร ทองพรม ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดท่าเรือ ที่พึ่งย้ายมารับตำแหน่งใหม่ในเทอมที่ผ่านมา ตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา ผอ.ปิยภัทร ได้สะท้อนภาพสิ่งดีงามที่เห็นและสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนวัดท่าเรือแห่งนี้ให้เราได้ฟังและเมื่อได้รับฟังแล้ว สบน. ได้เห็นความงดงาม ความตั้งใจ ความเสียสละ ความมีจิตอาสาของครูและบุคลากรทุกคนในโรงเรียน สบน. ได้ขออนุญาตนำบทสัมภาษณ์มาเผยแพร่และสื่อสารให้สังคมได้รับรู้สิ่งดีงามเหล่านี้ด้วยกันต่อไป

มุมมองของ ผอ. ต่อ พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษานั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายมากที่จะนำหลักการที่มี ใน พ.ร.บ. ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงในโรงเรียน เพราะในขณะที่เราอยู่ภายใต้การทำงานกับเขตพื้นที่ ทำงานกับระบบและรูปแบบเดิม ที่มีกิจกรรมหลายอย่างที่ต้องดำเนินการเพื่อให้ตอบโจทย์เขตพื้นที่ แล้วเราก็ต้องทำงานอีกภารกิจหนึ่งเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมศึกษา จึงถือเป็นภารกิจที่ท้าทายโดยตรงกับรูปแบบ ระบบและกลไกต่าง ๆ ที่เป็นอยู่เดิมในปัจจุบันของโรงเรียนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบุคลากร เรื่องการเงิน และรวมถึงเรื่องวิชาการ ที่ตอนนี้ยังยึดโยงอยู่กับระบบเดิม ในขณะที่เราทุกคนก็ต้องร่วมกันทำสิ่งใหม่เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นเราทุกคนในโรงเรียนต้องพยายามกันให้มากขึ้นและทำให้เต็มที่เต็มกำลังของทุกคน มองว่าการมี พ.ร.บ. นั้นก็ช่วยให้ความอุ่นใจและมั่นใจในการปฏิบัติงานได้ดีในระดับหนึ่ง

บริบทของโรงเรียนแห่งนี้เป็นอย่างไร

โรงเรียนวัดท่าเรือเป็นโรงเรียนขยายโอกาส นักเรียนเข้าเรียนที่นี่จะเป็นนักเรียนที่ค่อนข้างไม่มีความพร้อมสักเท่าไหร่ สถานภาพทางเศรษฐกิจของครอบครัวไหนที่ดีหรือมีความพร้อมก็จะส่งบุตรหลานตนเองไปเรียนโรงเรียนในเมือง เพราะการคมนาคมขนส่งทุกวันนี้สะดวกรวดเร็ว ทั้งนี้สภาพชุมชนโดยรอบโรงเรียนผู้ปกครองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง หาเช้ากินค่ำ จึงไม่ค่อยมีเวลาที่จะดูแลการศึกษาบุตรหลานของตน แต่หากโรงเรียนขอความร่วมมือสิ่งใดจากผู้ปกครองหรือชุมชน ทุกคนในชุมชนก็จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เต็มตามศักยภาพที่เขามี แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและชุมชนเป็นอย่างดี

หกเดือนที่ผ่านมา ผอ. เห็นอะไรในโรงเรียนนำร่องแห่งนี้

ได้เห็นและประทับใจในความน่ารักของครูในโรงเรียน คือคุณครูในโรงเรียนทุกคนน่ารักมาก มีความเสียสละ ร่วมแรงร่วมใจ สามัคคีกันดีมาก การทำงานของครูที่เห็นตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา ไม่ใช่การทำตามคำสั่ง ไม่ใช่การทำงานตามหน้าที่แต่คุณครูที่นี่มีจิตอาสาเป็นอย่างมาก ภาพที่เห็นคือคุณครูทำงานกันอย่างเต็มที่มากกว่าคำสั่งที่ได้มอบหมายส่วนหนึ่งคิดว่าน่าจะมาจากวัฒนธรรมขององค์กรในโรงเรียนนี้คือคุณครูรุ่นพี่ที่อาวุโสนั้นเป็นตัวอย่างแบบอย่างที่ดีในการทำงานให้แก่คุณครู รุ่นน้อง คุณครูทุกคนจะใช้คำพูดเชิงบวกในการทํางานร่วมกัน รวมถึงการเรียนการสอนในห้องเรียนด้วย เคยมีคุณครูท่านหนึ่งสะท้อนให้ฟังว่า ตัวเขาเองไม่ชอบที่จะถูกว่า ถูกดุ หรือถูกตำหนิด้วยข้อความเชิงลบ และคนอื่นก็คงไม่ชอบด้วยเหมือนกัน ดังนั้นจึงเลือกที่จะพูดกันดีๆ ด้วยเหตุด้วยผล ทำงานเต็มที่สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ ผอ.รู้สึกประทับใจมาก และนั่นคือสิ่งที่ทำให้โรงเรียนมีความพร้อมในการขับเคลื่อนงานพื้นที่นวัตกรรมในระดับหนึ่ง

แล้วในห้องเรียนเป็นอย่างไร

ผ่านมาโรงเรียนมีการจัดการเรียนการสอนที่พยายามบูรณาการความเป็น Active Learning เข้าไปสู่ห้องเรียนผ่านชั่วโมงรายวิชาบูรณาการ ซึ่งก็สามารถทำได้ทุกชั้นเรียน ตั้งแต่ชั้นป. 1 ถึงชั้น ม. 3 บางรายวิชาที่ยังไม่พร้อมก็ยังคงสอนแบบเดิมไปก่อน ซึ่งจะได้พัฒนาและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกันต่อไปในอนาคต ในเทอมที่ผ่านมานั้นนักเรียนได้เรียนรู้วิธีการทำโครงงานในรายวิชาต่าง ๆ และนักเรียนจะได้นำเสนอโครงงานอาชีพ พร้อมผลงานในวันเปิดบ้านวิชาการของโรงเรียน โดยผลงานที่โดดเด่น อาทิเช่น โครงงานกกสานงานศิลป์ และโครงงาน STEM จนสามารถเป็นโครงงานที่เป็นตัวแทนโรงเรียนส่งเข้าประกวดในเวทีต่าง ๆ และตอนนี้โรงเรียนกำลังวางแผนจะให้นักเรียนทั้งหมดของเราได้นำเสนอโครงงาน ชิ้นงานของตนเอง พร้อมกันทั้งโรงเรียน ซึ่งจะเป็นการจัดงานใหญ่ของโรงเรียนเพื่อให้นักเรียนได้แสดงศักยภาพ และเป็นเวทีจัดแสดงผลงานความสำเร็จของนักเรียน สร้างคุณค่าให้กับสิ่งที่นักเรียนได้ลงมือทำมาตลอดทั้งภาคเรียน โดยโรงเรียนจะเชิญภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ปกครอง ชุมชน เอกชน และเทศบาล ให้เข้ามามีส่วนร่วมรับรู้ รับทราบถึงผลงานและความสำเร็จของนักเรียนที่เกิดขึ้น เป็นวิธีการการดึงความร่วมมือจากภาคีทุกภาคส่วนให้มาร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการจัดการศึกษาของโรงเรียนต่อไปในอนาคต

อนาคตคิดว่าจะพาโรงเรียนเดินต่ออย่างไร

โรงเรียนพยายามจะบูรณาการโครงการกิจกรรมต่าง ๆ ที่โรงเรียนต้องทำให้ สพฐ. ทุกเรื่องให้เชื่อมโยงกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อนของภาระงานครู พยายามจะให้ตอบโจทย์ทุกโครงการที่โรงเรียนต้องทำ เพราะสุดท้ายผลผลิตหรือผลลัพธ์ที่แต่ละโครงการต้องการก็คือผลที่เกิดขึ้นที่เด็กนักเรียนของเรา ในเรื่องของหลักสูตรตอนนี้ฝ่ายวิชาการเราได้ทำงานอย่างเข้มแข็งตลอดปีที่ผ่านมา จนทำให้โรงเรียนมีหลักสูตรฐานสมรรถนะเรียบร้อยแล้วซึ่งเป็นหลักสูตรที่โรงเรียนจะนำมาใช้ แต่ขณะนี้ ผอ. พบว่าคนที่เข้าใจเรื่องนี้นั้นมีเพียงเฉพาะฝ่ายวิชาการ ส่วนครูในโรงเรียนอีกหลายท่านยังไม่เข้าใจ จึงอาจเกิดความสับสนและไม่ชัดเจนในการนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเรื่องหลักสูตรไปในทิศทางเดียวกัน 

ซึ่งแต่เดิมทางโรงเรียนวางแผนไว้แล้วว่าช่วงปิดเทอมนี้ จะให้ฝ่ายวิชาจะชี้แจงทำความเข้าใจกับครูทุกคน ให้เข้าใจเรื่องหลักสูตรให้ตรงกันในการที่จะเขียนแผนการสอนหรือแผนการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนโดยใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะของ โรงเรียนเป็นหลักในการขับเคลื่อน โดยวางแผนว่าจะจัดประชุมทำกิจกรรมกลุ่มกับคุณครูในโรงเรียนทั้งหมด มาร่วมกันทำ PLC มา Focus Group โดยจะแบ่งกลุ่มย่อย ๆ กลุ่มละ 3-4 คน เพื่อที่สร้างความเข้าใจที่ชัดเจนตรงกัน ในการนำไปสู่การวางแผนการสอนที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งโรงเรียน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ครูทุกคนได้มีส่วนร่วม ได้แสดงความคิดเห็น โดยเป็นความคิดเห็นที่มาจากคุณครูทุกคน เพราะเชื่อว่าหากสิ่งที่โรงเรียนจะดำเนินการนั้นมาจากความคิดของคุณครู ก็จะทำให้เกิดการยอมรับในการทำงานร่วมกัน ครูทุกคนก็จะมีความสุขที่จะดำเนินงานไปด้วยกัน และพอมีสถานการณ์ไวรัสแพร่ระบาดนี้เราก็อาจจะปรับวิธีใหม่อาจจะเป็น Online หรืออะไรคงต้องคิดกันต่อไป แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไร ผอ.เชื่อว่าคุณครูโรงเรียนวัดท่าเรือแห่งนี้มีความเสียสละ มีจิตอาสา มุ่งมั่นอย่างเต็มที่และพร้อมที่จะร่วมกันขับเคลื่อนนำพาโรงเรียนให้บรรลุเป้าหมายตามเจตนารมณ์​แห่งการเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในที่สุด

ในตอนท้ายนี้ผู้เขียนขอขอบคุณ ดร.ปิยภัทร ทองพรม ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดท่าเรือ ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงภาพแห่งความงดงามที่เกิดขึ้นในโรงเรียนวัดท่าเรือให้ฟัง ซึ่งภาพที่ปรากฏจากการสัมภาษณ์นั้น ผู้เขียนหวังว่าจะทำให้สังคมได้รับรู้และเห็นถึงความพยายาม ความเอาใจใส่ ความเสียสละของทุกคนในโรงเรียนวัดท่าเรือ ที่มีความตั้งใจ มุ่งมั่นต้องการจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับระบบการศึกษาให้ดีขึ้นกว่าเดิมที่เป็นอยู่ การทำงานของคุณครูที่ทำเกินกว่าที่ได้รับมอบหมาย เกินกว่าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ความร่วมมือร่วมใจ สามัคคีกันในการทำงาน ผ่านการสื่อสารเชิงบวก เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูที่เราทุกคนในสังคมอยากเห็น และนี่คือเสียงสะท้อนที่เป็นสิ่งยืนยันว่าจิตวิญาณเหล่านี้ยังคงมีอยู่อย่างเข้มข้มที่โรงเรียนวัดท่าเรือแห่งนี้ หนึ่งในโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่เป็นส่วนสำคัญ มาร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงการศึกษาของประเทศเรา


ผู้เขียน: เก ประเสริฐสังข์
ผู้ให้สัมภาษณ์: ปิยภัทร ทองพรม ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดท่าเรือ จังหวัดระยอง
ผู้สัมภาษณ์: เก ประเสริฐสังข์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: โรงเรียนวัดท่าเรือ

Facebook Comments
โรงเรียนวัดตาขัน พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง เน้น Learning Outcome ให้เด็กเรียนรู้วิธีเรียน เปลี่ยนแปลงทั้งระบบด้วย 7 CHANGESโรงเรียนบ้านพยูน พื้นที่นวัตกรรมระยอง สอนเป็นทีม : PLC นิเทศในชั้นเรียน พัฒนาสมรรถนะผู้เรียนผ่านองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล
บทความล่าสุด