การเปลี่ยนแปลงโรงเรียนทั้งระบบ ดูเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก และต้องใช้เวลา โรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาไม่มีความโดดเด่นในด้านวิชาการ แม้บรรดาครูผู้สอนจะพยายามหาวิธีการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก รวมถึงการที่โรงเรียนต้องการจัดการเรียนการสอนในแบบฉบับของตนเอง จนเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้โรงเรียนบ้านพยูนเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
โรงเรียนบ้านพยูน อยู่ในตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง โรงเรียนแห่งนี้อยู่ห่างจากหาดพยูนประมาณ 100 เมตร บริเวณโรงเรียนประกอบด้วยสถานที่สำคัญ ๆ เช่น วัดชลธาราม เทศบาลตำบลบ้านฉาง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน ผู้ปกครองนักเรียนประกอบอาชีพประมงเรือเล็กและอาชีพรับจ้างทั่วไป ส่วนผู้ปกครองที่มีฐานะจะส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียนคุณภาพประจำอำเภอ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวชุมชนไปประมาณ 6 กิโลเมตร มีข้าราชการครูรวมทั้ง ผอ.โรงเรียน นายภัทรกร ศรีเสาวงศ์ รวม 8 คน ครูอัตราจ้าง 3 คน มีนักเรียนทั้งสิ้น 163 คน โรงเรียนสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 2 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จัดการเรียนการสอนภายใต้ School Concept คือ Marine Resource Conservation มุ่งสร้างผู้เรียนให้เป็นนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล
ผอ.ภัทรกร ศรีเสาวงศ์ ซึ่งบริหารโรงเรียนแห่งนี้มา 4 ปีแล้ว ได้นำพาคณะครูและนักเรียนทดลองจัดการศึกษารูปแบบใหม่ โดยเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในปี 2562 ผอ.ได้ชี้ให้เห็นถึงสภาพปัญหาที่โรงเรียนได้ประสบก่อนเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จุดหักเหที่ทำให้ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องฯ และสภาพปัจจุบันหลังจากเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องฯแล้ว ซึ่งสามารถสรุปให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงบางส่วนของโรงเรียนบ้านพยูน ดังนี้
1. สภาพปัญหาที่โรงเรียนประสบก่อนเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
ทั้งผอ.และคณะครูได้พยายามพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา โดยประชุมร่วมกันเพื่อหาวิธีการยกระดับผลสัมฤทธิ์ผู้เรียน ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ทักษะ และเจตคติ แต่สุดท้ายได้บทสรุปของวิธีการซึ่งวนกลับมาที่เดิม ณ จุดที่ยังไม่สามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนให้เป็นที่น่าพอใจเหมือนเช่นที่ผ่านมา เพียงแค่เพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินการให้มากขึ้น เช่น สอนเน้นเนื้อหาให้มากขึ้น เสียสละเวลามาสอนเนื้อหาในวันหยุด ซึ่งผู้เรียนเองก็ยังมองไม่เห็นว่าความรู้ที่ได้จะนำไปใช้ทำอะไรได้บ้าง
2. การตัดสินใจเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
หลังจาก ผอ.ภัทรกร ศรีเสาวงศ์ เข้ามาบริหารโรงเรียนแห่งนี้ ทำให้มองเห็นปัญหาด้านการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ต่อมาไม่นานได้รับทราบเกี่ยวกับแนวคิดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จึงมองเห็นว่าพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นโอกาสให้โรงเรียนบ้านพยูนได้ทดลองเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาที่จะทำให้นักเรียนมีเป้าหมายในการเรียนชัดเจนขึ้น ในขณะที่ครูก็จะมีเป้าหมายในการสอนที่ชัดเจนขึ้นเช่นกัน หลังจากที่ผ่านมาผอ.และคณะครูได้พยายามหาวิธีการยกระดับผลสัมฤทธิ์ผู้เรียน แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร นอกจากนั้น โรงเรียนบ้านพยูนต้องการจัดการเรียนการสอนในแบบฉบับของตนเองที่สามารถพัฒนาคุณภาพผู้เรียนซึ่งปฏิบัติแล้วเห็นผลจริง
สภาพปัจจุบันหลังจากเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
การบริหารการศึกษา
ผอ.ภัทรกร ศรีเสาวงศ์ ได้พยายามปรับ Mindset ของครูเกี่ยวกับความเข้าใจใน 3 เรื่อง คือ เหตุผลที่ต้องเปลี่ยนแปลงโรงเรียน เหตุผลที่ต้องเปลี่ยนวิธีการสอน และเจตนารมณ์ของการปรับใช้หลักสูตร
การจัดการเรียนการสอน
การจัดการเรียนการสอนวิธีการใหม่ ใช้กระบวนการ 4.0 Whole School Transform ซึ่งจะนำไปใช้ในปีการศึกษา 2563 โดยดำเนินการเต็มรูปแบบ เพราะครูเริ่มเข้าใจกระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ วิธีการดังกล่าว ผอ.ภัทรกร ศรีเสาวงศ์ ได้เล่าให้ฟังบางส่วน สรุปได้ว่า
1) การออกแบบการเรียนรู้ โดยให้ครูกำหนดเป้าหมายเป็นอันดับแรกก่อนว่าเมื่อเรียนแล้ว ผู้เรียนจะได้อะไรหรือนำไปใช้อะไรได้บ้าง จากนั้นครูจึงออกแบบกระบวนการเรียนรู้
2) การสอนเป็นทีม โดยใช้กระบวนการ PLC และการนิเทศในชั้นเรียนเพื่อการเปลี่ยนแปลง [CSC : Classroom Supervision to Change] ทำให้ครูได้ช่วยกันคิดกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพแบบ Active Learning ร่วมสังเกตการณ์ขณะทำการสอน ท้ายที่สุด นำสิ่งที่ผู้เรียนสะท้อนคิดและผลจากการสังเกตการณ์การจัดการเรียนการสอนมาร่วมกันทำ AAR (After Action & Review) ว่าผลที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ และช่วยกันวางแผนว่าจะสามารถปรับปรุง/พัฒนาผู้เรียนได้อย่างไร
ลักษณะการสอนเป็นทีม แบ่งการสอนออกเป็น 2 ช่วงชั้น คือ
ก. ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ให้ครูทดลองสอน โดยครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งสอนภาษาไทยเป็นหลัก จะทดลองออกแบบการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย ครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 สอนวิชาวิทยาศาสตร์เป็นหลัก จะทดลองออกแบบการจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 สอนวิชาภาษาอังกฤษเป็นหลักจะทดลองออกแบบการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ หลังจากครูทั้ง 3 คนออกแบบการจัดการเรียนการสอนของตนเอง แล้วมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน โดยครูแต่ละคนเล่าเป้าหมาย/กระบวนการ/วิธีการวัดและประเมินของตนเอง จากนั้นให้ครูแต่ละคนช่วยกันวิเคราะห์การออกแบบการจัดการเรียนการสอนเหล่านั้น ว่ามีส่วนใดที่ต้องปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ อย่างไร แล้วจึงเพิ่มกระบวนการเข้าไปให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ข. ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ด้วยวิธี problem-based Learning ในการออกแบบหน่วยการเรียนรู้ โรงเรียนได้ทดลองโดยการสอนเพาะเห็ดนางฟ้า ครูจึงร่วมกันออกแบบการเรียนรู้โดยแบ่งออกเป็น 6 หน่วยการเรียนรู้ ให้ครอบคลุมองค์ความรู้ทั้งหมดในการเพาะเห็ดฟาง (บูรณาการสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์, การงานอาชีพและเทคโนโลยี, สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม และ ศิลปะ) ได้แก่ ชนิดของเห็ดและการเจริญเติบโต (สาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์) การศึกษาดูงานโรงเพาะเห็ด / สัมภาษณ์ / ลงมือปฏิบัติ (สาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์, สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม และ การงานอาชีพและเทคโนโลยี) การสร้างโรงเรือนเพาะเห็ดและการจัดสภาพแวดล้อม (สาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี) การเพาะเชื้อเห็ดในถุงและการเจริญเติบโต (สาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์) การดูแลรักษาและการจำหน่าย (สาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี) การแปรรูปผลิตภัณฑ์ (สาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี) หลังจากนั้นจึงให้ผู้เรียนเข้าไปเรียนรู้ นักเรียนได้ใช้กระบวนการกลุ่มในการเรียนรู้ การสรุปความรู้โดยใช้ผังมโนทัศน์ การออกแบบและการนำเสนองาน การสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง การลงมือปฏิบัติจริง และการถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน
ปัญหา อุปสรรค ครูบรรจุใหม่ของโรงเรียนบ้านพยูนมักจะสอนเน้นเนื้อหาตามตัวชี้วัด ผอ.ภัทรกร ศรีเสาวงศ์ จึงต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการปรับเปลี่ยน Mindset จากการสอนตามตัวชี้วัดมาสอนโดยยึดเป้าหมายผู้เรียนเป็นหลักและสร้างประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียนจนเกิดเป็นสมรรถนะ และพัฒนาการเรียนการสอนให้ได้ตาม School Concept ของโรงเรียน พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงโรงเรียน
ความสำเร็จที่ต้องการสืบสานต่อ โรงเรียนบ้านพยูนต้องการจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีการใหม่อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเห็นความชัดเจนเรื่อง School Concept ของโรงเรียนแล้วว่า สามารถพัฒนาผู้เรียนตามแนวทางนี้ได้ และสามารถส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กเป็นนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้
การจัดการศึกษาฐานสมรรถนะ
หลักสูตรฐานสมรรถนะ โรงเรียนแห่งนี้ ได้พัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะเสร็จสิ้นแล้ว จะดำเนินการแจ้งผู้ปกครองเกี่ยวกับการใช้หลักสูตรนี้ ในหลักสูตรได้ใช้การบูรณาการการเรียนรู้โดยใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลในการพัฒนาผู้เรียน เพื่อให้บรรลุตาม School Concept ของโรงเรียน หลักสูตรดังกล่าวมุ่งพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน 10 ด้าน ได้แก่ 1) การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารและความเป็นไทย
2) คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน
3) การสืบสอบทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์
4) การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
5) ทักษะการคิดชั้นสูงและนวัตกรรม
6) การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล
7) ทักษะชีวิตและความเจริญแห่งตน
8) ทักษะอาชีพและการเรียนรู้
9) การทำงานแบบรวมพลังเป็นทีมและภาวะผู้นำ
10) พลเมืองมีส่วนร่วมและสำนึกสากล
การจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ โรงเรียนใช้กระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้น (5 STEPs) บูรณาการนำหน่วยการเรียนรู้มารวมกันก่อน แล้ววิเคราะห์ว่าหน่วยการเรียนรู้นี้สอดคล้องกับสมรรถนะใดบ้าง หรือสอดคล้องกับวิชาใดบ้างแล้วจึงออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน
การประเมินฐานสมรรถนะ โรงเรียนได้ใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ในการทดลองจัดการเรียนการสอนบูรณาการเรื่องการเพาะเห็ด หรือพิจารณาก่อนว่าการจัดกิจกรรมการเรียนรู้นั้น ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ใดได้บ้าง เช่น ทำให้เด็กสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ แล้วจึงจัดกระบวนการเรียนรู้ ความสำเร็จใน 6 สัปดาห์นี้ ผอ.ภัทรกร ศรีเสาวงศ์ กล่าวว่า ได้ประเมินเพื่อดูว่าผู้เรียนนำสมรรถนะไปใช้ได้จริงมากน้อยเพียงใด แต่เป็นการประเมินเพื่อความก้าวหน้า ไม่ได้ประเมินถึงผลสำเร็จโดยตรง และประเมินความเหมาะสมเบื้องต้นต่อการใช้ศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลในการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ซึ่งพบว่า เป็นฐานความรู้ที่สามารถพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนโรงเรียนบ้านพยูนได้จริง
การบริหารงานบุคคล
เนื่องจากโรงเรียนบ้านพยูนใช้ศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน จึงก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคที่สำคัญ คือ การคัดเลือกครูแบบเดิมไม่เหมาะสมต่อการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านพยูน เนื่องจากไม่สามารถคัดเลือกครูทีี่มีคุณสมบัติด้านความรู้ที่เหมาะสมสอดคล้องตาม School Concept ของโรงเรียน นอกจากนั้น ยังเกิดปัญหาครูไม่เพียงพอ
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน
ผู้เรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียนมากขึ้น มีทักษะกระบวนการกลุ่มที่ดีขึ้น กล้าแสดงออกมากขึ้น เนื่องจากการออกแบบกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ที่โรงเรียนบ้านพยูนได้นำมาใช้ ทำให้ผู้เรียนได้วางแผนการเรียนรู้ของตนเองและมีโอกาสนำเสนอในสิ่งที่ผู้เรียนคิด ถึงแม้โรงเรียนจะเดินหน้าขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นในปีการศึกษา 2563 ก็ตาม เนื่องด้วยปัญหาอุปสรรคในปีที่ผ่านมา แต่ทั้งผอ.และคณะครูต่างมีความพยายามและทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างเต็มที่ และครูพึ่งเริ่มคุ้นเคยกับวิธีการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่และพึ่งเข้าใจถึงความสำคัญของการสอนแบบเป็นทีมและการใช้วิธีสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้
โรงเรียนบ้านพยูน ประสบปัญหาในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน แม้ได้พยายามแก้ปัญหา แต่ก็ยังแก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด เป็นโรงเรียนที่ผู้ปกครองในท้องถิ่นไม่นิยมส่งลูกหลานมาเรียน อย่างไรก็ตาม ด้วยความกล้าเปลี่ยนแปลง กล้าทดลองสิ่งใหม่ ๆ ของผู้บริหารโรงเรียนอย่าง ผอ.ภัทรกร ศรีเสาวงศ์ จึงนำพาคณะครูซึ่งต่างมีความมุ่งมั่นทุ่มเทแรงกายแรงใจต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นทุนเดิมอยู่แล้วเข้าสู่การทดลองจัดการศึกษาแบบใหม่ ตามแบบฉบับที่โรงเรียนบ้านพยูนต้องการด้วยการเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หลังจากนั้น ได้ใช้วิธีการจัดการเรียนการสอนหลายรูปแบบ หลายวิธีการ ที่เด่นชัดคือ การสอนเป็นทีม และการใช้วิทยาศาสตร์ทางทะเลเป็นฐานในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนผ่านหลักสูตรสถานศึกษาซึ่งกำลังจะปรับเปลี่ยนเป็นหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ จนผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลง มีความกระตือรือร้นในการเรียนมากขึ้น มีทักษะกระบวนการกลุ่มที่ดีขึ้น กล้าแสดงออกมากขึ้น
โจทย์ที่ท้าทายต่อไป คือ การจัดการศึกษาแนวทางนี้ นอกจากสามารถพัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้แล้ว จะสามารถทำให้ผู้ปกครองในท้องถิ่นส่งลูกหลานมาเรียนในโรงเรียนบ้านพยูนมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่
ผู้เขียน: อุมาภรณ์ พัฒนะนาวีกุล, ภัทรกร ศรีเสาวงศ์
ผู้ให้สัมภาษณ์: ภัทรกร ศรีเสาวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านพยูน จังหวัดระยอง
ผู้สัมภาษณ์: อุมาภรณ์ พัฒนะนาวีกุล
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: โรงเรียนบ้านพยูน