โรงเรียนบ้านท่าเสา พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง มุ่งจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพผ่านนวัตกรรมจิตศึกษา PBL เพราะครูที่มีคุณภาพ ย่อมนำไปสู่เด็กที่มีคุณภาพ

21 เมษายน 2020

โรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง ใช้นวัตกรรมจิตศึกษา รูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน และโครงงานเป็นฐาน และกระบวนการ PLC ของครู ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนมาอย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาครู เพราะถือว่าครูเป็นกลไกสำคัญที่สุดในการสร้างเด็กที่มีคุณภาพ มีสมรรถนะ โรงเรียนที่กล่าวถึงนี้คือ…โรงเรียนบ้านท่าเสา

โรงเรียนบ้านท่าเสา ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลหนองบัว อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 1 มีนักเรียนจำนวน 131 คน บริหารโรงเรียนโดย ผอ.สุรีย์พร  เฮงฮะ มีครูประจำการ 7 คน ครูจ้างสอน 1 คน และธุรการ 1 คน

สภาพบริบทโรงเรียน เป็นชุมชนที่ประกอบอาชีพกรีดยาง ปลูกพืชผัก ปลูกสับปะรด รอบ ๆ โรงเรียนไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม โรงเรียนอยู่ติดเขตวังจันทร์ซึ่งเป็นแนวรอยต่อของจังหวัดชลบุรี จัดการเรียนรู้โดยมุ่งผลลัพธ์ให้เกิดแก่ผู้เรียนตาม School Concept ของโรงเรียน คือ Bio economy Sufficient School หรือ โรงเรียนมุ่งสร้าง “นักเศรษฐกิจชีวภาพ รักษ์สิ่งแวดล้อม น้อมนำศาสตร์พระราชา”

ผอ.สุรีย์พร  เฮงฮะ บริหารโรงเรียนบ้านท่าเสาได้เพียง 3 ปี เพิ่งมาเรียนรู้นวัตกรรมการศึกษาที่โรงเรียนใช้อยู่ก่อนแล้ว คือ จิตศึกษา และรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานและโครงงานเป็นฐาน รวมทั้งกระบวนการ PLC เมื่อเห็นว่าเป็นนวัตกรรมและรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะศตวรรษที่ 21 ได้จริง แต่ก็ยังพบว่าครูในโรงเรียนยังต้องได้รับการพัฒนาทักษะความสามารถด้านการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ จึงนำพาโรงเรียนบ้านท่าเสาเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งผอ.ยังเน้นย้ำอีกว่า ต้องการทำให้นวัตกรรมและรูปแบบการจัดการเรียนรู้ดังกล่าวมีความเด่นชัดมากขึ้นจากการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพของครู

นอกจากนั้น ผอ.ยังได้เล่าถึงความคาดหวังต่อการเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานหลังจากเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่อง ซึ่งผอ. ได้ถ่ายทอดเรื่องราวในแง่มุมต่าง ๆ สรุปประเด็นได้ ดังนี้

1. ความคาดหวังต่อพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

โรงเรียนบ้านท่าเสาได้ใช้นวัตกรรมการศึกษามาตั้งแต่ก่อนเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยนำนวัตกรรมของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ได้แก่ จิตศึกษา ซึ่งโรงเรียนบ้านท่าเสาเห็นเป็นแนวปฏิบัติที่ดี จึงได้นำมาใช้ยกระดับคุณภาพผู้เรียนตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน และยังได้นำรูปแบบการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน, การเรียนรู้แบบโครงงาน และกิจกรรม PLC มาใช้ในกระบวนการจัดการเรียนรู้ การเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของโรงเรียนบ้านท่าเสายังคงต้องการสืบสานนวัตกรรมและรูปแบบการเรียนรู้เหล่านี้ต่อไป เนื่องจากพบว่าสามารถใช้พัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะศตวรรษที่ 21 ได้จริง

ผอ.สุรีย์พร  เฮงฮะ คาดหวังว่าพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะช่วยเสริมสร้างให้ครูและผอ.มีความสามารถออกแบบกระบวนการเรียนรู้โดยใช้นวัตกรรมจิตศึกษาและรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน การจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน ไม่ว่าจะด้วยการพัฒนาอบรมบุคลากร เนื่องจากครูในโรงเรียนเป็นครูใหม่ทั้งหมด ยังต้องได้รับการพัฒนาความสามารถ ทักษะ ในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ รวมทั้งการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน เพราะเป้าหมายต่อตัวเด็กคือเป้าหมายแรก แต่เด็กจะบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นไม่ได้เลยหากครูและผู้บริหารโรงเรียนไม่ร่วมกันออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ผอ.จึงพาคิดพาทำ สวมบทบาทเป็น Super Coach

2. การดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

2.1 นวัตกรรมการศึกษาที่นำมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

นวัตกรรมที่โรงเรียนบ้านท่าเสาใช้ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้มีสมรรถนะ และทักษะในศตวรรษที่ 21 มีโรงเรียนต้นแบบ คือ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ได้แก่ กิจกรรมจิตศึกษา นอกจากนั้น ยังใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้แบบบูรการโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning : PBL) การเรียนรู้แบบโครงงาน (Project-Based Learning)  และกิจกรรม PLC อีกทั้ง ปีการศึกษา 2561 ได้ส่งเสริมกิจกรรมที่สร้างให้ผู้เรียนมีทักษะชีวิตและอาชีพ คือ หนึ่งห้องเรียนหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OCOP) รายละเอียดดังนี้

1. กิจกรรมจิตศึกษา
ผอ.สุรีย์พร เฮงฮะ ได้บอกเล่าว่า จิตศึกษาเป็นการพัฒนาปัญญาภายในตัวเด็ก ทั้งความฉลาดทางด้านจิตวิญญาณ (Spiritual Quotient : SQ) และความฉลาดทางด้านอารมณ์ (Emotional Quotient : EQ) โดยครูและผอ.โรงเรียนร่วมกันจัดกิจกรรมกับเด็กในคาบ “จิตศึกษา” ในภาคเช้าทุกวันหลังเข้าแถวเคารพธงชาติ ใช้เวลาประมาณ 20 นาที ก่อนจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตัวอย่างกิจกรรม เช่น กิจกรรมที่มุ่งให้เกิดความสงบภายในและการผ่อนคลาย มีสมาธิ ด้วยการเปิดเสียงดนตรีที่มีลักษณะของคลื่นความถี่ต่ำ เหนี่ยวนำคลื่นสมองให้มีความถี่ต่ำลง, การทำโยคะ เพื่อบริหารอวัยวะภายในและเพื่อบริหารลมหายใจ, กิจกรรมที่มุ่งให้เกิดสติ เช่น การเดินตามรอยเท้า การเดินต่อเท้าตามเส้นตรง, กิจกรรมที่มุ่งให้เกิดการเพาะจิตสำนึกที่ดีงาม เล่านิทาน เรื่องเล่า การใช้คำที่ให้พลังด้านบวก การเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้อื่น และ การทำ Body Scan หลังจากเด็กรับประทานอาหารกลางวันและทำธุระเสร็จสิ้นแล้ว ให้เด็กนอนนิ่ง ๆ ประมาณ 15 นาที เปิดเสียงดนตรีที่มีลักษณะของคลื่นความถี่ต่ำ มีเพื่อนนั่งเล่านิทานหรืออ่านหนังสือให้ฟัง เป็นต้น

2. การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning : PBL)
เป็นการบูรณาการสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ,ศิลปะ, สุขศึกษาและพลศึกษา และการงานอาชีพและเทคโนโลยี โดยที่วิชาหลัก ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ยังคงจัดการเรียนรู้ตามปกติ มีเครือข่ายผู้ปกครองร่วมกันประเมินผลงาน ชิ้นงาน การนำเสนอผลงานที่นักเรียนได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริงในแต่ละ Quarter ซึ่งการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการรายวิชา มีการแบ่งเป็น Quarter ใน 1 ปีการศึกษามี 4 Quarter (2 Quarter/ภาคเรียน) แต่ละ Quarter ใช้เวลา 8-10 สัปดาห์ ครูและนักเรียนทำกิจกรรมร่วมกัน ดังนี้ สร้างแรงบันดาลใจ, ทำปฏิทินการเรียนรู้/ตั้งชื่อหน่วยการเรียนรู้, ออกแบบการเรียนรู้แต่ละสัปดาห์ร่วมกัน, ทำกิจกรรม ผลงาน ชิ้นงาน และร่วมกันสรุปการเรียนรู้ /นำเสนอปิด Quarter

3. การจัดการเรียนรู้แบบโครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning : PBL)
โรงเรียนบ้านท่าเสาจัดการเรียนรู้แบบโครงงานเป็นฐานให้แก่นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 โดยมีเครือข่ายผู้ปกครองร่วมเป็นที่ปรึกษาด้วย อีกทั้งมีส่วนร่วมในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียน จัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม ๆ ละ 3-4 คน คละกันระหว่างนักเรียนระดับชั้น ป.4-6 ร่วมกันวางแผน ออกแบบ ศึกษาค้นคว้า ในเรื่องที่อยากรู้ และลงมือทำ จัดเก็บข้อมูล สร้างสรรค์ผลงานชิ้นงาน นวัตกรรม และนำเสนอผลการเรียนรู้

2.2. การดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาตาม School Concept ของโรงเรียน

โรงเรียนบ้านท่าเสา จัดการเรียนรู้เพื่อมุ่งผลลัพธ์ผู้เรียนตาม School Concept ของโรงเรียน ซึ่งโดยสภาพชุมชนโรงเรียนบ้านท่าเสาส่วนใหญ่ประกอบอาชีพกรีดยาง ปลูกพืชผัก ปลูกสับปะรด บางบ้านก็ปลูกข้าวโพด อย่างไรก็ตาม โรงเรียนมีพื้นที่ไม่เพียงพอกับการสอนปลูกยาง หรือหากจะสอนให้เด็กปลูกยาง กว่ายางจะออกผลผลิต เด็กก็จบการศึกษาไปแล้ว ครูจึงพาเด็กไปเรียนรู้การกรีดยางจากแหล่งปลูกยางหลังสวนโรงเรียน เด็กต้องได้เรียนรู้ว่าชุมชนรอบตัวเป็นอย่างไร ผู้ปกครองก็มีส่วนในการสอนด้วย จากการที่ครูวางแผนการเรียนรู้ก่อน เพื่อให้รู้ว่าจะสอนเรื่องใดบ้าง สอนอย่างไร เมื่อถึงวาระที่โรงเรียนเชิญประชุมผู้ปกครอง ครูได้มีโอกาสร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้ปกครอง มีการสอบถามความสมัครใจจากผู้ปกครองในการอาสามาสอนเด็กในเรื่องที่ผู้ปกครองมีความสามารถหรือมีความถนัด ในสิ่งที่ครูในโรงเรียนไม่มีความถนัดในเรื่องนั้น ๆ อีกทั้ง เป็นโรงเรียนประถมศึกษา ดังนั้น การสอนให้เด็กมีชีวิตอยู่กับสภาพความเป็นจริงโดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุด โรงเรียนจึงพิจารณาแล้ว เห็นว่าควรมุ่งเน้นผลลัพธ์เด็กโรงเรียนบ้านท่าเสาตาม School Concept นี้ โดยเน้นโครงงาน กิจกรรม หนึ่งห้องเรียนหนึ่งผลิตภัณฑ์ รายละเอียดกิจกรรมสรุปได้ดังนี้

กิจกรรมหนึ่งห้องเรียนหนึ่งผลิตภัณฑ์ (One Classroom One Product : OCOP)

เป็นกิจกรรมที่ให้ครูและนักเรียนเรียนรู้ร่วมกันในรูปแบบการใช้ปัญหาเป็นฐาน ให้ผู้เรียนร่วมกันออกแบบการเรียนรู้ ฝึกทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และการเป็นผู้ประกอบการ การทำบัญชีรายรับรายจ่าย กิจกรรมเริ่มจาก ศึกษาความพร้อมในการเรียนรู้จากรากฐานของโรงเรียน แหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจ และแหล่งเรียนรู้ในชุมชน จากนั้นวางแผนการสร้างผลิตภัณฑ์ นักเรียนและครูร่วมกันศึกษากระบวนการทำนวัตกรรมที่เลือก โดยมีครูเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ นักเรียนนำผลิตภัณฑ์ที่สร้างขึ้นไปให้คณะครู ผู้บริหาร และเพื่อนนักเรียนประเมิน และให้แนวทางการปรับปรุงแก้ไข ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขผลิตภัณฑ์หลายครั้งจนได้ “วิธีการปฏิบัติที่ดีในการสร้างนวัตกรรม” ของห้องเรียน โดยบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และจัดนิทรรศการ ในตอนท้ายครูและนักเรียนออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อจัดจำหน่ายในตลาดนัดเถ้าแก่น้อยของโรงเรียน และงานวิชาการ เสนอผู้ปกครองและชุมชน นำผลิตภัณฑ์ขาย ซึ่งหลีกเลี่ยงและลดใช้พลาสติกและโฟม เพื่อลดปัญหาโลกร้อน

2.3 กลไกการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา

ในปี 2562 กสศ. (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) ได้ให้การสนับสนุนการอบรมพัฒนาครูผ่านมูลนิธิลำปลายมาศ โดยให้ครูไปศึกษาแบบอย่างที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา และอบรมทำแผนการจัดการเรียนรู้ เนื่องจากครูโรงเรียนบ้านท่าเสาเป็นครูบรรจุใหม่ นอกจากนั้นโรงเรียนยังมีเครือข่ายโรงเรียนที่ใช้นวัตกรรมเดียวกัน คือ จิตศึกษา PBL ซึ่งมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ PLN ด้วยการที่โรงเรียนในเครือข่ายประกอบด้วยผู้อำนวยการและตัวแทนครู ร่วมสังเกตการสอน PBL และการจัดกิจกรรมจิตศึกษาของโรงเรียนเครือข่ายทุกแห่งสลับกันจนครบ มีการใช้คำพูดเชิงบวกในการให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงพัฒนาต่อกัน เช่น “จะดีกว่านี้นะ ถ้าเราปรับเปลี่ยนแบบนี้” หรือ “จะดีกว่านี้ถ้า….” โรงเรียนบ้านท่าเสา จึงใช้จิตวิทยาเชิงบวกในการบริหารจัดการศึกษา ใช้คำพูดเชิงบวก ไม่ใช้คำพูดทางลบ

2.4 การศึกษาฐานสมรรถนะ

หลักสูตรฐานสมรรถนะ
โรงเรียนบ้านท่าเสาอยู่ระหว่างการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ สำเร็จไปแล้วประมาณ 50% ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2563

การจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ
ผอ.สุรีย์พร  เฮงฮะ ชี้ให้เห็นว่า ทุกเรื่องที่โรงเรียนสอน เด็กเกิดสมรรถนะทั้ง 10 สมรรถนะ เด็กนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กิจกรรมจิตศึกษา ครูนำเรื่องในชีวิตประจำวันหรือเรื่องใกล้ตัวเด็กไปใช้ในกิจกรรม ให้เด็กทำทุกอย่างเป็นวิถี สำหรับสมรรถนะของเด็กโรงเรียนบ้านท่าเสาที่โดดเด่น คือ สมรรถนะการทำงานเป็นทีม เพราะพี่จะทำงานกับน้องตลอดเวลา ยกตัวอย่าง กิจกรรมค่าย DAY CAMP จะผสมผสานกันระหว่างพี่กับน้อง ตั้งแต่อนุบาลจนถึงชั้น ป.6 เมื่อพี่ไปด้วย ก็ต้องนำน้องกลับมาพร้อมกันให้ได้ครบ ต้องดูแลน้องให้ได้ และพี่ ๆ ก็สามารถทำสำเร็จทุกครั้งด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งเด็กรุ่นพี่โรงเรียนบ้านท่าเสาถือว่ามีสมรรถนะภาวะผู้นำอีกด้วย ทั้งนี้สมรรถนะที่เด็กโรงเรียนบ้านท่าเสาควรได้รับการพัฒนาเพิ่มเติม คือ การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร

4. ผลที่เกิดขึ้นต่อผู้เกี่ยวข้อง

ผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียน

นอกจากจิตศึกษาแล้ว โรงเรียนบ้านท่าเสายังใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน จัดการเรียนรู้เป็น Quarter การจัดการเรียนรู้แบบ PBL เริ่มจากสร้างคำถามให้เด็ก ให้เด็กได้ค้นคว้าโดยใช้ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี ต้องออกแบบกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง ลงพื้นที่เรียนรู้กับชุมชน ซึ่งจะต้องทำให้สำเร็จภายใน 10 สัปดาห์ จากนั้น ผู้ปกครองจะมีส่วนเข้ามาประเมินผลงานที่เด็กนำมาเสนอ ร่วมให้ข้อเสนอแนะ และชื่นชมความสำเร็จของเด็ก

ส่วนการทำโครงงาน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จะได้ทำโครงงานร่วมกันใน 1 กลุ่ม ทำให้เด็กเกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน ได้ฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม แบ่งหน้าที่กันทำงาน ต้องรับผิดชอบร่วมกันจนกว่างานจะสำเร็จ ได้ฝึกทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี จากการใช้คอมพิวเตอร์ค้นคว้าหาข้อมูล นอกจากนั้น โรงเรียนยังกำหนดให้ครูกับเด็กทุกห้องเรียนร่วมกันทำโครงงาน 1 ห้องเรียน 1 นวัตกรรม ก่อนทำโครงงาน ครูต้องถามเด็กก่อนว่า อยากเรียนรู้เรื่องอะไรที่หาง่ายในท้องถิ่น ทำง่าย ทำแล้วสร้างรายได้ เพื่อสร้างทักษะชีวิต/ทักษะอาชีพให้กับเด็ก ชื้นงานที่ได้จากโครงงาน เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร ต้องผ่านการประเมินและให้ feedback จากครูหลายท่าน จากเพื่อน และจากผอ.รร. แล้วจึงนำไปปรับปรุงแก้ไขพัฒนาให้ดีขึ้น จนสามารถผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ได้

ผลที่เกิดขึ้นกับครู

ครูได้รับการพัฒนาความสามารถในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีความกระตือรือร้นในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เด็กเกิดผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่วางไว้

ผลที่เกิดขึ้นกับผู้ปกครอง

ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของโรงเรียนมากขึ้น เช่น กิจกรรมในช่วงการปิด Quarter ด้วยการเข้ามาประเมินเด็กในแต่ละ Quarter โรงเรียนกำหนดว่าทุกห้องเรียนขอให้มีเครือข่ายผู้ปกครองร่วมประเมิน อย่างน้อยต้องมีผู้ปกครอง 8 คน

ผลที่เกิดขึ้นกับผู้บริหารโรงเรียน 

ก่อนหน้าที่ ผอ.สุรีย์พร  เฮงฮะ จะเข้ามาบริหารโรงเรียนแห่งนี้ ผอ.ไม่ได้ใช้นวัตกรรมจิตศึกษา เมื่อมาบริหารที่โรงเรียนบ้านท่าเสา พบว่า นวัตกรรมนี้และรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานและโครงงานเป็นฐาน สามารถส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็กได้ ทำให้ ผอ.ต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองในเรื่องเหล่านี้ เพื่อต้องการให้ตนเองออกแบบกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับครูได้

ผลการเรียนรู้เรื่องการออกแบบกระบวนการเรียนรู้โครงงาน ทำให้ ผอ.สุรีย์พร  เฮงฮะ นำสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้มาใช้ในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้โครงงานให้กับเด็ก วิธีการที่ผอ.ใช้ คือ ผอ.มีตารางเปล่ามาให้ แต่ให้เด็กสร้างปฏิทินงานเอง และร่วมพูดคุยกับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระยะเวลาที่ต้องใช้ทำโครงงาน ในสัปดาห์นี้ควรจะทำอะไร ใช้เวลานานเท่าใดในการหาเอกสารอ้างอิงบทที่ 2 ให้เด็กร่วมกันออกแบบคิดหัวข้อ โดยมี ผอ.เป็นผู้คอยชี้แนะ

ผลที่เกิดขึ้นกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ผ่านการนิเทศ ติดตาม และให้กำลังใจ

5. ความสำเร็จที่เกิดขึ้น และ ปัญหา อุปสรรคและวิธีการแก้ไข

ความสำเร็จที่เกิดขึ้น

ผอ.สุรีย์พร  เฮงฮะ ได้กล่าวถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรม สรุปได้ว่า แม้การดำเนินงานถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งทั้งในเรื่องผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเด็ก ครู แต่ความสำเร็จนี้ก็ยังต้องได้รับการพัฒนาต่อไปในประเด็นเกี่ยวกับการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้ครูสามารถดึงศักยภาพเด็กออกมาให้ได้มากที่สุด ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้ท้าทายความสามารถเด็กมากขึ้น โดยคณะครูต้องร่วมกันพูดคุยปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการออกแบบกระบวนการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการ PLC

ปัญหา อุปสรรคและวิธีการแก้ไข

ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น คือ การพาเด็กออกไปเรียนรู้ ณ แหล่งเรียนรู้ภายนอกน้อยเกินไป เมื่อลองออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กออกไปเรียนรู้ ณ แหล่งเรียนรู้ภายนอกให้มากขึ้น แต่ก็พบว่ามีข้อจำกัดด้านงบประมาณ โรงเรียนจึงแก้ปัญหาด้วยการให้เด็กใช้อินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งเรียนรู้แทนการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ภายนอก

6. แนวทางดำเนินการต่อไปในอนาคต

            6.1 การปรับหลักสูตรให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะให้เสร็จสมบูรณ์
            6.2 ให้มีการอบรมพัฒนาความสามารถครูด้านการออกแบบกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

โรงเรียนบ้านท่าเสา มีผอ.โรงเรียนที่เพิ่งเข้ามาบริหารโรงเรียนได้ไม่นาน ได้ทำความเข้าใจ ศึกษา นวัตกรรมที่โรงเรียนใช้พัฒนาเด็กมาก่อนหน้านั้น และมีความตั้งใจที่จะทำให้นวัตกรรม และรูปแบบการจัดการเรียนรู้บางอย่างมีความเด่นชัดขึ้นผ่านการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูด้านการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะทำให้ได้เป้าหมายปลายทางคือตัวเด็กที่มีคุณภาพ มีสมรรถนะ พัฒนาเด็กด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา การจัดการเรียนรู้แบบ PBL ใช้จิตวิทยาเชิงบวกในการจัดการศึกษาซึ่งเป็นผลจากการนำนวัตกรรมจิตศึกษามาใช้ และกำลังจะก้าวเข้าสู่การใช้หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะในอีกไม่นาน

หลาย ๆ กิจกรรมการเรียนรู้ที่ ผอ.สุรีย์พร  เฮงฮะ ลงมือจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กด้วยตนเอง เช่น การทำโครงงาน กิจกรรมจิตศึกษา และเป็นผู้นำครู พาคิดพาทำ ในเรื่องต่าง ๆ ครูตั้งใจออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาทั้งในบทบาทครูผู้สอนในเรื่องที่โรงเรียนไม่ถนัดและเป็นผู้ประเมินเด็กอีกด้วย …… เรื่องราวเหล่านี้ เป็นเพียงบางส่วนของการจัดการศึกษาของโรงเรียนบ้านท่าเสา ทำให้มองเห็นภาพว่า ยังคงมีกิจกรรมการเรียนรู้อีกมากมายที่ ผอ.สุรีย์พร  เฮงฮะ ถ่ายทอดเรื่องราวออกมาไม่หมด น่าสนใจและน่าติดตามไม่น้อย กับโรงเรียนที่แวดล้อมด้วยชุมชนการเกษตร มีห้องเรียนเพียง 8 ห้อง และครู 8 คน แห่งนี้


ผู้เขียน: อุมาภรณ์ พัฒนะนาวีกุล, สุรีย์พร เฮงฮะ
ผู้ให้สัมภาษณ์: สุรีย์พร เฮงฮะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าเสา จังหวัดระยอง
ผู้สัมภาษณ์: อุมาภรณ์ พัฒนะนาวีกุล
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: โรงเรียนบ้านท่าเสา

Facebook Comments
ใช้สมองเป็นฐานสู่การเรียนรู้ที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม BBL (Brain – based Learning) โรงเรียนอนุบาลยางชุมน้อย (หน่วยคุรุราษฎร์รังสรรค์) จังหวัดศรีสะเกษผอ.บรรจุใหม่ ใช้ใจนำการเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนรู้ รวมพลังครูและผู้เกี่ยวข้อง จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ท้องถิ่น
บทความล่าสุด