โรงเรียนบ้านอีหนา (รัฐประชานุกูล) พื้นที่นวัตกรรมศรีสะเกษ เน้นสร้างความรู้คู่ทักษะด้วย Brain - based Learning

1 พฤษภาคม 2020

โรงเรียนบ้านอีหนา(รัฐประชานุกูล) เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 2 ตั้งอยู่ หมู่ที่ 2 บ้านอีหนา ตำบลบัวหุ่ง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ  มีภารกิจหลักในการจัดการศึกษา 2 ระดับ คือ ระดับปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1 – 3 และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – ชั้นมัธยมศึกษาปีที่3  มีเขตบริการจำนวนทั้งสิ้น  7 หมู่บ้าน ในเขตตำบลบัวหุ่งและตำบลหนองอึ่ง ปีการศึกษา 2562 มีนักเรียนทั้งหมด 162 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 18 คน

จากจุดเริ่มต้นสู่การนำมาใช้จริง

โรงเรียนบ้านอีหนา (รัฐประชานุกูล) เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา มุ่งเน้นสร้างโอกาสในการศึกษาต่อของนักเรียนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา เพื่อสร้างความเสมอภาคในการรับการศึกษา เป็นโรงเรียนต้นแบบโรงเรียนดีใกล้บ้าน โรงเรียนในฝัน โดยมีชุมชนเป็นกำลังหลักสำคัญในการสนับสนุน การจัดการเรียนการสอนมุ่งเน้นทั้งด้านการสร้างองค์ความรู้ และการส่งเสริมทักษะงานอาชีพ โดยความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและวิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการราษีไศล  และพบว่าในกระบวนการจัดการเรียนรู้นั้น นักเรียนส่วนใหญ่ยังต้องได้รับการพัฒนาในด้านการอ่านออกเขียนได้และการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง

ในปีการศึกษา 2562 โรงเรียนบ้านอีหนา (รัฐประชานุกูล) ได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมเรื่อง จัดกระบวนการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain-based learning) โดย ดร.พรพิไล เลิศวิชา  ซึ่งนางลำดวน บุญเยี่ยม ผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการนำนวัตกรรมดังกล่าวมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนมาหลายปี ให้ความสนใจและเชื่อมั่นในการนำมาใช้ว่าได้ผลจริง โดยเฉพาะประเด็น พลิกโฉมโรงเรียนอ่านออกเขียนได้ใน 1 ปี เน้นความสำคัญของการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนและประเด็นนี้มีความเหมาะสมกับบริบทและความต้องการจำเป็นของโรงเรียนเป็นอย่างมาก

โรงเรียนบ้านอีหนา(รัฐประชานุกูล) จึงได้นำนวัตกรรมมาใช้ในทุกระดับชั้น ตั้งแต่อนุบาล 1 – ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แต่เนื่องจากงบประมาณในการดำเนินการไม่เพียงพอในปีนี้จึงเน้นในระดับชั้นอนุบาล – ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ส่วนในระดับชั้นมัธยมศึกษาได้บูรณาการการเรียนรู้เข้ากับงานทักษะอาชีพ โดยการนำกระบวนการตามแนวทางกุญแจ 5 ดอก มาดำเนินการบูรณาการให้เกิดความเหมาะสมกับในแต่ละระดับชั้น ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

การเรียนการสอนสำหรับเด็กปฐมวัยตามแนวทาง BBL (Brain based Learning: BBL)

โรงเรียนได้จัดสร้างสนามเด็กเล่นร่วมกับนักเรียนระดับประถมศึกษา จำนวน 9 ฐานและส่วนหนึ่งเป็นสนามเด็กเล่นเฉพาะเด็กปฐมวัย มุ่งเน้นการเคลื่อนไหวของร่างกาย ฝึกการยืน เดิน วิ่ง จับ ขว้าง กระโดด การเคลื่อนไหวไปในทิศทางต่างๆ ด้านภาษาและการสื่อสาร เป็นการพูด ฟัง อ่านและเขียน เช่น ให้เด็กเล่าสิ่งที่เขาได้พบเห็น ได้ลงมือกระทำ ฟังเรื่องราวที่เด็กต้องการเล่าให้ฟังด้วยความตั้งใจ การรู้จักการหาเหตุผล ฝึกให้เด็กเป็นคนช่างสังเกต การเปรียบเทียบ จำแนกแยกแยะ จัดหมวดหมู่สิ่งของที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน เรียนรู้ขนาด ปริมาณ การเพิ่มขึ้นลดลง การใช้ตัวเลข มิติสัมพันธ์และจินตนาการจากการมองเห็น ให้เด็กได้สัมผัสวัตถุต่างๆที่เป็นของจริง เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง ระยะ ขนาดตำแหน่ง และการมองเห็น สังเกตรายละเอียดของสิ่งต่างรอบตัว ดนตรีและจังหวะ ให้เด็กได้ฟังดนตรี ร้องเพลง เล่นเครื่องดนตรี และการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น การช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน เข้าใจผู้อื่น และการทำงานร่วมกับผู้อื่น ปฏิสัมพันธ์ในสังคม การรู้จักตนเอง รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตนเอง เข้าใจตนเอง จะทำให้ดูแลกำกับพฤติกรรมตนเองได้อย่างเหมาะสมการปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

กุญแจดอกที่ 1  สนามเด็กเล่นแบบ BBL

โรงเรียนได้จัดทำสนามเด็กเล่น 13 ฐาน มี ไต่ โหน วิ่ง ทรงตัว มุดลอด ปีนป่าย และการการเต้นตารางเก้าช่อง เป็นตัว I T V X O โดยเต้นสลับเท้าซ้ายขวา การทำ BRAIN GYM และการเต้นกิจกรรมประกอบเพลงเข้าจังหวะระดับมัธยมศึกษา เพื่อพัฒนาสมองน้อยและไขสันหลังให้แข็งแรง ผ่อนคลายความเครียดจากที่บ้าน และสร้างแรงกระตุ้น ให้เกิดความกระตือรือร้นในการอยากมาโรงเรียน รวมทั้งส่งเสริมการมีวินัยในการเล่น เช่นการรู้จักการรอคอย เมื่อเด็กออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งสารกระตุ้น สารส่งความสุข และส่งเลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น ทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จัดเวลาให้เด็กได้เล่นสนามวันละ 20 – 30 นาที สลับช่วงเวลาตามความเหมาะสมตามวัยทุกวัน โดยมีคุณครูคอยดูแลอย่างใกล้ชิด

กุญแจดอกที่ 2  ห้องเรียนเปลี่ยนสมอง

เปลี่ยนห้องเรียน เพื่อเปลี่ยนสมองของเด็กสิ่งแวดล้อมที่แปลกใหม่ มีความเข้มข้น มีสีสัน จะช่วยกระตุ้นให้เด็กสามารถเรียนรู้และจดจำเนื้อหาที่เรียนได้ดีขึ้น เช่น ทาสีผนัง โต๊ะเก้าอี้ โดยใช้สีให้สอดคล้องกับทฤษฏีความต้องการของสมอง จัดมุมอ่านไว้ในห้องเรียนทุกห้องให้นักเรียนได้อ่านตามความสนใจ รักษาความสะอาด จัดหาวางอุปกรณ์และสื่อต่างๆ ไว้บนชั้นให้เป็นระเบียบ พร้อมใช้งานและจัดเก็บสื่อให้เหมาะสม มีโต๊ะสำหรับครูสอนหน้าห้อง มีที่จัดแสดงผลงานนักเรียน และมีพื้นที่ว่างสำหรับกิจกรรม Learning space

กุญแจดอกที่ 3 กระบวนการเรียนรู้แบบ 5 ขั้นตอน

กระตุ้นกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก โดยใช้กิจกรรมต่าง ๆ ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้สมองของเด็กตื่นตัว สนใจ ท้าทายการคิดค้นหา ลองผิด ลองถูก เรียนรู้ และจดจำโดยใช้กระบวนการเรียนการสอน 5 ขั้นตอน ดังนี้

  1. ขั้นอุ่นเครื่อง (Warm-up) กิจกรรมที่กระตุ้นสมอง โดยใช้ Brain gym ด้วยเพลง เกม และcup songที่สอดคล้องกับเนื้อหาวิชาที่เรียน เมื่อมีการเคลื่อนไหวร่างกาย สมองจะหลั่งสารเคมีที่ชื่อว่า เซโรโทนิน (Serotonin) ช่วยให้มีจิตใจที่สงบและเกิดสมาธิ ซึ่งจะแตกต่างจาก เอนดอร์ฟิน (Endorphin) และ โดพามีน (Dopamine) ที่จะช่วยให้มีความสุขและสนุกสนาน โดยใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที
  2. ขั้นนำเสนอความรู้ (Present) ในขั้นตอนนี้ครูจะนำเสนอเนื้อหา ใช้วิธีการนำเสนออย่างหลากหลายเรสอดคล้องกับกระบวนการทำงานของสมองส่วนที่ทำหน้าที่ต่างกัน และเริ่มจากง่ายไปหายาก เรียนรู้จากของจริง และจากการสัมผัส ให้เกิดความรู้ความเข้าใจเบื้องต้น
  3. ขั้นลงมือเรียนรู้- ฝึกทำ-ฝึกฝน (Learn-Practice) ขั้นการฝึก ขั้นนี้จะสอดคล้องกับหลักการทำงานของสมองที่ว่า “สมองจะจดจำได้ดีนำไปสู่ความจำระยะยาว (Long-term Memory) ต้องผ่านกระบวนการฝึกซ้ำๆ”ในรูปแบบต่างกันออกไป
  4. ขั้นสรุปความรู้ (Summary) เป็นการนำประสบการณ์ทั้งหมดจากการเรียนรู้มาสรุปรวบยอดเป็นความรู้ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เรามักสังเกตได้ว่า นักเรียนอาจทำแบบฝึกผิดพลาด ทำแบบฝึกหัดไม่ถูก สร้างความรู้จาก (Concept) ที่ผิด เป็นต้น ความผิดพลาดเหล่านี้จะปล่อยไปไม่ได้ การตรวจงาน ต้องแก้ไข ให้นักเรียนทำความเข้าใจใหม่ การสรุปความรู้ โดยใช้ Graphic Organizer หรือจากตัวอย่างอื่นๆเพื่อให้ครูใช้เป็นเครื่องมือในการสรุปที่ช่วยให้เด็กเกิดความสนุก เกิดการเรียนรู้ และจดจำได้ง่ายขึ้น
  5. ขั้นประยุกต์ใช้ความรู้ (Apply) นักเรียนนำความรู้ที่มีอยู่ไปประยุกต์ใช้สร้างสรรค์ชิ้นงานใหม่หรือนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
กุญแจดอกที่ 4 หนังสือเรียนBBL

โรงเรียนได้จัดหาหนังสือเรียนจากบริษัทธารปัญญา ประกอบการเรียนการสอนเพราะหนังสือและใบงาน มีการการออกแบบให้สอดคล้องกับการทำงานของสมอง เพื่อช่วยกระตุ้นสมองของนักเรียน ฝึกให้เด็กคิดที่ละขั้นตอน และนำทักษะและความรู้ในแต่ละขั้น มาประกอบกัน เป็นความเข้าใจ (concept) จัดหาหนังสือเรียน และหนังสืออ่านเพิ่มเติมต่าง ๆ ที่จะกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ เพื่อการค้นคว้า

กุญแจดอกที่ 5 สื่อและนวัตกรรมการเรียนรู้ BBL

ใช้สื่อและนวัตกรรมที่แปลกใหม่ น่าตื่นเต้น และมีสีสัน และมีจำนวนเพียงพอสำหรับนักเรียนทุกคนเครื่องมือเหล่านี้จะช่วยในการเรียนรู้ และกระตุ้นให้เด็กรู้สึกสนุกสนาน พึงพอใจ เกิดความตั้งใจที่จะเรียนรู้เนื้อหาที่ซับซ้อน จัดทำใบงานตามหลักการ BBL ที่มี road map  นำนักเรียนสู่ความสำเร็จ จัดหาสื่อ เครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ จัดหากระดานเคลื่อนที่ สำหรับห้องเรียนชั้นอนุบาลและประถมทุกห้อง บัตรภาพ บัตรคำ เพื่อใช้ประกอบการสอน

ผลลัพธ์ที่สร้างสุขให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

โรงเรียนบ้านอีหนา (รัฐประชานุกูล) ได้นำนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain based Learning : BBL) มาใช้ดำเนินการเป็นปีแรก ซึ่งเกิดผลลัพธ์กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวกับในทุกส่วน โดยที่มีผลลัพธ์ที่ต่างกันในแต่ละส่วนดังนี้

นักเรียน

นักเรียนมีความสุขในการมาเรียน ได้เรียนปนเล่น มีกิจกรรมใหม่ๆที่ครูนำมาสอนให้นักเรียนเกิดความสนใจที่สอดคล้องกับสภาพความต้องการของวัยผู้เรียน นักเรียนอ่านออกเขียนได้ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ครู 

ครูได้พัฒนาตนเองในการฝึกอบรมทักษะการสอนที่สอดคล้องกับพัฒนาการทางสมอง และใช้แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนอย่างแท้จริง และเป็นเชิงประจักษ์

ผู้ปกครอง

ผู้ปกครองให้การสนับสนุน ร่วมมือ ในการดูแลนักเรียนให้เป็นไปตามข้อตกลง และมีความพึงพอใจต่อพัฒนาการของผู้เรียน

โรงเรียน

โรงเรียนมีนวัตกรรมในการจัดการเรียนการสอนที่ชัดเจน สามารถอ้างอิงตามหลักการแนวคิด ทฤษฎีที่สามารถพิสูจน์ได้และพัฒนาได้จริง มีสภาพแวดล้อมที่น่าดู น่าอยู่ น่าเรียน เอื้อต่อการจัดกระบวนการเรียนการสอนภายใต้ความร่วมมือของทุกฝ่าย โรงเรียนได้รับการยอมรับจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

ปัจจัยและเงื่อนไขของความสำเร็จ

โรงเรียนบ้านอีหนา (รัฐประชานุกูล) มองเห็นว่าปัจจัยที่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการนำนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain based Learning : BBL) มาดำเนินการในโรงเรียนเรียนที่สุดคือ ความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้บริหาร คณะครู ในการพัฒนาตนเองและนำหลักการแนวคิดทฤษฎีมาใช้เพื่อพัฒนานักเรียน แก้ไข ปรับปรุงอยู่ตลอดเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา ภายใต้การสนับสนุนของภาคีเครือข่าย เช่น เครือข่ายจากโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรม ทีมงาน SCB มูลนิธิสยามกัมมาจล ศึกษานิเทศก์ และการสนับสนุนจากชุมชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญ

เป้าหมายของการพัฒนานวัตกรรมในปีการศึกษา 2563

โรงเรียนบ้านอีหนา (รัฐประชานุกูล) ได้กำหนดเป้าหมาย วางแผน โดยมีความมุ่งหวังที่จะเน้นนำนวัตกรรมมาพัฒนาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 โดยการจัดสรรงบประมาณให้มากขึ้น และคงสภาพในระดับชั้นปฐมวัยและชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 เพื่อให้ครอบคลุมทุกระดับชั้นเรียน

การพัฒนาการศึกษาฐานสมรรถนะ

โรงเรียนได้มีการวางแผนพัฒนาครูให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยการประสานงานกับ ดร.สมนึก บุญปัญญา ในการจัดการฝึกอบรมครู การทำหลักสูตรโรงเรียน และการวิเคราะห์ตัวชี้วัด ตามแนวทาง TFE  (Team For Education) โครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ภายใต้ ADDIE MODELของโรงเรียน


ผู้เขียน: ฐิติมา ท้วมทอง, ลำดวน บุญเยี่ยม
ผู้ให้สัมภาษณ์: ลำดวน บุญเยี่ยม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านอีหนา (รัฐประชานุกูล) จังหวัดศรีสะเกษ
ผู้สัมภาษณ์: ฐิติมา ท้วมทอง
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ลำดวน บุญเยี่ยม โรงเรียนบ้านอีหนา (รัฐประชานุกูล)

Facebook Comments
โรงเรียนบ้านกระถุน พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดศรีสะเกษ กับการเปลี่ยนแปลงด้วย “โมเดลลำปลายมาศพัฒนา” ยกผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา และพัฒนาคุณภาพนักเรียนโรงเรียนบ้านสบแม่รวม พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร ยกระดับผลสัมฤทธิ์วิชาภาษาไทยด้วย โมเดล “ปรับพ่อแม่ให้เป็นครู ปรับที่อยู่ให้เป็นห้องเรียน” และ 3 ก Model เก็บ กัก เก่ง
บทความล่าสุด