โรงเรียนแม่วินสามัคคี ตั้งอยู่ในพื้นที่ 113 หมู่ 11 บ้านห้วยโป่ง ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 4 พื้นที่ตำบลแม่วินมีแหล่งธรรมชาติด้านป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีลำน้ำแม่วางไหลผ่าน ลักษณะทางภูมิศาสตร์ดังกล่าวจึงส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพของผู้คนในชุมชน เช่นการเกษตร การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่เป็นที่รู้จัก คือ การล่องแพไม้ไผ่ ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มท่องเที่ยวและมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี การล่องแพไม้ไผ่จึงเป็นอัตลักษณ์เชิงพื้นที่ตำบลแม่วิน
อัตลักษณ์เชิงพื้นที่สู่กระบวนการเรียนรู้
โรงเรียนแม่วินสามัคคีได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับผลสัมฤทธิ์ การจัดการเรียนรู้แบบ (Active Learning) การใช้แหล่งเรียนรู้ท้องถิ่นและเห็นความสำคัญของอัตลักษณ์เชิงพื้นที่ โดยได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียน ชุมชนท้องถิ่นเป็นหลัก ทางโรงเรียนได้มีการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางการจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนในโรงเรียนแม่วินสามัคคี ทุกฝ่ายได้มีความคิดเห็นในทางเดียวกันที่ควรจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์พื้นที่มากที่สุด เพื่อผลิตนักเรียนโรงเรียนแม่วินสามัคคีเป็นคนดี มีความรู้ มีจิตสาธารณะ รู้จักท้องถิ่น มีทักษะอาชีพสำหรับใช้ในการประกอบอาชีพในอนาคต ทางโรงเรียนจึงได้ วิเคราะห์มาตรฐานการเรียนรู้ที่โรงเรียนควรเร่งพัฒนาเนื่องจากคะแนนเฉลี่ยของโรงเรียนต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศมาจัดทำข้อมูล และจัดกิจกรรมด้านส่งเสริมการพัฒนาการเรียนของนักเรียนลงสู่ชั้นเรียน
โดยมีการจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ของพื้นที่ คือนวัตกรรมการเรียนรู้สู่สัมมาชีพโดยใช้อัตลักษณ์เชิงพื้นที่ “ล่องแพแม่วิน” โดยมีการจัดกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนเกิดความรู้เกี่ยวกับประวัติในท้องถิ่น การสร้างแพ การเรียนรู้สู่สัมมาชีพ การท่องเที่ยว ระบบนิเวศทั้งทางธรรมชาติและทางสังคม รวมถึงในเรื่องของความปลอดภัย ในทุกสาระการเรียนรู้ โดยมีแหล่งเรียนรู้ ทรัพยากรในท้องถิ่นเป็นสื่อในการเรียน
กระบวนการเรียนรู้ล่องแพแม่วินเชิงนิเวศ
โรงเรียนแม่วินสามัคคีได้แบ่งการเรียนรู้ออกเป็น 6 หน่วย ได้แก่ เล่าเรื่องเมืองวิน งามถิ่นล่องแพ ตามกระแสโซเซียล ท่องเที่ยวเกษตรวิถี นำพาชีวีปลอดภัย และใส่ใจนิเวศบ้านเรา โดยปีการศึกษาที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนทุกระดับชั้นตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่ยังไม่เกิดการบูรณาการเท่าที่ควร ในปีการศึกษานี้จึงได้วางแผนดำเนินการในการจัดกิจกรรมสำหรับนักเรียนชั้น ม.1 – ม.3 สิ่งที่โรงเรียนกำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ คือ การสร้างแผนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการทั้ง 3 ชั้นเรียน โดยมุ่งให้เกิดความต่อเนื่อง ผสานเนื้อหาของแต่ละสาระการเรียนรู้ ซึ่งจะนำไปสู่ผลงานหรือผลผลิตจากกิจกรรมการเรียนการสอนด้วยนวัตกรรมดังกล่าว
การออกแบบแนวทางการพัฒนาแม่วินศึกษา
การออกแบบแนวทางการพัฒนารูปแบบแม่วินศึกษาล่องแพแม่วินเชิงนิเวศ ทางโรงเรียนได้เลือกใช้การเรียนการสอนแบบ Active Learning ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติที่หลากหลายรูปแบบ เช่น การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การระดมสมอง การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยกิจกรรมที่นำมาใช้จะช่วยพัฒนาทักษะการคิด วิเคราะห์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ การสื่อสาร การนำเสนอ และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเหมาะสม ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน นอกจากนี้ในกระบวนการพัฒนาดังกล่าวยังต้องอาศัย 7 หลักสำคัญในการจัดกิจกรรม มาใช้ในการตรวจสอบคุณภาพของแผนการจัดการเรียนการสอน ตลอดจนตรวจสอบประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการจัดกิจกรรม รวมถึงแหล่งเรียนรู้ทั้งในโรงเรียนและในชุมชนก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้แบบ Active Learning เช่นกัน
เครือข่ายการมีส่วนร่วมในการพัฒนา
ภายใต้การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยใช้อัตลักษณ์เชิงพื้นที่เป็นฐาน รูปแบบแม่วินศึกษาล่องแพแม่วินเชิงนิเวศได้รับความร่วมมือในการพัฒนาจากหลายฝ่ายทั้งคณะศึกษานิเทศจากศึกษาธิการจังหวัด คณะผู้บริหาร คณะกรรมการสถานศึกษา คณะครู โดยการดำเนินงานกระบวนการขับเคลื่อนในโรงเรียนเริ่มจากการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุประสงค์เป้าหมายของโครงการตั้งแต่ระดับผู้บริหาร คณะกรรมการสถานศึกษา คณะครูแต่ละกลุ่มสาระ ซึ่งได้วิเคราะห์มาตรฐานการเรียนรู้ที่ควรพัฒนาตามรายงานผลสอบ O-net ของสทศ. และจัดเวลาเรียนลงในตารางเรียนคาบที่ 8 ของวันจันทร์
นอกจากนี้ยังมีการมอบหมายให้แต่ละสาระจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้แบบ Active learning ล่องแพแม่วินเชิงนิเวศโดยยึดตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่ควรพัฒนาจากการวิเคราะห์ มีการตรวจสอบแผนการจัดการเรียนรู้โดยฝ่ายบริหารร่วมกับฝ่ายวิชาการ แล้วจึงนำแผนการจัดการเรียนรู้ดังกล่าวไปใช้จัดกิจกรรม นอกจากนั้นยังมีการประเมินสะท้อนผลการดำเนินงานการจัดการเรียนการสอน (PLC) ทุกครั้งหลังการสอนหากพบว่าเกิดปัญหาจะร่วมกันหาแนวทางการแก้ไขและปรับปรุงทันที โดยย้อนกลับไปแก้ไขตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ตลอดจนรับการประเมินจากผู้บริหารและคณะศึกษานิเทศ
การจัดการเรียนรู้แบบ Active learning ล่องแพแม่วินเชิงนิเวศ กับการบูราณาการรายวิชา
1. สาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เน้นทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving) ซึ่งเป็นการสร้างทักษะการคิดให้เป็นเหตุเป็นผล การคิดกระบวนการระบบ แก้ปัญหาในรูปแบบการฝึกแก้ปัญหาที่ไม่คุ้นเคยหลากหลาย รูปแบบการตั้งคําถามสำคัญที่ช่วยทำความกระจ่างในมุมมองต่าง ๆ เพื่อนําไปสู่ทางออกที่ดีกว่า
2. สาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เน้นทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) ซึ่งเป็นการสร้างทักษะการคิดให้เป็นเหตุเป็นผล การคิดกระบวนการระบบ โดยวิเคราะห์ปัจจัยย่อยมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร จนเกิดผลในภาพรวม ใช้วิจารณญาณและการตัดสินใจ ที่สามารถวิเคราะห์และประเมินข้อมูลหลักฐาน การโต้แย้ง การกล่าวอ้างอิง และความน่าเชื่อถือ วิเคราะห์เปรียบเทียบและประเมินความเห็นประเด็นหลักๆ สังเคราะห์และเชื่อมโยงระหว่างสารสนเทศกับข้อโต้แย้งแปลความหมายของสารสนเทศและสรุปบนฐานของการวิเคราะห์ และตีความและทบทวนอย่างจริงจังในด้านความรู้และกระบวนการ
3. สาระการเรียนรู้ภาษาไทย เน้นทักษะการสื่อสาร (Communication) ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิตอล และเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้โลกศตวรรษที่ 21 ต้องการทักษะของการสื่อสารที่กว้างขวางและลึกซึ้ง โดยเฉพาะทักษะในการสื่อสารอย่างชัดเจน ตั้งแต่การเรียบเรียงความคิดและมุมมอง (idea) สื่อสารเข้าใจง่าย ในหลายแบบ ทั้งการพูด เขียน และกิริยาทาทาง การฟังอย่างมีประสิทธิภาพ นําไปถ่ายทอดสื่อสาร ความหมายและความรู้ แสดงคุณค่า ทัศนคติและความตั้งใจ การสื่อสารเพื่อการบรรลุเป้าหมายการทำงาน การสื่อสารด้วยหลากหลายภาษาและสภาพแวดล้อมที่หลากหลายอย่างได้ผล
4. สาระการเรียนรู้สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม เน้นทักษะการริเริ่มสร้างสรรค์และกำกับดูแลตนเองได้ (Initiative and Self Direction) เป็นทักษะที่สำคัญมากในการทำงานและดำรงชีวิตในโลกศตวรรษที่ 21 ที่ต้องมีการกำหนดเป้าหมายโดยมีเกณฑ์ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม และนามธรรม มีความสมดุลระหว่างเป้าหมายระยะสั้นที่เป็นเชิงยุทธวิธีและเป้าหมายระยะยาวที่เป็นเชิงยุทธศาสตร์ มีการคํานวณประสิทธิภาพการใช้เวลากับการจัดการ ภาระงาน การทำงานตนเองทำงานสำเร็จได้ด้วยตนเอง โดยกำหนดตัวงาน ติดตามผลงาน และลำดับความสำคัญของงานได้เอง นอกจากนั้นการทำงานยังต้องฝึกทักษะการเป็นผู้เรียนรู้ได้ด้วยตนเองที่มีการมองเห็นโอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อขยายความเชี่ยวชาญในงานของตนเอง มีการริเริ่มการพัฒนาทักษะไปสู่ระดับอาชีพ แสดงความเอาใจใส่จริงจังต้อการเรียนรู้ และทบทวนประสบการณ์ในอดีต เพื่อคิดหาทางพัฒนาในอนาคต
5. สาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ เน้นทักษะสังคมและสังคมข้ามวัฒนธรรม (Social and Cross-Cultural Skills) เป็นทักษะทำให้คนในศตวรรษที่ 21 สามารถทำงานและดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมและผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายได้อย่างไม่แปลกแยก ทำให้งานสำเร็จ การพัฒนาทักษะนี้จะทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างเกิดผลดีใน เรื่องกาลเทศะ เกิดการทำงานในทีมที่แตกต่างหลากหลายอย่างได้ผลดี ที่มีการเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรม ตอบสนองความเห็นและคุณค่าที่แตกต่างอย่างใจกว้าง เพื่อยกระดับความแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรมสู่การสร้างแนวความคิด วิธีทำงานใหม่ สู่คุณภาพของผลงาน
6. สาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา เน้นทักษะชีวิตความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว (Flexibility and Adaptability) เป็นทักษะเพื่อการเรียนรู้ การทำงานและการเป็นพลเมืองในศตวรรษที่ 21 ซึ่งต้องทำเพื่อการบรรลุเป้าหมายแบบมีหลักการ และไม่เลื่อนลอยภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และไม่คาดคิด ทั้งมีข้อจํากัด ด้านทรัพยากร เวลา และการมีคู่แข่ง โดยใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส ในด้านการปรับตัว ต่อการเปลี่ยนแปลงเป็นการปรับตัวให้เข้ากับบทบาทที่แตกต่างไป งานที่มีกําหนดการที่เปลี่ยนไป และบริบทที่เปลี่ยนไปในด้านความยืดหยุ่น เป็นการนําเอาผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมาใช้ประโยชน์อย่างได้ผลมีการจัดการเชิงบวก สามารถนำความเห็นและความเชื่อที่แตกต่างหลากหลายมาทำความเข้าใจ ทำให้งานสำเร็จลุล่วงได้
7. สาระการเรียนรู้ศิลปะ เน้นทักษะความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creativity and Innovation) ทักษะทางด้านนี้ เป็นเรื่องของการนำจินตนาการมาสร้างขั้นตอนกระบวนการโดยอย่างอิงจากทฤษฎีความรู้เพื่อนําไปสู่การค้นพบใหม่เกิดเป็นนวัตกรรมที่ใช้ตอบสนองความต้องการในการดำรงชีวิตที่ลงตัว และนําไปสู่การเป็นผู้ผลิตและผู้ประกอบการต่อไป ทักษะด้านนี้ได้แก่ การคิดอย่างสร้างสรรค์ ที่ใช้เทคนิคสร้างมุมมองอย่างหลากหลาย มีการสร้างมุมมองที่แปลกใหม่อาจเป็นการปรับปรุงพัฒนาเพียงเล็กน้อยหรือทำใหม่ที่แหวกแนวโดนสิ้นเชิง ที่เปิดกว้างในความคิดเห็นที่ร่วมกันสร้างความเข้าใจ ปรับปรุง วิเคราะห์ และประเมินมุมมอง เพื่อพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับความคิดอย่างสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์ ในการพัฒนา ลงมือปฏิบัติ และสื่อสารมุมมองใหม่กับผู้อื่นอยู่เสมอ มีการเปิดใจและตอบสนองมุมมองใหม่ๆ รับฟังข้อคิดเห็น และร่วมประเมินผลงานจากกลุ่มคณะทำงานเพื่อนําไปปรับปรุงพัฒนา มีการทำงานด้วยแนวคิดหรือวิธีการใหม่ๆ และเข้าใจข้อจํากัดของโลกในการยอมรับมุมมองใหม่ และให้มองความล้มเหลวเป็นโอกาสการเรียนรู้ และการประยุกต์สู่นวัตกรรมที่มีการลงมือปฏิบัติตามความคิดสร้างสรรค์ให้ได้ผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม
8. สาระการเรียนรู้การงานอาชีพ เน้นทักษะการรู้ทันเทคโนโลยี (Technology Literacy) ในโลกยุคศตวรรษที่ 21 เป็นโลกเทคโนโลยีที่มีการแข่งขันกันผลิต และนํามาสู่การสร้าง กลยุทธ์การขายสู่กลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถ้าขาดความเท่าทันการใช้เทคโนโลยีจะกลายเป็นผู้ซื้อ แต่ไม่อยากจะเรียนรู้การเป็นผู้ผลิต เพื่อนําไปใช้งานที่พอเพียงเหมาะสมกับงาน การถูกชักจูง ชวนเชื่อ ให้เป็นผู้ซื้อก็จะง่ายขึ้น ผลการสูญเสียงบประมาณ และการขาดดุลทางเศรษฐกิจจะตามมา ดังนั้นทักษะความเท่าทันด้านเทคโนโลยีจึงเป็นทักษะที่จําเป็นในศตวรรษที่21 ทำให้คนรู้จักผลิตใช้และนําไปแลกเปลี่ยนใช้ในเวทีการค้า เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ให้เกิดการสืบค้น รวมรวมความรู้พิสูจน์สมมติฐานคําตอบในการใช้ทักษะการคิดแบบมีวิจารณญาณ มากกว่าที่จะใช้เพื่อการบันเทิง ควรใช้เทคโนโลยีเพื่อการวิจัย
ผลการดำเนินงานกระบวนการเรียนรู้นวัตกรรมการศึกษาโรงเรียนแม่วินสามัคคี
ด้านสถานศึกษา
ผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการกระบวนการเรียนรู้นวัตกรรมการศึกษาที่เกิดกับสถานศึกษาเห็นได้ชัดเจนจากการมีส่วนร่วมบริหารจัดการจากหลายฝ่ายทั้งคณะศึกษานิเทศ คณะผู้บริหาร คณะกรรมการสถานศึกษา คณะครูโรงเรียนแม่วินสามัคคี นักเรียน รวมถึงชาวบ้านในชุมชนแม่วิน
ด้านครูผู้สอน
จากการดำเนินการกระบวนการเรียนรู้นวัตกรรมการศึกษาที่ส่งผลต่อครูผู้สอนนั้น ครูผู้สอนได้พัฒนากระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายและแก้ปัญหาผู้เรียนได้อย่างถูกต้องและยังมีการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนด้วย โดยผู้สอนเป็นผู้วางแผนกิจกรรมเน้นผลที่ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริง ฝึกให้ผู้เรียนได้มีการบูรณาการเนื้อหาสู่การประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริง
ด้านผู้เรียน
ผลจากการจากการดำเนินการกระบวนการเรียนรู้นวัตกรรมการศึกษาที่ส่งผลกับผู้เรียนนั้น สามารถมองเห็นได้จากกระบวนการเรียนรู้ในแต่ละรายวิชา ซึ่งเป็นการสร้างทักษะด้านต่าง ๆที่ผู้เรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ในโลกยุคศตวรรษที่ 21 ที่มีการเจริญก้าวหน้าอย่างหลากหลาย โดยการที่ผู้เรียนนำทักษะ กระบวนการเรียนรู้ หรือประสบการณ์จริงที่ได้เรียนรู้ ไปปรับใช้ได้จริง เช่น การคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล การคิดอย่างสร้างสรรค์ การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้เทคโนโลยีอย่างมีคุณภาพ สามารถนำไปเชื่อมโยงกับการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ได้อย่างดี
เป้าหมายของการพัฒนานวัตกรรมในปีการศึกษา 2563
โรงเรียนแม่วินสามัคคีมุ่งหวังว่านักเรียนจะเกิดความรู้ ความเข้าใจ จากการเรียนรู้สิ่งที่อยู่รอบตัว สามารถช่วยพัฒนาการเรียนรู้ นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผ่านเกณฑ์ มีความสำนึกรักในท้องถิ่น รู้จักท้องถิ่นของตนเอง มีความรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ และศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น มีความสามารถในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นได้ มีทักษะอาชีพสำหรับการวางแผนสร้างอาชีพในอนาคต รวมถึงเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมต่อไป
โรงเรียนแม่วินสามัคคีมีหลักสูตรนวัตกรรมการเรียนรู้สู่สัมมาชีพโดยใช้อัตลักษณ์เชิงพื้นที่ หลักสูตรล่องแพแม่วิน โดยมีความมุ่งหวังให้ครูผู้สอนมีการจัดการเรียนรู้แบบ Active learning มีการ PLC เพื่อพัฒนาและสะท้อนผลการเรียนรู้ สร้างกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีเจตคติ ทักษะ สมรรถนะ และการเรียนรู้ที่สูงขึ้น
การพัฒนาศึกษาแนวใหม่ การศึกษาสมรรถนะ โรงเรียนแม่วินสามัคคี
โรงเรียนแม่วินสามัคคีได้มีการวางแผนและเก็บข้อมูลด้านสมรรถนะของผู้เรียนในทุกปีการศึกษารวมถึงได้นำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ผลและออกแบบกิจกรรมที่จะช่วยพัฒนาสมรรถนะให้แก่ผู้เรียน ทั้งความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถในการคิด ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต ตลอดจนความสามารถในการใช้เทคโนโลยี โดยดึงสมรรถนะเข้ามาพัฒนาร่วมกับนวัตกรรมการเรียนรู้สู่สัมมาชีพโดยใช้อัตลักษณ์เชิงพื้นที่ “ล่องแพแม่วิน” ทำให้ในปีการศึกษาที่ผ่านมาเกิดผลผลิตของนวัตกรรม ดังภาพ
ผู้เขียน: ฐิติมา ท้วมทอง, ประเสริฐศักดิ์ เหมือนหาญ, ศิริทร์ทิพย์ หิรัญวงษ์
ผู้ให้สัมภาษณ์: ประเสริฐศักดิ์ เหมือนหาญ ผู้อำนวยการโรงเรียนแม่วินสามัคคี, ศิริทร์ทิพย์ หิรัญวงษ์ ครูโรงเรียนแม่วินสามัคคี
ผู้สัมภาษณ์: ฐิติมา ท้วมทอง
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ศิริทร์ทิพย์ หิรัญวงษ์ ครูโรงเรียนแม่วินสามัคคี, โรงเรียนแม่วินสามัคคี