มุมมองต่อสื่อการเรียนการสอน: สัมภาษณ์พิเศษ ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการ กพฐ.

17 กันยายน 2020
“ถ้าสื่อไม่เปลี่ยนจะไปสอนเชิงสมรรถนะได้อย่างไร”

ข้อสังเกตที่น่าชวนคิดของ ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความหมาย ขอบข่ายของสื่อการเรียนการสอน และแนวทางการจัดทำ จัดหา และใช้สื่อการเรียนการสอนของสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ในอดีตที่ผ่านมาสื่อหลักคือแบบเรียน แบบเรียนนั้นมีกรอบของการจัดทำ จึงมีลักษณะคล้ายกันหรือเหมือนกันหมด นักเรียนได้เรียนเหมือนกันหมดทั่วประเทศ ด้วยเนื้อหาเดียวกัน กระบวนการเดียวกัน ใช้ประเด็นคำถามเดียวกันสำหรับเด็กทุกคน ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนั้น สิ่งหนึ่งที่อยากจะให้เข้าไปเตรียมความพร้อมหากทำความเข้าใจกับสถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และครู เกี่ยวกับทิศทางของการจัดการเรียนรู้ในอนาคตว่า หลักสูตรจะเปลี่ยนไปในรูปแบบเชิงสมรรถนะ การใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะนั้น ถ้าสื่อไม่เปลี่ยนจะไปจัดการเรียนการสอนเพื่อสร้างสมรรถนะได้อย่างไร หากยังอิงแบบเรียน อิงเนื้อหา อิงแบบฝึกหัดแบบเดิม ให้การบ้านแบบเดิม สมรรถนะที่คาดหวังก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้นสื่อจะต้องเป็นสื่อที่สร้างเสริมสมรรถนะให้กับผู้เรียนได้

แล้วนิยาม “สื่อการเรียนการสอน” ที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ควรเป็นอย่างไรนั้น ดร.วัฒนาพร ชี้ว่า สื่อในปัจจุบันต้องส่งเสริมผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะที่สำคัญจำเป็น ไม่ว่าจะเป็น สมรรถนะด้านการคิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ คิดสร้างสรรค์หรือการรู้เท่าทัน นักเรียนควรมีความสามารถที่จะแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงกับข้อคิดเห็น สื่อที่เป็นแบบเรียนในปัจจุบันและรวมถึงที่ผ่านมาของเรานั้นเป็นการให้ความรู้ที่เป็นข้อเท็จจริงเกือบทั้งหมด แทบทุกวิชา และนักเรียนก็ใช้วิธีจำข้อเท็จจริงแล้วไปตอบคำถามหรือทำแบบทดสอบแบบฝึกหัดต่าง ๆ แต่ความเป็นจริงในชีวิตจริงมันไม่ใช่ ข้อมูลที่ผ่านสื่อต่าง ๆ อยู่รอบตัวเด็กมีมากมายหลากหลายปะปนกันอยู่ ทั้งข้อมูลที่เป็นเท็จจริง ความคิดเห็น ความรู้สึก การชี้นำ การทำนาย เหล่านี้เป็นต้น ที่ผ่านมาเราให้ข้อมูลผ่านสื่อการเรียนรู้ที่มีลักษณะเป็นข้อเท็จจริงแก่เด็กตลอด เขาก็มีความเชื่อว่าทุกสิ่งที่พบเจอมันคือความจริง ดังนั้นเวลาเขาเจอข้อความในสื่อโซเชียลมีเดีย เจอข้อความโฆษณา หรือเจออะไรก็ตามในชีวิตจริงโดยระบบเคยชินก็อาจจะเชื่อโดยทันที เพราะเราไม่ได้ฝึกให้เขามีทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ สังเคราะห์ แยกแยะว่าสิ่งไหนคือข้อเท็จจริง ความคิดเห็น หรือการคาดคะเน หรือฝึกให้มีทักษะการคิดในระดับสูง เช่น คิดอย่างมีวิจารณญาณ คิดเชิงวิพากษ์อย่างเพียงพอ พอตอนนี้มีประเด็นหรือปัญหาเกิดขึ้นมาแล้วเราจะบอกให้เด็กเขารู้ทันสื่อ หรือต้องคิดอย่างมีวิจารณญาณ ก่อนเชื่อในสิ่งใด ให้เขาวิเคราะห์ ผลลัพธ์มองหาที่มา วิพากษ์ประเด็นใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์ มันจะได้อย่างไรในเมื่อในทักษะกระบวนการคิด กระบวนการได้ฝึกฝน เขาแทบจะไม่เคยได้ทำมาก่อนเลย เพราะฉะนั้นคำว่า “สื่อ” จึงมีความสำคัญมาก สื่อในที่นี้จึงหมายถึง

สื่อการเรียนการสอน ที่เราใช้ในการสร้าง พัฒนา หรือเพิ่มการเรียนรู้ของเด็กให้เกิดสมรรถนะที่เขาควรมี ทั้งที่เป็นสื่อประเภทหนังสือ ตำรา แบบทดสอบ วิดีโอ เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ และรวมถึงสื่อที่เป็นบุคคล สถานการณ์ กระบวนการ หรือทุกสิ่งที่สามารถนำมาเสริม สร้าง พัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนเราได้ สิ่งเหล่านี้คือสื่อการเรียนการสอนที่ควรเป็นและอยากให้มี

ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ ยังได้กล่าวเน้นย้ำว่าการสร้างเสริมสมรรถนะด้านความคิดเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ สื่อการเรียนการสอนยังต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดทักษะที่มีประสิทธิภาพอีก 2 ทักษะที่สำคัญ คือ ทักษะด้านความรู้ที่ใช้ในการทำงาน (Hard Skills) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษา เรื่องคอมพิวเตอร์ เรื่องความเชี่ยวชาญการทำงาน ฯลฯ และทักษะด้านอารมณ์และสังคม (Soft Skills) เช่น การจัดการตนเอง การอยู่ร่วมกันในสังคม การสื่อสารที่มันมีประสิทธิภาพ ความอดทน ความอดกลั้น มีวินัย แม้ในบางเรื่องที่ต่างชาติอาจจะไม่เน้นย้ำเท่าใด เช่น เรื่องของความกตัญญู ความมีน้ำใจ ความเอาใจเขามาใส่ใจเรา สิ่งที่สังคมหรือภาคเอกชนในปัจจุบันต้องการเป็นอย่างมากคือคนที่มี Soft Skills ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาจะไปฝึกหรือเพิ่มเติมทักษะเหล่านี้ให้พนักงานเขาได้ยากในช่วงเวลาที่เข้าเป็นพนักงานแล้ว เพราะฉะนั้นทุกภาคส่วนที่มีส่วนในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูต้องฝึกฝนผู้เรียนให้มีทักษะเหล่านี้ให้ได้ระหว่างที่นักเรียนอยู่กับเราเป็นเวลาสิบกว่าปี เราจึงต้องใช้สื่อทุกอย่าง ทั้งที่เป็นกิจกรรม การจัดประสบการณ์ หรือการออกแบบกระบวนการที่จะสามารถปลูกฝังให้ผู้เรียนมี Soft Skill ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมในการดำเนินชีวิตในสังคมให้กับนักเรียนของเรา

ทั้งนี้สื่อการเรียนการสอนนั้นต้องสัมพันธ์กับการวัดและประเมินผล หากสื่อฯ ดีสอดคล้องกับหลักสูตรฐานสมรรถนะ แต่การวัดผลยังทำเหมือนเดิม เช่นการทำข้อสอบ O-net ที่มีลักษณะแบบเดิมก็ไม่เกิดผล อย่างน้อยการวัดและประเมินผลควรมีมาตรฐานสากลเทียบเท่า PISA (Programme for International Student Assessment) ซึ่งเป็นแบบวัดที่วัดสมรรถนะด้านการคิดผ่านการทดสอบองค์ความรู้ 3 ด้านหลัก คือ ด้านการอ่าน ด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ และยังมีรูปแบบของการนำเสนอ วิธีการตั้งคำถามที่น่าสนใจ และคำนึงถึงระดับสมรรถนะที่สอดคล้องกับพัฒนาการของผู้เรียนแต่ละช่วงวัยด้วย ตรงจุดนี้อาจนำมาปรับประยุกต์ใช้กับการจัดทำสื่อและการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้นักเรียนเราได้

การจัดทำ จัดหา และใช้สื่อการเรียนการสอนของสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมควรมีแนวทางอย่างไรนั้น ดร.วัฒนาพร ชี้ว่า สมัยหนึ่งเราก็มีนโยบายให้ครูทำสื่อเอง แต่มีจุดอ่อนตรงที่สื่อบางเรื่องเป็นองค์ความรู้พื้นฐาน (Basic Literacy) ซึ่งยังเป็นประเด็นว่า ครูจัดทำสื่อเอง ความถูกต้องครบถ้วน ความลุ่มลึกในแง่มุมต่าง ๆ จะเท่าเทียมสื่อมาตรฐานที่ผ่านการตรวจพิจารณาหรือไม่ ซึ่งสังเกตได้จากการเปิดโอกาสให้ครูได้คิดค้นพัฒนาสื่อส่งขอผลงานเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะ ที่ผ่านมาไม่ค่อยผ่านก็ด้วยเรื่องของความถูกต้องครบถ้วนตามหลักวิชาการ จึงทำให้เรื่องของการจัดทำสื่อของครูไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร แต่เทคโนโลยีปัจจุบันเปิดกว้างมากตั้งแต่โปรแกรมออนไลน์ แอปพลิเคชัน YouTube และอื่น ๆ อีกมากมาย เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะคิดค้น จัดทำสื่อกว้างขึ้น ต้องใช้โอกาสนี้ในการส่งเสริม และปัจจุบัน พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เปิดโอกาสในเรื่องการจัดหา จัดทำสื่อ อย่างเต็มที่ด้วยแล้ว

ฝ่ายบริหารควรจะสนับสนุน และควรมี 2 ระดับ คือ 1) ระดับกระทรวงที่ต้องสร้างความมั่นใจให้กับสถานศึกษาเรื่องการให้อิสระในการจัดทำสื่อการเรียนการสอน เช่น การออกคำสั่ง หนังสือ ประกาศ กฎหมาย ฯลฯ ให้เอื้อต่อการดำเนินการ และ 2) ระดับจังหวัดต้องเตรียมความพร้อมให้กับผู้บริหารสถานศึกษาและครู โดยการชี้แจงทำความเข้าใจให้ชัดเจน เรื่องการจัดหา จัดทำสื่อการเรียนการสอน ที่สอดคล้องและเหมาะสมกับกระบวนการจัดการเรียนรู้ในแต่ละพื้นที่ของตน

นี่คือสิ่งที่อยากเห็นในการจัดหาจัดทำสื่อการเรียนการสอนที่จะนำมาใช้ในพื้นที่ คือพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาน่าจะมีความเป็นไปได้ก่อนพื้นที่อื่นในการเร่งดำเนินการจัดหาจัดทำสื่อแนวใหม่ โดยอาศัยช่องทางตามกฎหมาย พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ที่เขาเปิดโอกาสไว้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การดำเนินการเหล่านี้แม้จะไม่ประสบผลสำเร็จภายใน 1 – 2 ปี แต่ถ้าเราไม่เริ่ม ก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้สื่อการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ ๆ

“ ถ้าเราไม่เริ่ม ก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้สื่อการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ ๆ ”


ผู้เขียน: วริญญา จันตาวงศ์
ผู้ให้สัมภาษณ์: ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ผู้สัมภาษณ์: เก ประเสริฐสังข์, วริญญา จันตาวงศ์, อิศรา โสทธิสงค์, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ศศิธร สวัสดี, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: อิศรา โสทธิสงค์

Facebook Comments
ผลการประชุมนัดแรก คณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มช. มุ่งสร้างความเข้าใจแก่ ผอ. และครูโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมทั้ง 15 แห่ง ก่อนลงพื้นที่ขับเคลื่อนระบบการบริหารจัดการเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะครู
บทความล่าสุด