เล่าเรื่อง e-portfolio ของโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย จ.ระยอง

9 ตุลาคม 2020

โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยเริ่มใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะอย่างเป็นทางการในภาคเรียนที่ 1/2563 โดยกำหนดสมรรถนะไว้ 10 สมรรถนะ (รายละเอียดอยู่ท้ายบทความ) การประกาศใช้หลักสูตรทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการ สิ่งหนึ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนคือการวัดและประเมินผล ความจำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยน เพราะเราเชื่อว่า การแสดงออกในทางสมรรถนะต่าง ๆ ของนักเรียน ไม่สามารถวัดได้ด้วยแบบทดสอบ แต่ต้องวัดจากหลักฐานเชิงประจักษ์ และสมรรถนะเป็นการสะสมการเปลี่ยนแปลงของนักเรียนทีละเล็กละน้อย ด้วยเหตุนี้ โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยจึงเลือกใช้ e-portfolio เป็นเครื่องมือในการวัดและประเมินผล

มองหาวิทยากรที่จะสร้างแรงบันดาลใจในการทำ e-portfolio

น้องอิงดาว จบคณะวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ต้องดิ้นรนหาทุนเรียนมาตั้งแต่เด็ก ดังนั้นเธอต้องใช้ portfolio ในการนำเสนอตัวตนและผลงานเพื่อให้ผู้ใหญ่ใจดีมอบทุนให้เรียน เราจึงเลือกวิทยากรที่มีพลังในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านน้ำกร่อยเป็นรายบุคคล

ภาพวิทยากรและแนวคิดของวิทยากร
นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-6 โรงเรียนบ้านน้ำกร่อยทุกคนต้องมี e-portfolio

เป้าหมายแรกมุ่งไปที่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-6 ของโรงเรียนบ้านน้ำกร่อยทุกคนต้องมี e-portfolio เนื่องจากโรงเรียนบ้านน้ำกร่อยใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ดังนั้นนักเรียนระดับปฐมวัย และชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-2 จะต้องได้รับการพัฒนาด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้เข้มแข็งพียงพอที่จะพัฒนาสมรรถนะของตนเองเสียก่อน ส่วนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-6 จำนวน 40 คน มีความพร้อมเบื้องต้นในการไปสู่สมรรถนะต่างๆ ได้แล้ว

ผู้ปกครองและครูช่วยให้นักเรียนมีและใช้อีเมลล์เป็น

E-portfolio เป็นซอฟแวร์ของกูเกิล คนที่จะใช้ต้องมีอีเมลล์ที่เป็น gmail ซึ่งไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ยาก แต่ในทางปฏิบัตินักเรียนของเรายังอายุไม่ถึงเกณฑ์ในการใช้อีเมลล์ เราจึงต้องสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองและครู ผู้ปกครองท่านใดสามารถใช้อีเมลล์ได้ เราก็ขอความร่วมมือใช้ข้อมูลในการสมัครใช้อีเมลล์และร่วมรับรู้ไปพร้อมกับเด็ก ส่วนผู้ปกครองท่านใดไม่สามารถใช้อีเมลล์ได้ เราก็ให้ครูช่วยดูแลทั้งผู้ปกครองและเด็กให้สามารถใช้อีเมลล์ได้

ทำเป็นโครงการเสนอสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด

การดำเนินการในครั้งนี้ จัดทำเป็นโครงการเสนอสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเพื่อขอรับงบประมาณ ในโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ในการแสดงสมรรถนะของนักเรียนตามหลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย เราเชื่อมั่นว่า “ทุกการแสดงออกของเด็กเป็นหลักฐานร่องรอยของสมรรถนะ”

ภาพแนวคิดของโครงการ
โรงเรียนมีคอมพิวเตอร์เพียง 4 เครื่อง

เริ่มต้นงานชิ้นแรกของผู้อำนวยการโรงเรียนในการที่จะอำนวยความสะดวกให้กับนักเรียนคือการหาคอมพิวเตอร์ นับแล้วโรงเรียนบ้านน้ำกร่อยมีคอมพิวเตอร์ที่ใช้ได้อยู่ 4 เครื่อง ดังนั้นจึงต้องนำชิ้นส่วนของคอมพิวเตอร์เก่ามารวมกันเป็นเครื่องใหม่ และขอยืมจากโรงเรียนมัธยมศึกษาในพื้นที่ คือ โรงเรียนเขาชะเมาวิทยา ซึ่งต้องขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ รวมแล้วได้คอมพิวเตอร์ที่ใช้การได้ 10 เครื่อง ซึ่งเพียงพอต่อการใช้ฝึกฝนเรียนรู้ของนักเรียนในระดับหนึ่ง

งานชิ้นแรกใน e-portfolio ของนักเรียน

การสอนให้นักเรียนทำ e-portfolio เป็น ใช้การอบรมเชิงปฏิบัติการ 3 วัน โดยแบ่งนักเรียนเป็น 4 รุ่น รุ่นละ 10 คน เนื่องจากมีคอมพิวเตอร์เพียง 10 เครื่อง งานชิ้นแรกนักเรียนทุกคนต้องออกแบบหน้าปก e-portfolio ให้สวยงามและตรงกับความเป็นตัวตนให้มากที่สุด นักเรียนบางคนชอบถ่ายภาพ ก็จะสื่อให้เห็นโดยใช้ภาพที่ตนเองสะพายกล้องเป็นภาพหน้าปก ส่วนหัวข้อใน e-portfolio อาจมีได้หลายหัวข้อ เช่น หน้าแรก ผลงาน ความชื่นชอบและความถนัด กิจกรรมในห้องเรียน กิจกรรมนอกห้องเรียน กิจกรรมที่บ้าน โครงการและกิจกรรมพิเศษ เป็นต้น นักเรียนจะพิมพ์เนื้อหาด้วยตนเอง เรามีเงื่อนไขร่วมกันว่า “เราจะทำ port ด้วยตนเอง” ดังนั้นนักเรียนจะฝึกการเขียน การแทรกภาพ การแทรกวิดีโอ ด้วยตนเอง ครูอาจจะมีส่วนร่วมบ้างในประเด็นที่นักเรียนไม่มีกล้อง ไม่มีโทรศัพท์ ครูก็จะอำนวยความสะดวกให้โดยการถ่ายภาพแล้วนำมาวางไว้ใน drive กลาง เพื่อให้นักเรียนมาหยิบภาพไปใช้

ภาพตัวอย่างหน้าปก portfolio ของเด็กหญิงณัฐณิชา สุดพุ่ม โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย
ภาพตัวอย่างหน้าปกของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านน้ำกร่อย
แทรกการประเมินสมรรถนะใน e-portfolio

เจตนาแรกในการฝึกฝนทำ e-portfolio นั้น เพื่อให้นักเรียนคุ้นชินกับการใช้ e-mail และการแสดงตัวตนของตนเอง เมื่อนักเรียนเริ่มคุ้นชินแล้ว จึงแทรกสมรรถนะลงไปใน portfolio โดยตั้งเป็นประเด็นตามสมรรถนะทั้ง 10 ประการ และได้พูดคุยกับนักเรียนเกี่ยวกับรายละเอียดของสมรรถนะนั้นไว้ในเบื้องต้นแล้ว โดยให้นักเรียนแสดงตัวตนว่ามีสมรรถนะเหล่านั้นอย่างไร ให้หาหลักฐานร่องรอยมาใส่ไว้ใน port

ภาพตัวอย่างประเด็นการประเมินสมรรถนะ
การทำ e-portfolio เป็นงานต่อเนื่อง

เราได้พูดคุยกับนักเรียนให้รัก portfolio ของตน ให้นักเรียนเข้าไปบันทึกหลักฐานร่องรอยบ่อย ๆ ส่วนภาพรวมของโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย ได้แก่ ผู้บริหาร ครู และผู้ปกครอง ก็ต้องพยายามส่งเสริม สนับสนุนให้นักเรียนทำ portfolio อย่างต่อเนื่องและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการแสดงออกทางสมรรถนะของนักเรียนให้ชัดเจน

e-portfolio เป็นนวัตกรรมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

ตามความเป็นจริงเราไม่สามารถประเมินสมรรถนะของนักเรียนได้ด้วยการสอบข้อเขียน การประเมินสมรรถนะจำเป็นต้องวัดจากการแสดงออกของนักเรียนอย่างรอบด้าน ดังนั้น การใช้ e-portfolio จึงเป็นนวัตกรรมของโรงเรียนบ้านน้ำกร่อยที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของการศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิตของนักเรียน เปลี่ยนแปลงกระบวนการวัดและประเมินผลที่เคยใช้คะแนนเป็นตัวตัดสินคุณภาพของนักเรียนและของโรงเรียน ให้หันกลับมาสนใจคุณภาพความคิด ความรู้ และทักษะ ที่สะสมอยู่ในตัวนักเรียน ท้ายที่สุดนวัตกรรมนี้จะทำให้ครูมองเห็นผลการสอนเพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนบทบาทและวิธีสอน ครูจะเข้าใจว่า “โคช” นั้นทำอย่างไร

ภาพนักเรียนทำ e-portfolio ด้วยตนเอง

หากสนใจ สามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ที่ลิ้งค์ https://sites.google.com/view/eportfolio-bannamgroischool

สมรรถนะของนักเรียนโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย
  1. ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร
  2. คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน
  3. การสืบสอบทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์
  4. ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
  5. ทักษะชีวิตและความเจริญแห่งตน
  6. ทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ
  7. ทักษะการคิดขั้นสูงและนวัตกรรม
  8. การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล
  9. การทำงานแบบรวมพลังเป็นทีมและมีภาวะผู้นำ
  10. การเป็นพลเมืองตื่นรู้ที่มีสำนึกสากล


ผู้เขียน: อิงกมล บุญลือ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย โทร. 097-9628239
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ศศิธร สวัสดี, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: โชติกา สมหมาย

Facebook Comments
มช. ประสานความร่วมมือทุกภาคส่วนเข้าร่วมการทำงาน เพื่อสร้างกลไกขับเคลื่อนการบริหารจัดการการจัดการศึกษาทั้งระบบในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ให้เกิดการปฏิรูปด้านการศึกษาที่สร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริงในจังหวัดเชียงใหม่เชิญชวน ผู้บริหาร ครู และเครือข่าย เข้าร่วมประชุมออนไลน์ การดประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 3 ในวันที่ 22-23 ตุลาคม 2563 ณ โรงแรม สยามเคมปินสกี้ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
บทความล่าสุด