จากการประชุม คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2563 เวลา 12.30 น.ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ผู้ช่วยเลขานุการของคณะกรรมการฯ ได้แจ้งต่อที่ประชุมในวาระเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นการขยายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ใน (1) เพื่อคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้ เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน รวมทั้ง เพื่อดำเนินการให้มีการขยายผลไปใช้ในสถานศึกษาอื่น โดยข้อมูลจำนวนสถานศึกษานำร่องปีการศึกษา 2562 จำนวน 269 โรงเรียน ในปีการศึกษา 2563 มีจำนวนสถานศึกษานำร่องเพิ่ม 151 โรงเรียนใน 8 จังหวัดเดิม รวมมีสถานศึกษานำร่องทั้งสิ้นจำนวน 420 โรงเรียน
และมาตรา 7 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 บัญญัติว่า จังหวัดใดประสงค์จะเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ให้คณะผู้เสนอโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเพื่อดำเนินการตามมาตรา 6 โดยแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมขององค์กรภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง และแสดงให้เห็นว่าจังหวัดนั้นมีความพร้อมที่จะดำเนินการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งคณะอนุกรรมการด้านนโยบายฯ ได้ดำเนินการจัดประชุมพิจารณาแนวทางการขยายผลพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจนได้ข้อสรุปที่เป็นไปได้ 3 แนวทาง เพื่อเสนอขอความเห็นชอบที่ประชุมฯ ดังนี้
แนวทางที่ 1
เพิ่มสถานศึกษาที่เป็นอยู่แล้ว การเพิ่มสถานศึกษานำร่องในจังหวัดที่เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในปัจจุบันโดยให้สถานศึกษาที่เป็นสถานศึกษานำร่อง หรือหน่วยงานจากภายนอกเป็นพี่เลี้ยง โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของแต่ละจังหวัดจัดทำแผนการขยายผลสถานศึกษานำร่องในสามปีข้างหน้ามานำเสนอในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาครั้งต่อไป
แนวทางที่ 2
เพิ่มจังหวัดที่มีความพร้อม การเพิ่มจังหวัดใหม่ที่มีความพร้อมและที่ประสงค์จะเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ใช้อำนาจตามมาตรา 7 โดยหลักเกณฑ์พิจารณาความพร้อมของจังหวัดที่ประสงค์จะเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีดังต่อไปนี้ (1) ประชาคมในจังหวัดมีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง (2) มีหน่วยงานด้านวิชาการจากภายนอกที่จะให้การสนับสนุนทางวิชาการ (3) หากมีการระดมทรัพยากรสมทบเพิ่มเติมในจังหวัด จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
แนวทางที่ 3
ถอดบทเรียนสนับสนุน มาตรา 42 การขยายผลโดยการถอดบทเรียนจากการดำเนินงานของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในปัจจุบัน เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 โดยจัดทำเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ เพื่อเผยแพร่นวัตกรรมต่าง ๆ โดยขอรับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา สำนักงานเลขานุการกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในวาระนี้ 4 ข้อ คือ
1) ให้ความเห็นชอบแนวทางการขยายผลพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้ง 3 แนวทางควบคู่กัน
2) ให้ความเห็นชอบในหลักการต่อแนวทางพิจารณาความพร้อมของจังหวัดที่ต้องการ เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพิ่มเติม และให้คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายดำเนินการยกร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข พิจารณาความพร้อม การจัดตั้งเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อนำเสนอในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาครั้งต่อไป
3) ให้ความเห็นชอบการขยายผลโดยการถอดบทเรียนการใช้นวัตกรรมต่าง ๆ โดยเผยแพร่ ทางเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ โดยให้ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
4) ให้ความเห็นชอบโดยหลักการในการจัดสรรงบประมาณและอัตรากำลังบุคลากรเพิ่มเติม แก่สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อสนับสนุนการขยายผลพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ให้มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
ผู้เขียน: ศศิธร สวัสดี
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ภัชธีญา ปัญญารัมย์