ประเภทของหลักสูตรที่ใช้ในสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นพื้นที่ปฏิรูปการบริหารและการจัดการศึกษาเพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมการศึกษา ภายใต้พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นการนำร่องในการกระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เกิดการพัฒนาคุณภาพ ประสิทธิภาพ และลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งมีการขยายผลนวัตกรรมและวิธีการปฏิบัติที่ดีไปใช้ในสถานศึกษาอื่น ๆ กลุ่มเป้าหมาย คือ สถานศึกษาขั้นพื้นฐานในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน , องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ที่ได้รับการประกาศหรืออนุมัติเป็นสถานศึกษานำร่องตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562
จากผลการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานและหลักสูตรสถานศึกษาของสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตามมาตรา 20 (4) และมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 โดยคณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และมติคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 ได้จำแนกประเภทของหลักสูตรที่สถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสามารถเลือกใช้ได้โดยอิสระ ดังนี้
ประเภทที่ 1 หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ได้รับการปรับและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
เป็นหลักสูตรตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเห็นชอบให้มีการนำหลักสูตรแกนกลางการศึกษา ขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ไปปรับใช้กับการจัดการศึกษาในสถานศึกษานำร่องให้เหมาะสมกับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตามมาตรา 20 (4) ทั้งนี้ หลักสูตรที่ปรับใช้ดังกล่าวจะต้องครอบคลุมสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดยจะต้องมีการบูรณาการสาระการเรียนรู้ที่หลากหลาย ตอบสนองความสามารถ ความถนัด ความสนใจของผู้เรียนและสภาพภูมิสังคม รวมทั้งมีกระบวนการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning)
ประเภทที่ 2 หลักสูตรที่ปรับเพิ่มเติมจากหลักสูตรที่คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้ความเห็นชอบไปแล้ว
เป็นหลักสูตรตามมาตรา 25 วรรคสอง ที่สถานศึกษานำร่องต้องการปรับเพิ่มเติมจากหลักสูตรตามประเภทที่ 1 ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตามมาตรา 20 (4)
ประเภทที่ 3 หลักสูตรอื่น ๆ ที่สถานศึกษานำร่องประสงค์จะจัดการเรียนการสอนโดยไม่ใช้หลักสูตรตามมาตรา 20 (4)
เป็นหลักสูตรตามมาตรา 25 วรรคสี่ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 มีมติเห็นชอบให้สถานศึกษานำร่องสามารถประยุกต์ใช้แนวคิดหลักการของหลักสูตรอิงสมรรถนะหรือหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ หรือใช้นวัตกรรมหรือแนวคิดใหม่ ๆ ไปทดลองพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาของตนเองได้ รวมทั้งสถานศึกษานำร่องสามารถปรับการจัดการเรียน การสอนและวัดประเมินผลให้สอดคล้องกับหลักสูตรดังกล่าว
ประเภทที่ 4 หลักสูตรต่างประเทศ
เป็นหลักสูตรตามมาตรา 25 วรรคสี่ ที่สถานศึกษานำร่องประสงค์จะจัดการเรียนการสอนโดยใช้หลักสูตรต่างประเทศ จะต้องเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
การปรับหรือใช้หลักสูตรต่าง ๆ ตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หรือสถานศึกษานำร่อง แล้วแต่กรณี ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เรียน ผู้ปกครอง ครูและบุคลากรทางการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนภาคเอกชน และผู้แทนภาคประชาสังคมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามีมติให้คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเร่งขับเคลื่อน ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการของสถานศึกษานำร่อง ตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562
กราฟิกดีไซน์เนอร์: รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์