ทีมคณะศึกษาศาสตร์ มช. นำโดยหัวหน้าทีมลงพื้นที่ อาจารย์ ดร.สุนีย์ เงินยวง และคณะ ลงพื้นที่วิเคราะห์สภาพ ปัญหาและความต้องการพัฒนาการจัดการศึกษาของโรงเรียนแม่แจ่ม ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขับเคลื่อน พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562
โรงเรียนแม่แจ่มมีโมเดลการบริหาร POOMECHAEM MODEL (ภูมิแจ่มโมเดล) ที่เน้นชุมชนสัมพันธ์ (Community Relation) ผลักดันให้เกิดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community Based) และมีนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ระดับโรงเรียน “I Tri P MC Model: ทางเดินสายวัฒนธรรมแม่แจ่ม”
I (Inquiry) สืบเสาะ การจัดการการเรียนรู้ที่มุ่งให้ผู้เรียนตั้งคำถามในประเด็นที่สนใจ หาคำตอบเกี่ยวกับชุมชน จากการสืบเสาะหาความรู้จากเอกสาร สำรวจ สัมภาษณ์ หรือส่งเสริมให้มีการทัศนศึกษาเก็บรวบรวมในชุมชน
P (Preserve) อนุรักษ์ การจัดการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนเรียนรู้ประสบการณ์จริงจากการลงมือปฏิบัติ โดยมีครู หรือปราชญ์ชุมชนเป็นผู้ถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้
P (Produce) สรรค์สร้าง การจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนสร้างสรรค์ผลงาน โดยใช้ชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ในการหาข้อมูล ความรู้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาชุมชน
P (Publish) เผยแพร่ จัดเวทีและสนับสนุนการเผยแพร่ผลงานของนักเรียน โดยการแบ่งปันสู่ชุมชนในลักษณะของการนำเสนอ
นอกจากนี้โรงเรียนยังมีแผนขับเคลื่อน 7 ปี ที่มุ่งสร้างจิตสำนึกรักษ์ท้องถิ่นให้กับนักเรียน โดยมีการออกแบบการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรท้องถิ่น “เมืองแจ๋มศึกษา” ที่บูรณาการเนื้อหาของเมืองแม่แจ่มไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ในแต่ละระดับชั้น ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 “เล่าขานตำนานเมืองแจ๋ม” มัธยมศึกษาปีที่ 2 “ฮีตฮอยผญ๋าคนเมืองแจ๋ม” มัธยมศึกษาปีที่ 3 “ก๋านเซาะว่าหากิ๋นของคนเมืองแจ๋ม” มัธยมศึกษาปีที่ 4 “ภูมิผญ๋าคนเมืองแจ๋ม” มัธยมศึกษาปีที่ 5 “ของดีของงามของคนเมืองแจ๋ม” และมัธยมศึกษาปีที่ 6 “สำนึกรักษ์เมืองแจ๋ม”
ทั้งนี้ เพื่อให้นักเรียนโรงเรียนแม่แจ่มที่ได้รับการศึกษาขั้นสูงสามารถใช้ศักยภาพทางวิชาการ และสมรรถนะของตนเองกลับมาพัฒนาอำเภอแม่แจ่มอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
ผู้เขียน: ปนัดดา ไชยศักดิ์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ปนัดดา ไชยศักดิ์, รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ทศพร ขอนเพ็ชร