ถอดบทเรียนจากการลงพื้นที่
จากการลงพื้นที่วิเคราะห์บริบทและชุมชนของโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมทั้ง 15 แห่ง พบว่า มี 6 โรงเรียนที่ยังไม่มีอะไรชัดเจน 3 โรงเรียน มีการรับรู้และเข้าใจของบุคลากรอยู่ในระดับปานกลาง แต่ในด้านนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ ระบบการวัดผล และการบูรณาการเทคโนโลยียังไม่เป็นระบบ และมี 6 โรงเรียน ที่บุคลากรรับรู้และเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน มีนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ และการบูรณาการเทคโนโลยีที่ดี แต่ยังมีระบบการวัดและประเมินผลที่ยังไม่ชัดเจน
ทีมวิจัยยังพบสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน ครู และนักศึกษาครูในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ด้วย ซึ่งสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน มี 3 ประการ ได้แก่ การสื่อสารในสังคมพหุวัฒนธรรม การคิดเชิงระบบขั้นสูง และการมีคุณลักษณะเฉพาะตามอัตลักษณ์เชิงพื้นที่ สมรรถนะสำคัญของครู มี 3 ประการคือ การออกแบบนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียน การพัฒนาระบบการวัดและประเมินผลในโรงเรียน และการพัฒนาเทคโนโลยีสาระสนเทศสู่การจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน สมรรถนะสำคัญของนักศึกษาครู มี 7 ประการ ได้แก่ 1) การพัฒนาชุดความคิดเติบโต (Growth Mindset) 2) ความเข้าใจบริบทและการจัดการศึกษาของพื้นที่ 3) การพัฒนาหลักสูตรที่เน้นผลลัพธ์ของผู้เรียน 4) การนำตนเองสู่ผู้นำการเปลี่ยนแปลง 5) การบูรณาการเทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรม 6) การคิดเชิงระบบและแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน และ 7) การสร้างเครือข่ายและประสานความร่วมมือ
นอกจากนี้ ยังค้นพบวัฏจักรการเรียนรู้ 4 ขั้น (AAAR Model) ในการพัฒนาสมรรถนะนักศึกษาครูเพื่อรองรับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ 1) การสร้างการรับรู้ (Awareness) 2) กำหนดความคาดหวัง (Anticipation) 3) การลงมือปฏิบัติ (Action) และ 4) การสะท้อนคิด (Reflection)
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานระยะ 6 เดือน
ผลลัพธ์เชิงบวกที่เกิดขึ้น คือ การรับรู้ ความเข้าใจและกลไกความร่วมมือของบุคคล หน่วยงาน ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีความชัดเจนมากขึ้น การปรับเปลี่ยนชุดความคิดของผู้บริหารสถานศึกษาและครูในโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 มากยิ่งขึ้น อีกทั้งครูได้รับการพัฒนาสมรรถนะที่สำคัญในการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ซึ่งนำไปสู่การออกแบบนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน และกลุ่มบุคคล โรงเรียน หน่วยงานมีความสนใจที่จะเป็นเครือข่ายร่วมพัฒนามาขึ้น
ปัจจุบัน ทีมวิจัยได้เริ่มลงพื้นที่โรงเรียนกลุ่มเป้าหมายเพื่อปรับชุดความคิด และกำหนดเป้าหมายให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน โดยทีมวิจัยจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปตามลำดับ เพื่อให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และเป้าหมายของ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืนโดยเร็ว
ผู้เขียน: ปนัดดา ไชยศักดิ์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ปนัดดา ไชยศักดิ์, รัตนากร พึ่งแก้ว, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: ปนัดดา ไชยศักดิ์