เรียนรู้สู่กิจกรรมการลงแขกดำนากับโรงเรียนวิบูลวิทยา

9 กรกฎาคม 2021

กิจกรรมในครั้งนี้ได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง

นายศิริวัฒน์ ลำพุทธา ตำแหน่งศึกษานิเทศก์  สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดระยอง กล่าวว่า  วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน 2564 เวลา 09.09 น. ดร.ปรีระดา ปริปุรณะ รองศึกษาธิการจังหวัดระยอง ร่วมงานกิจกรรมการลงแขกดำนากับบุคลากรของโรงเรียนวิบูลวิทยา สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน  การจัดกิจกรรมดำนาข้าวครั้งนี้สอดคล้องกับ School Concept ของโรงเรียนที่ว่า “Rice is life”  ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้โรงเรียนวิบูลวิทยาได้บูรณาการแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญเพื่อให้นักเรียนและผู้ร่วมงานได้ศึกษาเรียนรู้ เช่น แปลงสาธิตการดำนา  และ ร้าน “วิบูลคาเฟ่”  สำหรับการบริการเครื่องดื่ม  กาแฟ อาหารว่าง อาหารกลางวัน  สำหรับผู้มาร่วมงาน  มีกิจกรรมหลากหลายเกี่ยวกับการดำนาข้าว เช่น การคัดเลือกพันธุ์ข้าว การเตรียมแปลงนาปลูกข้าว การเพาะต้นกล้า และการลงแขกดำนา เป็นต้น

     

กิจกรรมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากพระมหาจีระศักดิ์ โดยนิมนต์พระคุณเจ้าหลวงปู่ภา เป็นประธานการจัดกิจกรรม มีผู้มาร่วมงานที่สำคัญ เช่น คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง  ผู้นำชุมชน  ผู้ปกครอง บุคลากรศึกษาธิการจังหวัดระยอง  ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตาขัน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำกร่อย นักเรียนโรงเรียนวัดตาขัน ตลอดจนผู้บริหารและคณะครูที่สนใจ ร่วมชื่นชมกิจกรรมการดำนาในครั้งนี้

       

ความเป็นมากิจกรรมของโรงเรียนในครั้งนี้

นางศศิธร  เนตรภักดี ผู้อำนวยการโรงเรียนวิบูลวิทยา เปิดเผยว่า โรงเรียนได้ดำเนินการจัดกิจกรรมนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 4  ทางโรงเรียนจะดำนาปีละ  2 ครั้ง เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับทางโรงเรียนวิบูลวิทยาและโรงเรียนวัดตาขัน (เป็นโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษา) และยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน หรือเรียกสั้นว่า “บวร” จะมีผู้นำชุมชนร่วมกับชุมชนในท้องที่มาร่วมช่วยกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งได้ทำจนเป็นวัฒนธรรมของโรงเรียนไปแล้ว  และได้เข้าร่วมเป็นโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมนำร่องรุ่นที่ 2 จึงนำกิจกรรมตรงนี้เป็น School Concept ของโรงเรียนตามบริบทของโรงเรียน โดยการเอากิจกรรมที่เกี่ยวกับนาข้าวมาบูรณาการกับหลักสูตรการเรียนการสอนในทุกหน่วยวิชา โดยการเรียนทางทฤษฎีร่วมกับปฏิบัติ เช่น ในวิชาภาษาไทย นักเรียนต้องพรีเซนต์กิจกรรมเกี่ยวกับนาข้าวได้ สัมภาษณ์ได้ ออกสื่อเป็น ซึ่งที่ผ่านมาจะเป็นในเชิงปฏิบัติ แต่ในปีการศึกษา 2564 นี้ จะเริ่มนำเข้ามาเป็นหลักสูตรนวัตกรรมนำร่องของโรงเรียน ซึ่งขณะนี้ทางคณะครูกำลังดำเนินการเขียนแผนการเรียน แต่ตอนนี้เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทางโรงเรียนจึงได้ปรับรูปแบบการสอนเป็นแบบ online  

         

จะดำเนินการตามแผนการสอนของหลักสูตรอย่างไรบ้าง

นางศศิธร  เนตรภักดี ผู้อำนวยการโรงเรียนวิบูลวิทยา กล่าวว่า อันดับแรกนักเรียนต้องรู้ทฤษฎีก่อน เช่น การเริ่มทำนาทำอย่างไร เตรียมพื้นที่อย่างไร แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในครั้งนี้   จึงได้ทำการสอนโดยการเปิดในช่องทางของ Youtube เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษาไปก่อน หลังจากนั้นก็จะให้นักเรียนซึ่งแบ่งไปตามกลุ่มชั้นเรียนให้มาช่วยกันทำในช่วงวันที่ 23 – 24 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา เพราะพื้นที่นาของโรงเรียนมี 4 แปลงจึงไม่สามารถทำให้เสร็จได้ภายในหนึ่งวัน ซึ่งได้ทำการเตรียมดินเป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ และให้นักเรียนมาช่วยเตรียมต้นกล้า เพราะทุกกิจกรรม คือ การสอนให้กับนักเรียนไปด้วยในตัว ทางโรงเรียนจะนำไปบรรจุในหลักสูตรในการเรียนการสอนเสริมในภาคเรียนที่ 1/2564 นี้ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยทุกระดับชั้นต้องได้เรียนเหมือนกันครบทุกชั้น ซึ่งในภาคทฤษฎีนี้กำลังอยู่ในช่วงของการเขียนหลักสูตร เพราะข้าวกว่าที่จะปลูกและเป็นเมล็ดออกมาจะใช้เวลาถึง 4 เดือนครึ่ง ซึ่งจะครบ 1 ภาคเรียนพอดี โรงเรียนจะทำการเปิดการเรียนการสอนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 นี้  และที่ผ่านมาได้ทำการปลูกถึงขั้นตอนการส่งขายยังท้องตลาด จะเป็นพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ (Riceberry) ซึ่งทางโรงเรียนได้เก็บเล็กผสมน้อยจนตอนนี้ได้มีเครื่องสีข้าวไว้เป็นของโรงเรียนแล้วแต่เป็นแบบขนาดเล็กซึ่งยังไม่มีงบประมาณในการจัดซื้อที่เพียงพอ ซึ่งหากทางหน่วยงานไหนจะให้การสนับสนุนเครื่องสีข้าวให้กับทางโรงเรียนก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง  ทางโรงเรียนได้ให้นักเรียนทำการขายข้าวให้กับพื้นที่ในชุมชน ให้เด็กชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ขายผ่านช่องทาง online และให้การสนับสนุนเพื่อเป็นกำลังใจให้กับนักเรียนโดยการแบ่งผลกำไรให้ซึ่งหักต้นทุนให้กับทางโรงเรียนแล้ว 

ปัญหาอุปสรรคที่พบสำหรับการดำนาข้าวที่ผ่านมา 

ทางโรงเรียนจะพบเจออุปสรรค คือ นกที่มากินข้าวในนาข้าวซึ่งจะมาในช่วงเวลาตอนเช้าและตอนเย็นเป็นจำนวนมาก ทำให้ข้าวที่ปลูกเหลือจำนวนเพียงครึ่งนึงเท่านั้น หากนักเรียนมาไล่ไม่ทัน ซึ่งนักเรียนต้องพากันมาไล่นกซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของโรงเรียนในตอนนี้เป็นอย่างมาก 

ทางโรงเรียนได้ดำเนินการแก้ไขปัญหานกที่มากินข้าวในนาเบื้องต้นไปแล้วอย่างไรบ้าง 

ทางโรงเรียนเคยทำ “หุ่นไล่กา” แต่ก็ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร จึงได้ใช้ถุงพลาสติกสีดำขนาดใหญ่ผูกติดกับเชือกวางไว้กับพื้น หากนกบินมา เด็กก็จับเชือกดึงกระตุก ถุงสีดำก็จะลอยขึ้นมาซึ่งจะทำให้นกตกใจและบินหนีไป ซึ่งตอนนี้กำลังจะทำกังหัน และทำว่าวงู ทำนกอินทรีย์แก้ปัญหาไปพลางๆก่อน และสิ่งที่โรงเรียนกำลังต้องการในตอนนี้คือ ตาข่ายขนาดใหญ่ซึ่งได้รับคำแนะนำจากชาวบ้านในพื้นที่ให้นำมาป้องกัน 

กับการดำนาข้าวของโรงเรียนในตอนนี้

ตอนนี้ถึงขั้นตอนการดำนา ซึ่งนับไปอีก 3  เดือน จะถึงช่วงฤดูการเก็บเกี่ยว ช่วงนี้เป็นช่วงขั้นตอนการบำรุง ดูแลข้าว โดยการใช้น้ำส้มควันไม้มาไล่แมลงซึ่งครูวิทยาศาตร์เป็นผู้จัดสอนขั้นตอนในการทำ ใช้ปุ๋ยค้างคาวในการบำรุง สำหรับสารเคมีทางโรงเรียนจะไม่มีการนำมาใช้แต่อย่างใด  ขั้นตอนการดูแลรักษา ทางโรงเรียนจะให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้ด้วยกันทุกครั้ง เพื่อทราบขั้นตอนการทำ ระหว่างทำและดำเนินการจนถึงเสร็จในขั้นตอนสุดท้ายจากการเก็บเกี่ยวต่อไป 

ใช้ในการวัดผลประเมินผลนักเรียนอย่างไรบ้าง 

แต่ละรายวิชาจะต้องบอกเด็กว่ากิจกรรมตรงนี้ทางคณะครูมีคะแนนให้ 20 % ซึ่งหลักสูตรนี้ได้ผ่านการเห็นชอบจากทางผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

เป้าหมายที่วางไว้สำหรับกิจกรรมนี้คือ 

เด็กสามารถเรียนรู้ในเรื่องของความรับผิดชอบ ความอดทน และสามารถต่อยอดขึ้นเป็นทักษะอาชีพได้ ซึ่งที่ผ่านมาทางโรงเรียนได้ผลิตสบู่จากเมล็ดข้าว โดยการนำข้าวมาปั่นให้ละเอียดและใส่ส่วนผสมตามที่ครูวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาจากช่องทาง Youtube และนำไปขายแต่ก็ยังไม่ได้ผลกำไรเท่าที่ควร แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะเป้าหมายของเราคือ การให้เด็กได้เรียนรู้ มีความรู้เพิ่มเติม มีทักษะนำไปต่อยอดในอาชีพได้

ความภาคภูมิใจของโรงเรียน

การได้เห็นเด็กสนุก มีความสุขที่ได้มาเรียนรู้ และได้บอกกับเด็กไว้ว่า “ให้นำความรู้นี้ติดตัวไว้    ซึ่งจะได้สามารถนำไปใช้ได้ในสายอาชีพของเราในอนาคต” หากนักเรียนจะนำไปใช้ได้ในภายภาคหน้าในสายอาชีพของเขาก็เป็นความภาคภูมิใจของโรงเรียนแล้วในระดับหนึ่ง 

ได้เรียนรู้หรือแนวคิดเพิ่มเติมอะไรจากกิจกรรมของโรงเรียนในครั้งนี้

สำหรับตัวผู้เขียนจากการที่ได้สัมภาษณ์ท่านผู้อำนวยการโรงเรียนวิบูลวิทยา ทำให้พบว่า ตามสถานการณ์ปัจจุบันชนรุ่นหลังจะได้พบหรือได้เรียนรู้จากกิจกรรมการทำนาข้าว ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยวผลผลิตนี้ พบเห็นได้ยากขึ้น ซึ่งจะได้เห็นว่าโรงเรียนวิบูลวิทยาได้มีการสอนในการทำนาข้าวในครั้งนี้ ก็จะทำให้ชนรุ่นหลังไม่ลืมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่มีมาแต่ยาวนาน เป็นอาชีพหลักของสังคมไทย และตามบริบทของสถานการที่พัฒนาก้าวหน้าด้วยเทคโลโลยีในทุกวันนี้ หวังว่าเด็กไทยของเราจะสามารถนำไปต่อยอด ปรับเปลี่ยนและพัฒนาพันธุ์ข้าวไทยให้มีคุณภาพขึ้นต่อไปได้ จากการเรียนรู้ในวัยเยาว์ครั้งนี้  

 


     

 

ผู้เขียน: ปราชญาพร แช่ใจ
ผู้ให้สัมภาษณ์: 1. ศิริวัฒน์ ลำพุทธา ตำแหน่งศึกษานิเทศก์  สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดระยอง
                           2. ศศิธร  เนตรภักดี ผู้อำนวยการโรงเรียนวิบูลวิทยา
สัมภาษณ์: ปราชญาพร แช่ใจ
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ปราชญาพร   แช่ใจ
ภาพประกอบ: โรงเรียนวิบูลวิทยา จังหวัดระยอง

 

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ร่วมมือ 4 ประสาน พัฒนาคุณลักษณะความเป็นผู้ประกอบการ ตามกรอบหลักสูตรจังหวัดระยอง (Rayong MARCO)มิติแห่งวิถีการสร้างและพัฒนาคนระยอง: กรอบหลักสูตรจังหวัดระยอง Rayong MARCO