จังหวัดระยองเป็น 1 ใน 8 จังหวัดที่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 ปัจจุบันพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองมีสถานศึกษานำร่อง 63 แห่ง จำแนกรายสังกัด เรียงลำดับจากร้อยละมากไปหาน้อย ดังนี้
- สถานศึกษาสังกัด สพม.ชลบุรี ระยอง จำนวน 14 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 73.68 ของสถานศึกษาทั้งหมด
- สถานศึกษาสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำนวน 8 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 34.68 ของสถานศึกษาทั้งหมด
- สถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 2 จำนวน 17 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 19.54 ของสถานศึกษาทั้งหมด
- สถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 1 จำนวน 19 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 16.52 ของสถานศึกษาทั้งหมด
- สถานศึกษาสังกัดสำนักสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน จำนวน 5 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 15.63 ของสถานศึกษาทั้งหมด
สถานศึกษานำร่องทั้งสิ้น 63 แห่ง ได้ขอความเห็นชอบปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกรอบหลักสูตรจังหวัดระยอง (Rayong MARCO) ทั้งสิ้น 45 แห่ง และเป็นสถานศึกษานำร่องที่ยังไม่ได้เสนอขอความเห็นชอบอีก 12 แห่ง นอกนั้นเป็นสถานศึกษานำร่องที่ยังคงใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 อีก 6 แห่ง
กล่าวโดยสรุป พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองมีหลักสูตรหรือวิถีแห่งการสร้างและพัฒนาคนที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่แล้วจำนวนทั้งสิ้น 45 หลักสูตร
มิติแห่งวิถีการสร้างและพัฒนาคนระยอง: กรอบหลักสูตรจังหวัดระยอง Rayong MARCO
เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ครั้งที่ 2/2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ด้วยระบบ Zoom Cloud Meeting ประเด็นสำคัญของการประชุมครั้งนี้เป็นการให้ความเห็นชอบในการปรับใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ตามกรอบหลักสูตรจังหวัดระยอง (Rayong MARCO) ของหลักสูตรสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง รุ่นที่ 2 อีก 22 แห่ง และมอบหมายให้คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองร่วมกับคณะอนุกรรมการทุกชุดและผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้สถานศึกษานำร่องทุกแห่งใช้กรอบหลักสูตรจังหวัดระยอง นอกจากนี้ยังชื่นชมวิธีการกลั่นกรองหลักสูตรสถานศึกษานำร่องที่ดำเนินการอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐานรวมทั้งให้อิสระกับสถานศึกษานำร่องในการใช้กรอบหลักสูตรจังหวัดระยองสู่การพัฒนาสมรรถนะของนักเรียน
นอกจากการประชุมดังกล่าวแล้ว ผู้เกี่ยวข้องหลายท่านได้เสนอมุมมองต่อการใช้กรอบหลักสูตรจังหวัดระยองอีกหลายมิติ ดังนี้
1. กรอบหลักสูตรจังหวัดระยองเป็นคำตอบของความต้องการจัดการศึกษาจากคนระยองด้วยกระบวนการ “Social lab”
นายสมศักดิ์ พะเนียงทอง ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประธานคณะอนุกรรมการด้านยุทธศาสตร์พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองมองกรอบหลักสูตรจังหวัดระยอง หรือ Rayong MARCO ว่าเป็นความเพียรพยายามของคนระยองที่จะค้นหาวิธีการสร้างและพัฒนาคนที่สอดคล้องกับบริบทของจังหวัดระยอง เริ่มต้นจากนายปิยะ ปิตุเตชะ เป็นผู้ริเริ่มระดมสรรพกำลังสร้างแนวคิดในการปฏิรูปการศึกษา ของสถานศึกษาในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ในปี 2558 และเริ่มดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องด้วยวิธีการหลากหลาย อาทิ กระบวนการ “Social lab” ซึ่งได้รับการออกแบบและร่วมมือของหลายหน่วยงาน เช่น มูลนิธิสดศรี สฤษฎิ์วงศ์, สถาบันอาศรมศิลป์, สถาบันทีดีอาร์ไอ มูลนิธิสยามกัมมาจล, องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง, หน่วยงานทางการศึกษาในจังหวัดระยอง เป็นต้น จนประสบผลสำเร็จจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัดระยอง ในปี 2561 แผนยุทธศาสตร์นี้ประกาศโดยคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดระยอง หรือ กศจ. แผนยุทธศาสตร์นี้ระบุให้มีการสร้างกรอบหลักสูตรจังหวัดระยอง หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ระยองมาร์โค: Rayong MARCO” เป็นยุทธศาสตร์หนึ่ง
ในขณะที่จังหวัดระยองกำลังจะพัฒนากรอบหลักสูตรนี้ให้มีความชัดเจน เป็นเข็มทิศหรือแนวทางในการสร้างและพัฒนาคนระยองอยู่นั้น กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองในปีเดียวกัน จึงทำให้ระยองมีอิสระในการจัดการศึกษามากขึ้น ต่อมาในปี 2562 ได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 ขึ้น ดังนั้นจังหวัดระยองจึงเป็นจังหวัดที่โชคดีที่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและได้ใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชบัญญัตินี้ให้อิสระกับสถานศึกษานำร่องในการปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ทั้งนี้ต้องให้สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคม ความต้องการ ความถนัด และความสนใจของผู้เรียน ช่วงเวลาดังกล่าวนี้จึงเป็นโอกาสที่กรอบหลักสูตรจังหวัดระยองสำเร็จพอดี คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดระยอง (กศจ.ระยอง) จึงได้ประกาศใช้กรอบหลักสูตรจังหวัดระยอง ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 โดยใช้กับสถานศึกษาทุกแห่งในจังหวัดระยอง กรณีสถานศึกษานำร่องนำกรอบหลักสูตรจังหวัดระยองมาใช้ในการปรับหลักสูตรสถานศึกษาให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะตามกรอบหลักสูตรจังหวัดระยอง ส่วนสถานศึกษาทั่วไปนำกรอบหลักสูตรจังหวัดระยองไปใช้กับหลักสูตรสถานศึกษาที่เป็นหลักสูตรอิงมาตรฐาน
ในช่วงเวลา 2 ปีการศึกษา พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองโดยคณะกรรมการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองได้ให้ความเห็นชอบให้สถานศึกษานำร่อง จำนวน 45 แห่ง นำกรอบหลักสูตรจังหวัดระยองไปใช้ปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน และจัดทำเป็นหลักสูตรสถานศึกษาแบบฐานสมรรถนะที่สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคม ความต้องการ ความถนัด และความสนใจของผู้เรียน จำนวน 45 หลักสูตร แสดงว่าสถานศึกษาในจังหวัดระยองมีวิถีหรือวิธีการในการสร้างและพัฒนาคนแบบที่คนระยองต้องการแล้ว (รายละเอียด ดังภาพ)
2. กรอบหลักสูตรจังหวัดระยองมีอิสระในการนำไปใช้ เปิดกว้าง ก้าวข้ามวิชา เน้นความสำเร็จที่สมรรถนะ นักเรียนทำได้ ทำเป็น และนำไปใช้ในชีวิตจริงได้
นายธงชัย มั่นคง ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง แสดงแนวคิดมุมมองต่อกรอบหลักสูตรจังหวัดระยองว่ากรอบหลักสูตรนี้วัดผลสำเร็จด้วยสมรรถนะ 10 สมรรถนะ มีขอบเขตเนื้อหาที่อาจใช้เป็นสถานการณ์การเรียนรู้ 5 ด้าน ไม่มุ่งเน้นรายวิชา หรืออาจเรียกว่าเป็นกรอบหลักสูตรที่ก้าวข้ามรายวิชา ซึ่งเป็นการให้อิสระ และเปิดกว้างแก่สถานศึกษานำร่องในการนำไปปรับใช้ กรอบหลักสูตรจังหวัดระยองไม่ได้ชี้ชัดลงไปว่าเมื่อนักเรียนจบหลักสูตรนี้แล้วต้องเป็นอะไร หรือ ทำงานอะไร นักเรียนที่จบหลักสูตรของสถานศึกษานำร่องไปแล้วเป็นอะไรก็ได้ตามความต้องการ ความถนัด ความสนใจ ตามสมรรถนะที่ระบุไว้ แต่ในที่สุดนักเรียนจะเติบโตเป็นคนระยองที่มีคุณลักษณะตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ หรือที่เรียกย่อๆ ว่า DOE ซึ่งได้แก่ ผู้เรียนรู้ ผู้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม และพลเมืองที่เข้มแข็ง รวมทั้งเมื่อพิจารณาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสากล นักเรียน
3. กรอบหลักสูตรจังหวัดระยองใช้ได้กับบริบทของสถานศึกษาทุกแห่ง อยู่ที่ไหนในระยองก็ใช้กรอบหลักสูตรจังหวัดระยองได้
ดร.จารุณี ตันติเวชวุฒิกุล คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง และประธานคณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการ เสนอมุมมองต่อกรอบหลักสูตรจังหวัดระยองว่า โดยธรรมชาติของสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศ และภูมิประเทศของจังหวัดระยองมีความแตกต่างหลากหลายกัน อาจแบ่งได้ 7 ลักษณะ ได้แก่ ภูเขา ป่าไม้ เกษตร เกาะ แหล่งน้ำ ทะเล และอุตสาหกรรม ดังนั้น สิ่งแวดล้อม ปรากฏการณ์ หรือ บริบทรอบตัวเด็กก็แตกต่างกันไป ซึ่งไม่สามารถใช้ตำราเรียนเล่มเดียวกันแล้วเรียนได้ทั้งหมด กรอบหลักสูตรจังหวัดระยองไม่มีวิชาเรียน เพียงกำหนดเนื้อหาตามบริบทในชีวิตเด็กไว้ 5 เรื่อง ได้แก่ 1) ผู้นำที่สร้างสรรค์ (M: Manpower) 2) ภูมิปัญญาคนระยอง (A: Ancestor) 3) ทรัพยากร (R: Resorce) 4) การจัดการถิ่นฐานบ้านเรือน (C: City Planning) และ 5) อาชีพ (O: Occupation) แต่ละเนื้อหากำหนดขอบเขตและเป้าหมายไว้ ดังนี้
- M: Manpower เรียนรู้จากผู้นำในท้องถิ่น ฝึกฝนและพัฒนาตนเกี่ยวกับภาษา เทคโนโลยี และความเป็นพลเมือง เพื่อให้เป็นผู้นำที่สร้างสรรค์ในสังคมยุคดิจิทัล
- A: Ancestor เรียนรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น 5 เรื่อง ได้แก่ 1) ประเพณี วัฒนธรรม 2) ภูมิปัญญา 3) บุคคลสำคัญ 4) ประวัติศาสตร์ และ 5) อาหารพื้นบ้าน เพื่อให้จดจำรากเหง้าคนระยองและต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มสู่สากล
- R: Resource เรียนรู้เกี่ยวกับภูมิประเทศและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อดูแลและใช้อย่างเห็นคุณค่า
- C: City Planning เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการถิ่นฐานบ้านเรือนให้น่าอยู่ ตั้งแต่ระดับห้องเรียน บ้านเรือน ชุมชน สังคม และเมือง เพื่อจัดทำข้อเสนอเพื่อการพัฒนาเมือง
- O: Occupation เรียนรู้เกี่ยวกับการประกอบอาชีพตามบริบทสถานศึกษา เพื่อพัฒนาการประกอบอาชีพที่สร้างสรรค์และตอบโจทย์ระยอง
เมื่อพิจารณาที่ตั้งของสถานศึกษานำร่องในจังหวัดระยองจะเห็นว่าอยู่ในทุกพื้นที่เรียกได้ว่ามีเกือบทุกตำบลแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริบทและโจทย์ในการจัดการศึกษาของสถานศึกษานำร่องมีความหลากหลายตามที่ตั้งนั้นๆ แต่ด้วยความอิสระของกรอบหลักสูตรจังหวัดระยองที่ระบุไว้กว้าง ๆ ของเพียงเป้าหมายใหญ่และปรากฏการณ์ที่อยู่รอบตัวนักเรียน ทำให้สถานศึกษานำร่องนำกรอบหลักสูตรจังหวัดระยองไปใช้ได้อย่างหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนบ้านพยูนอยู่ติดทะเลได้นำกรอบหลักสูตรจังหวัดระยองไปปรับใช้กับบริบททะเล สร้างสมรรถนะจากปรากฏการณ์แบบทะเล โรงเรียนบ้านนน้ำกร่อยอยู่ป่าเขาอยู่กับช้างป่าก็นำกรอบหลักสูตรจังหวัดระยองไปปรับใช้กับสถานการณ์หรือปรากฏการณ์แบบป่าเขา เป็นต้น “อยู่ที่ไหนก็ใช้กรอบหลักสูตรจังหวัดระยองได้”
4. กรอบหลักสูตรจังหวัดระยองมีความเป็นดิจิทัล
ดร.สุรพงศ์ งามสม นายกสมาคม EIS แห่งประเทศไทย คณะอนุกรรมการด้านการส่งเสริมการบริหารวิชาการในคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง เสนอมุมมองจากกรอบหลักสูตรจังหวัดระยองว่า Themeและเป้าหมาย ของกรอบหลักสูตรจังหวัดระยองมีความสอดคล้องกับสังคมยุคดิจิตัล ยกตัวอย่างเช่นด้าน Manpower ที่มีเป้าหมายให้ผู้เรียนเป็นผู้นำที่สร้างสรรค์สังคมดิจิตัล นับว่าเป็นประเด็นที่สำคัญมาก แสดงให้เห็นการมองการณ์ไกลของกรอบหลักสูตรจังหวัดระยอง รวมทั้งสมรรถนะการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิตัล และอื่นๆ อีก นั้น สถานศึกษาจำเป็นต้องปรับใช้สถานการณ์ยุคดิจิตัลในปัจจุบันให้เป็นการเรียนรู้ของเด็ก ให้มีลักษณะดังนี้
- ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีอิสระตามที่เด็กต้องการและจำเป็นต้องเรียนรู้
- ส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยระบบดิจิตัล ใช้แอพพลิเคชั่นเป็นเครื่องมือ ทำให้เรียนรู้ได้ทุกที่ ครูอยู่ทุกแห่ง เน็ตเวิร์คเป็นห้องเรียนที่กว้างใหญ่ ทันสมัยและเป็น real time ไม่ต้องซื้อตำราเรียนเพราะตำราเรียนมีอยู่ทั่วไปในสังคมดิจิตัล
- ส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องรอ ครูเป็นเพียงที่ปรึกษาหรือผู้สร้างแรงบันดาลใจ หรือ เป็นโคชที่ดีเท่านั้น หน้าที่ต้องเรียนรู้เป็นหน้าที่ของเด็ก
- สถานศึกษาต้องสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ด้วยดิจิตัล เช่น เลือกใช้ application ที่ทำให้มองเห็นความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของเด็ก มีข้อมูลสารสนเทศที่ทำให้มองเห็นภาพรวมของพัฒนาการเด็กทั้งโรงเรียน ในส่วนนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก ข้อมูลสารสนเทศที่มีใน application ทำให้เกิดการวางแผนส่งเสริม กระตุ้นให้เด็กมีสมรรถนะในการเรียนรู้ด้วยตนเอง รวมทั้งเป็นการสร้างความจำเป็นในการใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนรู้ด้วย
สังคมที่เราอยู่ในปัจจุบันเป็น digital planet คนระยองอยู่ที่จังหวัดระยองก็จริงแต่สื่อสารรับรู้เรื่องราวได้ทั่วโลกแบบทันเหตุการณ์ ดังนั้นเราจะมองแค่จังหวัดระยอง ประเทศ และโลกของเราไม่ได้แล้ว สิ่งที่กรอบหลักสูตรจังหวัดระยองกำหนดไว้ทุกด้านจำเป็นต้องใช้ข้อมูลและแหล่งการเรียนรู้แบบ digital planet ถ้าครูซึ่งเป็นคนยุคนี้ยังไม่เข้าใจโลกแห่งอนาคตก็ต้องหาวิธีให้เด็กซึ่งเป็นคนยุคดิจิตัลมีโอกาสเรียนรู้ด้วยตนเองให้มากขึ้น
5. กรอบหลักสูตรจังหวัดระยองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
นายมนตรี ชนะชัยวิบูลวัฒน์ ที่ปรึกษาองค์การบริหารจังหวัดระยอง คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง และประธานอนุกรรมด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วม เสนอมุมมองต่อกรอบหลักสูตรจังหวัดระยองว่า กรอบหลักสูตรจังหวัดระยองเริ่มต้นจากความต้องการและความจำเป็นของคนระยอง จึงทำให้เข้ากับธรรมชาติของจังหวัดระยองที่เป็นความหวังของประเทศหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเป็นเมืองในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่งในขณะนี้มีการขับเคลื่อนไปแล้ว อาทิ ท่าเรือน้ำลึก การสร้างระบบการสื่อสารต่างๆ การสร้างและการพัฒนาคน เป็นต้น กรอบจังหวัดระยองที่สถานศึกษานำมาใช้จึงเป็นการทำงานที่สอดคล้องร้อยรัดกันกับเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดระยองดังกล่าว เป็นผลให้สถานศึกษามีโอกาสนำหน่วยงาน องค์กร ทั้งภายนอกและภายในเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาได้อย่างลงตัว อาทิ สถานศึกษาที่มุ่งเน้นการสร้างคุณลักษณะความเป็นผู้ประกอบการให้กับนักเรียน สามารถประสานกับผู้ประกอบรายย่อยรายใหญ่ในจังหวัดให้เป็นที่ปรึกษา หรือ ร่วมกันออกแบบหลักสูตรสถานศึกษาได้ สถานศึกษาบางแห่งต้องการให้นักเรียนมีประสบการณ์ด้านเอไอหรือหุ่นยนต์อัจฉริยะอาจขอความร่วมมือจากสถานประกอบการที่ทันสมัยในจังหวัดระยองซึ่งมีอยู่มากมายและยินดีให้ความร่วมมือกับสถานศึกษาอยู่แล้ว เป็นต้น
การสร้างโอกาสและการมีส่วนร่วมดังกล่าวจะเป็นการสร้างรอยเชื่อมต่อให้กับนักเรียนได้อย่างดี ต้องบอกว่าเป็นโอกาสของคนระยองและจังหวัดระยองที่มีกรอบหลักสูตรจังหวัดระยอง มีภาคีเครือข่าย มีสถานประกอบการ ที่พร้อมมีส่วนร่วมกับการจัดการศึกษาของจังหวัดระยอง
เอกสารแนบท้าย
แผนภูมิจำนวนสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง
รายชื่อสมรรถนะในกรอบหลักสูตรจังหวัดระยอง
- ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร
- คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน
- การสืบสอบทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์
- ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
- ทักษะชีวิตและความเจริญแห่งตน
- ทักษะอาชีพและความเป็นผู้ประกอบการ
- ทักษะการคิดขั้นสูงและนวัตกรรม
- การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล
- การทำงานแบบรวมพลังเป็นทีมและมีภาวะผู้นำ
- พลเมืองที่เข้มแข็ง/ตื่นรู้ที่มีสำนึกสากล
ผู้เขียน: มนตรี ชนะชัยวิบูลวัฒน์ คณะอนุกรรมการสื่อสารและการมีส่วนร่วม พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์