สวัสดีผู้อ่านทุกคนพบกับบทความ “30 ก้าวขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา” ครั้งนี้สัมภาษณ์และขอข้อมูลจาก ผอ.ซาร่าห์ ปาแมม๊ะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปอเยาะ หนึ่งในสามสิบโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา ที่ได้พัฒนา “เดคูพาจ” เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ การเพิ่มมูลค่า และการส่งเสริมทักษะอาชีพ
จุดเริ่มต้นเป็นโรงเรียนนำร่อง
จากข้อมูลที่ได้พูดคุยกับ ผอ.ซาร่าห์ ปาแมม๊ะ จึงได้ทราบว่าโรงเรียนบ้านปอเยาะ เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่ยิ่งใหญ่ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาและคาดหวังว่าการเข้าเป็นโรงเรียนนำร่องจะช่วยพัฒนานวัตกรรมกรรมที่จะช่วยส่งเสริมทักษะชีวิต เช่น ทักษะการคิด และทักษะการสื่อสารให้ผู้เรียนมากยิ่งขึ้น
เรียนรู้เพื่อการพัฒนา
ในการเป็นผู้บริหารจึงจำเป็นต้องปรับความคิดเปลี่ยนทัศนคติของตนเองเพื่อการพัฒนา ซึ่งการได้เข้าร่วมอบรมพัฒนาทำให้เกิดกระบวนการความคิด เกิดความรู้ ความคิด ความเข้าใจ และเห็นประโยชน์ของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา รวมทั้งเกิดเครือข่ายการทำงานและมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอื่น ๆ ในพื้นที่ ทำให้รู้สึกไม่โดดเดี่ยวในการขับเคลื่อนและพร้อมเดินหน้าพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสู่เป้าหมายเดียวกัน
การเปลี่ยนแปลงหลังเข้าเป็นโรงเรียนนำร่อง
- ครู เข้าร่วมอบรมพัฒนา ขยายการเรียนรู้ของครูให้มีความพร้อม และทำงานแบบมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ร่วมวางแผนดำเนินงาน เสนอปัญหาและความต้องการสู่ชุมชน เพื่อกำหนดผู้รับผิดชอบ กำหนดปฏิทินการทำงาน เพื่อทิศทางการทำงานเดียวกัน
- ชุมชน ประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานชี้แจงนโยบายและการเข้าเป็นสถานศึกษานำร่อง ขยายผลสู่ผู้ปกครองให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาผู้เรียนไปพร้อมกัน
- นักเรียน มีความสุขกับการทำกิจกรรม โดยเรียนรู้ผ่านกระบวนเรียนรู้ Active Learning เพื่อพัฒนากระบวนการคิด การทำงานเป็นทีม การรับผิดชอบ และทักษะการสื่อสาร
“เดคูพาจ” งานหัตถศิลป์
โรงเรียนบ้านปอเยาะมีการใช้กิจกรรม “เดคูพาจ”งานหัตถศิลป์ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ สร้างอาชีพเสริม ด้วยการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยมีแนวคิดในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และการสร้างอาชีพเสริมให้กับนักเรียน โดยจัดกิจกรรมนี้ในคาบชุมนุม จัดการเรียนการสอน 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อพัฒนากระบวนการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และใช้คำถามกระตุ้นด้วยสถานการณ์ที่แตกต่างกัน วิเคราะห์จุดเด่น จุดด้อยของตนเองได้ฝึกให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แบบโครงงาน และสร้างผลงานประเภทโครงงานเชิงประดิษฐ์ เชิงทดลอง แผนผังความคิด ซึ่งสามารถต่อยอดในการสอนทักษะกระบวนการคิดในกลุ่มสาระอื่น ๆ
โดยงาน “เดคูพาจ” (Decoupage) นั้นเป็น การนำ “กระดาษแน็พกิ้น” ที่มีลวดลายสีสันต่าง ๆ มาติดและตกแต่งบนชิ้นงาน ไม่ว่าจะเป็น ไม้ ขวดแก้ว กระเบื้อง กระถาง ตะกร้าพลาสติก ตะกร้าที่สานจากหวาย ใบลาน ผักตบชวา หรือบนพื้นผิวของภาชนะต่าง ๆ โดยงานเดคูพาจกำลังได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น การที่จะสอนนักเรียนหรือฝึกให้นักเรียนทำอะไรสักอย่างก็น่าจะเป็นงานที่น่าสนใจ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ความน่าสนใจของงานเดคูพาจก็คือ ผู้เรียนสามารถสร้างสรรค์ออกแบบลวดลายได้ตามความต้องการของตนเอง
“ฝึกทักษะในการจักสาน” ขั้นตอนการผลิตชิ้นงานจะเริ่มจากการจักสานภาชนะหรือกระเป๋าในรูปแบบต่างๆ โดยใช้เส้นพลาสติก ซึ่งจะใช้เวลาในการเรียนรู้ประมาณ 1-2 วัน เมื่อมีความชำนาญแล้วก็สามารถออกแบบให้มีรูปทรงต่าง ๆ นำมาตกแต่งด้วยการทำเดคูพาจ หรืออีกวิธีคือ นักเรียนสามารถนำวัสดุเหลือใช้ภายในบ้านหรือในชุมชน เช่น กระป๋อง ตะกร้า รองเท้า ขวดแก้ว สร้างชิ้นงานให้สวยงามได้ด้วยแดคูพาจเช่นกัน
“เดคูพาจ” คือ กระบวนการนำหัตถศิลป์หรืองานแฮนด์เมท ซึ่งมีขั้นตอนที่ง่ายใช้เวลาเรียนรู้ไม่นาน เพียงไม่กี่ชั่วโมงก็สามารถทำได้ เริ่มจากการทา “กาวลาเท็กซ์” ลงบนชิ้นงานที่ต้องการตกแต่ง แล้วนำ “กระดาษแน็พกิ้น” หรือกระดาษลวดลายมาแปะลงบนชิ้นงาน เป่าด้วยไดร์เป่าผมเพื่อให้กาวแห้ง แล้วใช้ผ้าหรือฟองน้ำชุบน้ำหมาดๆ กดเพื่อให้กระดาษแนบสนิทกับชิ้นงาน แล้วทาด้วย “น้ำยาวานิช”เคลือบประมาณ 2-3 ครั้ง และในการเคลือบทุกครั้งจะต้องใช้ไดร์เป่าผมเป่าให้แห้งทุกครั้ง เพราะฉะนั้นนักเรียนก็จะสนุกกับการทำ แล้วหลังจากที่ได้ชิ้นงานแล้วก็สามารถจำหน่ายได้ด้วย โดยที่เราจะคิดกำไรประมาณร้อยละ 50 ของราคาทุน สำหรับที่ผ่านมาโรงเรียนได้นำชิ้นงานแดคูพาจขายที่ตลาดนัดเขานางแก้ว ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน และได้รับความสนใจจากผู้ปกครองเป็นอย่างดี ทำให้เด็กๆ มีรายได้ เพราะฉะนั้นเขาก็เลยมีกำลังใจที่จะสร้างสรรค์งานขึ้นมา” อีกทั้ง ได้นำชิ้นงานที่นักเรียนได้จัดทำมานำเสนอในงานนิทรรศการต่างๆ ก็ได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นอย่างดี
โครงสร้างรายวิชาดังนี้
- ป.1 ฝึกการจักสานด้วยลวดลายกระดาษอย่างง่ายและการฝึกปะติดด้วยกระดาษลวดลายในการสร้างชิ้นงาน
- ป.2,3 ฝึกจักสานด้วยลวดลายกระดาษแต่เริ่มประดิษฐ์เป็นตะกร้าอย่างง่ายในรูปทรงต่าง ๆ ฝึกการปะติดและเริ่มสร้างชิ้นงานง่าย ๆ
- ป.4 ฝึกจักสานด้วยเส้นพลาสติก แต่ฝึกการสานรูปทรงง่าย ๆ และเริ่มปะติดชิ้นงานด้วยแดคูพาจ
- ป.5,6 เรียนรู้การต่อยอดสร้างอาชีพเสริมในการหาวัสดุเหลือใช้มาสร้างชิ้นงานในการสร้างมูลค่า และเรียนรู้การจักสานด้วยเส้นพลาสติกเป็นรูปทรงต่างๆ และออกแบบชิ้นงานให้สวยด้วยเดคูพาจ และเรียนรู้ในด้านงบลงทุน ต้นทุน กำไร และการต่อยอดในการสร้างรายได้เสริม
โดยในอนาคตทางโรงเรียนจะนำกิจกรรมดังกล่าว เข้าสู่การปรับหลักสูตรอิงฐานสมรรถนะ เพื่อการวัดผลประเมินผลผู้เรียนให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นจุดเด่นของการสร้างชิ้นงานด้วยแดคูพาจ นอกจากจะให้นักเรียนได้เรียนรู้โดยการจักสานด้วยเส้นพลาสติกซึ่งทำให้นักเรียนฝึกสมาธิ ฝึกความรับผิดชอบแล้ว นักเรียนยังสามารถนำเศษวัสดุเหลือใช้มาสร้างมูลค่าด้วยการทำเดคูพาจ ทำให้ชิ้นงานมีความสวยงาม เป็นการรีไซเคิลขยะเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์ขึ้นได้ อีกทั้งผู้เรียนได้รู้จักใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ใช้อย่างคุ้มค่า ลดปริมาณขยะ ลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย และเมื่อนักเรียนได้สร้างชิ้นงานอย่างสวยงามก็สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดในการสร้างอาชีพหรือหารายได้พิเศษให้กับครอบครัวได้ต่อไป
ความสำเร็จ
โรงเรียนยังต้องหาแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขแผนงาน ปรับกระบวนการ และหาแนวทางแก้ไขปัญหาและส่งเสริมพัฒนานักเรียนให้ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพให้มากที่สุด และเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้ง 4 ด้านจากการใช้กิจกรรมเดคูพาจ คือ
- ผู้บริหาร เกิดการพัฒนาตนเองได้ด้านการจัดการอย่างมีส่วนร่วมทั้งภาคีเครือข่ายภายในและภายนอกโรงเรียน เข้าร่วมวางแผนการดำเนินงาน เป็นพลังขับเคลื่อนการทำงานให้บรรลุไปตามเป้าหมายที่วางไว้
- ครู เกิดการพัฒนาตนเองในการปรับจัดรูปแบบการสอนแบบ Active Learning รู้และเข้าใจในขั้นตอนการทำเดคูพาจและการสร้างชิ้นงานและออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างสร้างสรรค์
- ผู้เรียน เกิดการพัฒนาตนเองในการฝึกพัฒนาสมาธิ ความรับผิดชอบ ความรอบคอบ ความตั้งใจ การจัดเก็บวัสดุอุปกรณ์เมื่อใช้งานเสร็จ และได้ทำงานเป็นทีม กล้าพูดกล้าแสดงออกมากขึ้น อีกทั้ง นักเรียนยังได้รู้จักการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและเข้าใจในการลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย
- ชุมชน เห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนในการเรียนรู้ของนักเรียน ให้กำลังใจบุตรหลาน และติดตาม ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของโรงเรียนเป็นอย่างดี
ส่งท้าย
โรงเรียนบ้านปอเยาะ โรงเรียนเล็ก ๆ ที่มีความมุ่งมั่นเกินร้อย เพื่อการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพและพร้อมขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสู่เป้าหมาย ซึ่งต้องอาศัยแรงพลักดันจากหน่วยงานต้นสังกัดและพื้นที่ฯ เป็นพลังและแรงส่งเสริมการทำงานของโรงเรียน ทั้งในเรื่องงบประมาณสำหรับการจัดซื้อวัสดุและอุปกรณ์ ด้านกำลังคนให้เพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอน การเข้ารับพัฒนาความรู้ แนวคิด และวิธีการให้การทำเดคูพาจมีความสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น รวมทั้งทางโรงเรียนก็มีความตั้งใจที่จะพัฒนาให้กิจกรรมเดคูพาจเป็นหนึ่งในกิจกรรมสร้างสมรรถนะของหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะที่จะปรับเปลี่ยนในเวลาอันใกล้นี้ และมีอีกความตั้งใจของ ผอ.ซาร่าห์ ปาแมม๊ะ คือ การพัฒนากิจกรรมเดคูพาจสู่การเป็นรูปธรรมและเป็นแหล่งเรียนรู้และจัดแสดงผลงานจากการทำเดคูพาจให้ผู้ที่สนใจเข้าศึกษาได้อีกด้วย
ในปีการศึกษา 2564 การจัดกิจกรรมเดคูพาจและการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านปอเยาะ โรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลาเป็นอย่างไร โปรดติดตามต่อไป และผู้เขียนจะนำเสนอบทความที่น่าสนใจของโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลาอื่นที่น่าสนใจต่อไปในหัวข้อ “30 ก้าวขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” บทความถัดไป
สุ่มความคิดกับเราที่
Facebook – สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา – EduSandbox
Group Facebook – EduSandbox – พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
ผู้เขียน: อิศรา โสทธิสงค์ ,ซาร่าห์ ปาแมม๊ะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปอเยาะ
ผู้ให้สัมภาษณ์: ซาร่าห์ ปาแมม๊ะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปอเยาะ
ผู้สัมภาษณ์: อิศรา โสทธิสงค์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ปราชญาพร แช่ใจ
ภาพประกอบ: โรงเรียนบ้านปอเยาะ