โรงเรียนบ้านพระนอนค้นพบปัญหาที่เกิดขึ้นจากการจัดการ การเรียนการสอนซึ่งส่งผลให้นักเรียน ยังไม่บรรลุตามเป้าหมายของโรงเรียน คือ นักเรียนขาดทักษะจัดการตนเอง ไม่เห็นคุณค่าในตนเอง ไม่มีเป้าหมายในชีวิต ขาดสุขภาวะที่ดี ขาดการจัดการอารมณ์ความเครียด และการแก้ปัญหาในภาวะวิกฤต เมื่อศึกษาหาสาเหตุแล้วพบว่า เกิดจากระบบการศึกษา ที่มีหลักสูตรไม่สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียน ครูขาดการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย และที่สำคัญอีกประการคือ ผู้ปกครองและนักเรียนไม่ใช่คนในพื้นที่ นักเรียนร้อยละ 90 เป็นนักเรียนที่เป็นบุตรหลานของผู้ใช้แรงงานข้ามชาติ และนักเรียนชาวเขาที่มาจากต่างถิ่น มีการย้ายถิ่นฐานบ่อยเนื่องจากต้องย้ายสถานที่ทำงานไปเรื่อย ๆ ผู้ปกครองมีฐานะยากจนและส่วนใหญ่มีปัญหาหย่าร้างทำให้ขาดการดูแลเอาใจใส่บุตรหลานทั้งในด้านคุณภาพชีวิตและด้านการศึกษา นักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนบ้านพระนอนส่วนใหญ่จะมีโอกาสศึกษาต่อน้อย คือไม่เกินการศึกษาภาคบังคับก็ออกมาหางานทำเพื่อหารายได้ช่วยครอบครัว และเมื่อไม่ได้เรียนจบในระดับสูงๆ จึงมีทางเลือกน้อยในการหางานทำ ส่วนใหญ่ก็จะเลือกทำอาชีพตามรอยผู้ปกครอง เช่น อาชีพก่อสร้าง รับจ้างทั่วไป ซึ่งได้ค่าตอบแทนน้อย ปัญหาดังกล่าวมาจากนักเรียนขาดเป้าหมายในชีวิต ไม่รู้ว่าตนเองถนัดและชอบสิ่งใดและสาเหตุอีกประการคือนักเรียนขาดความรู้เกี่ยวกับอาชีพใหม่ๆ ที่หลากหลายในสังคม จึงทำให้นักเรียนเลือกทำอาชีพที่ตนเองรู้จักเท่านั้น
จากปัญหาดังกล่าวโรงเรียนบ้านพระนอนได้เล็งเห็นความสำคัญในการจัดกระบวนการเรียนการสอน ที่มุ่งเน้นผลลัพธ์สู่ผู้เรียนโดยตรง ทางโรงเรียนมีการวางแผนและกำหนดรูปแบบการจัดการศึกษาเป็นของโรงเรียนโดยเน้นทักษะการจัดการตนเองเพื่อพัฒนาระบบการคิดและจิตวิญญาณของผู้เรียนให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งนี้ในการปรับรูปแบบการจัดการศึกษาของโรงเรียนจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนปรับปรุงและพัฒนาส่วนต่าง ๆ ไว้หลายด้านเช่น แนวคิด ทัศนคติของทุกภาคส่วนทั้งผู้บริหาร ครู ผู้ปกครองและนักเรียน ระบบการบริหารการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย การปรับภูมิทัศน์ของโรงเรียน ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ เมื่อบรรยากาศการเรียนรู้ดีขึ้น หลักสูตร กระบวนการดีขึ้น ระบบการคิดและจิตวิญญาณของผู้เรียนก็จะดีขึ้นตาม ดังนั้นจึงมีการปรับการจัดการเรียนรู้แนวใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียนที่เป็นบุตรหลานของผู้ใช้แรงงานโดยตรงเพื่อสามารถนำไปใช้ต่อยอดสู่อาชีพในชีวิตประจำวันได้
โรงเรียนบ้านพระนอนมีแนวคิดในการปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้โดยมุ่งเน้นให้นักเรียนเกิดทักษะการจัดการตนเองเพื่อสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและอนาคตได้จริง โดยปรับการเรียนรู้จากการเรียนการสอนแบบเดิมเป็นการสอนแบบบูรณาการข้ามศาสตร์ด้วยการอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning และขับเคลื่อนการจัดกิจกรรมในรูปแบบของ PDCAR ดังนี้
ภาคเช้า จัดการเรียนการสอน 4 วิชาหลัก คือ วิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวิชาภาษาอังกฤษ
ภาคบ่าย บูรณาการข้ามศาสตร์ ระหว่างวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม วิชาสุขศึกษา พลศึกษา วิชาศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์ และวิชาการงานอาชีพ โดยจัดการเรียนรู้ในแต่ละวันดังนี้
วันจันทร์ โลกของการทำงาน บูรณาการวิชาการงานอาชีพร่วมกับวิชาภาษาไทย วิชาคณิตศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม วิชาศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์ และ
วิชาภาษาอังกฤษ
วันอังคาร สุนทรียภาพทางอารมณ์ ดนตรี ศิลปะ บูรณาการวิชาศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์ร่วมกับวิชาภาษาไทย วิชาคณิตศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม วิชาการงานอาชีพ และวิชาภาษาอังกฤษ
วันพุธ สุขภาพกาย กีฬา นันทนาการ บูรณาการวิชาสุขศึกษา พลศึกษาร่วมกับวิชาภาษาไทย วิชาคณิตศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม วิชาการงานอาชีพ และวิชาภาษาอังกฤษ
วันพฤหัสบดี พลเมืองโลก รักตนเอง รักเพื่อนมนุษย์ รักสิ่งแวดล้อม บูรณาการวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมกับวิชาศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์ วิชาสุขศึกษา พลศึกษา วิชาภาษาไทย วิชาประวัติศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวิชาภาษาอังกฤษ
วันศุกร์ ศีลธรรมนำใจ ใฝ่สัมฤทธิ์ จิตสาธารณะ บูรณาการวิชาสังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรมร่วมกับวิชาภาษาไทย วิชาคณิตศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิชาศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์ วิชาการงานอาชีพและวิชาภาษาอังกฤษ
กิจกรรมการเรียนรู้ทั้ง 5 วันมีขั้นตอนการทำงานตามกระบวนการของ PDCAR โดยผู้มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน คือ ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนบ้านพระนอน และภาคีเครือข่าย ได้แก่
- เซ็นทรัลทำ
เป็นผู้สนับสนุนในด้านวัสดุอุปกรณ์ สื่อการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมกิจกรรมบูรณาการข้ามศาสตร์ภาคบ่าย - สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
ให้คำปรึกษาด้านการจัดทำหน่วยการเรียนรู้ แผนการจัดการเรียนรู้รวมทั้งเครื่องมือการวัดผลประเมินผล - คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
ร่วมประชุมวางแผนและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับปราชญ์ชุมชนที่มีความสามารถในด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นวิทยากรในการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนตามกิจกรรมประจำวัน - ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 8
ให้การสนับสนุนจัดอบรมผู้คัดกรองเด็กที่มีความต้องการพิเศษแก่ครูโรงเรียนบ้านพระนอนทุกคน และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ - องค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว
ให้การสนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องมือในการปรับภูมิทัศน์ของโรงเรียนให้เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ และสนับสนุนงบประมาณในการจัดอบรมผู้คัดกรองเด็กที่มีความต้องการพิเศษ - ชมรมผู้ปกครอง
ให้ความร่วมมือในการปรับภูมิทัศน์และสร้างศาลาร่วมใจเพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่นักเรียน - ชุมชน
ร่วมประชาสัมพันธ์และให้การสนับสนุนปัจจัยพื้นฐานที่สามารถส่งเสริมการจัดการศึกษาให้แก่โรงเรียน โดยมีปราชญ์ชาวบ้านในด้านศิลปะดนตรีมาเป็นวิทยากรในการให้ความรู้แก่นักเรียนด้วยฝึกปฏิบัติจริงเกี่ยวกับการเป่าขลุ่ย การจ๊อยซอ และการตีกลองสะบัดชัย ซึ่งเป็นศิลปะและดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคเหนือ
ปัญหาและอุปสรรค
เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลให้ ไม่สามารถให้นักเรียนทุกคนมาเรียนได้พร้อมกัน จึงทำให้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนบางกิจกรรม ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
ประโยชน์ของการจัดการเรียนรู้โดยมุ่งเน้นให้นักเรียนเกิดทักษะการจัดการตนเอง
ด้านผู้บริหาร/ครู/บุคลากรทางการศึกษา
- ครูเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนรู้ โดยใช้กระบวนการ Active Learning
- ครูเป็นผู้ช่วยเหลือให้การสนับสนุนแก่นักเรียน สร้างความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจแก่ผู้เรียน
ด้านนักเรียน
- นักเรียนเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น
- นักเรียนมีเป้าหมายในชีวิต
- นักเรียนสามารถจัดการอารมณ์และความเครียดกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้
- นักเรียนสามารถจัดการปัญหาในภาวะวิกฤติได้
- นักเรียนมีสุขภาวะที่ดี
ด้านชุมชน/ผู้ปกครอง/ภาคีเครือข่าย
- เปลี่ยนแนวคิดใหม่ต่อการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบบูรณาการข้ามศาสตร์
- ให้การสนับสนุนและส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบบูรณาการข้ามศาสตร์
การจัดการเรียนรู้บูรณาการข้ามศาสตร์ ครูผู้สอนจะทำหน้าที่สนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียน คอยให้คำปรึกษา กระตุ้นให้ผู้เรียนเอาความรู้เดิมที่มีอยู่มาใช้และเกิดการเรียนรู้โดยการวางแผน ร่วมกันทำงาน และแก้ปัญหาด้วยตนเอง ครูส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ประเมินการเรียนรู้ของตนเอง รวมทั้งเป็นผู้ที่ประเมินทักษะของผู้เรียนและกลุ่ม พร้อมให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดการพัฒนาตนเอง ฝึกทักษะการคิดแก้ปัญหาให้หลากหลายและบูรณาการกับรายวิชาอื่น ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงไปใช้ในชีวิตจริงที่กำลังก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ได้
ผู้เขียน: มาศชฎา จันทราทิพย์
ผู้ให้สัมภาษณ์: ณรงค์ อภัยใจ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านพระนอน
ผู้สัมภาษณ์: มาศชฎา จันทราทิพย์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ปราชญาพร แช่ใจ
ภาพประกอบ: ณรงค์ อภัยใจ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านพระนอน