การทำงานที่เริ่มด้วย “หัวใจ” คณะทำงานพัฒนามาตรฐานข้อมูลและมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลการจัดการศึกษาของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เดินหน้าประชุมนัดแรกเข้มข้น

14 สิงหาคม 2021

วันนี้เป็นอีกก้าวย่างสำคัญของวงการศึกษาจะต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ทางการศึกษากับความพยายามของคนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งที่กำลังจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับระบบข้อมูลด้านการศึกษาของประเทศ และวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ก็เป็นวันที่ครบรอบ 2 ปีพอดีกับการที่ผู้เขียนได้นำเสนอบทความ “มาตรฐานข้อมูลและมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูล พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562”  ตอนนี้เราได้เห็นการทำงานที่เริ่มด้วย “หัวใจ” สำหรับเรื่องนี้แล้ว

เรากำลังพูดถึงการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วยระบบ Zoom Cloud Meetings ของคณะทำงานชุดหนึ่งที่มีชื่อว่า “คณะทำงานพัฒนามาตรฐานข้อมูลและมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลการจัดการศึกษาของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ชื่อคณะทำงานอาจจะฟังดูยาวมาก ขอเรียกสั้น ๆ ว่า คณะทำงานพัฒนามาตรฐานข้อมูลฯ ซึ่งมี ดร.กวินทร์เกียรติ์ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานคณะทำงาน และคณะทำงานจากคน 3 กลุ่มหลัก ประกอบด้วยคือ

  1. ตัวแทนบุคลากรจากหน่วยงานส่วนกล่าง ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดูแลข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจากสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สำนักนโยบายและแผนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ สำนักงานติดตามและประเมินการจัดการศึกษา สำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน เป็นต้น
  2. ตัวแทนบุคลากรจาก นอก/ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู ศึกษานิเทศก์ และบุคลากรทางการศึกษาอื่น ๆ
  3. ตัวแทนภาคีเครือข่าย ได้แก่ บุคลากรจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ทำไมต้องมีการตั้งคณะทำงานชุดนี้ขึ้นมา? ทำไมต้องมีการพัฒนามาตรฐานข้อมูล?

โครงการนี้เกิดเพราะกฎหมายได้กำหนดไว้ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายหลักเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการ แต่เหตุผลอีกประการและถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่คณะทำงานพัฒนามาตรฐานข้อมูลฯ เห็นตรงกันก็คือเป็น “สิ่งที่ต้องมี” ของกระทรวงศึกษาธิการ แล้วทำไมคณะทำงานชุดนี้ถึงมองว่านี่ คือสิ่งที่จำเป็นต้องมีของกระทรวงศึกษาธิการ

เมื่อพิจารณาจากบทความ “มาตรฐานข้อมูลและมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูล พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562” https://www.edusandbox.com/data-exchange-standards/ ที่ได้เผยแพร่ไว้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เราจะพบเหตุผลและความจำเป็นในมุมมองของการจำเป็นจะต้องมีมาตรฐานข้อมูลและมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา แต่ทั้งนี้ เมื่อทีมงาน จาก สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) และ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  พร้อมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล ผู้รับผิดชอบจัดการข้อมูลในแต่ละหน่วยงานหลัก ๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ เราได้พยายามทำ ความเข้าใจ กับสภาพที่เป็นมา สภาพที่เป็นอยู่ พร้อมทั้งสภาพที่กำลังจะเป็นไป จึงพบว่า หน่วยงานการศึกษาของเรามีระบบหรือแพลตฟอร์มจำนวนมาก ที่ใช้สำหรับนำเข้าข้อมูลหรือเก็บข้อมูล แต่บางหน่วยงานก็จะมีระบบการจัดการข้อมูลที่เป็นของตนเอง หลาย ๆ ระบบยังคงใช้วิธีการนำเข้าข้อมูลอยู่ ซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นครูในโรงเรียน หรือศึกษานิเทศก์ ประจำเขตพื้นที่หรือสำนักศึกษาธิการจังหวัด ที่หลายครั้งมีการขอข้อมูลแบบเดิมแต่ก็ต้องกรอกใหม่ทุกครั้งไป และส่วนกลางที่ดูแลฐานข้อมูลอยู่ในหลาย ๆ ระบบก็ยังไม่สามารถเชื่อมโยงกันได้แบบมีประสิทธิภาพและไม่เป็นปัจจุบัน หรืออาจจะยังเชื่อมโยง ถ่ายโอนข้อมูลกันแบบอัตโนมัติไม่ได้ทั้งหมด นั่นจึงทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

มีความพยายามจากหลายภาคส่วนต่าง ๆ ที่จะแก้ปัญหาข้างต้น ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การพยายามรวมศูนย์ข้อมูล ความพยายามในการออกแบบระบบใหม่ที่จะร่วมหลาย ๆ ส่วนที่จำเป็นเข้ามาไว้ด้วยกัน เพื่อให้เกิดสิ่งที่เราเรียกกันว่า BIG DATA และตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผลลัพธ์ก็เป็นดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

เราพิจารณากันลงลึกไปถึงผลลัพธ์ที่เราไม่ต้องการอยากจะให้มันเกิดขึ้นเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลทางการศึกษาแล้ว พบประเด็นหลักที่คณะทำงานพัฒนามาตรฐานข้อมูลฯ เห็นตรงกัน คือ

  • ข้อมูลชุดเดียวกันต้องนำเข้าซ้ำซ้อนหลายครั้ง
  • ข้อมูลเชื่อมโยงและถ่ายโอนกันไม่ได้
  • ข้อมูลยังกระจัดกระจายอยู่จนไม่รู้ว่าจะไปหยิบข้อมูลจากที่ไหนมาใช้ประโยชน์และอันไหนคือข้อมูลที่อัพเดทล่าสุด
  • การใช้ประโยชน์จากข้อมูล การตัดสินใจในเชิงการบริหารหรือการวางนโยบายยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลอย่างแท้จริง ในระดับโรงเรียนหรือหน่วยงานปฏิบัติที่กรอกข้อมูล ไม่เห็นประโยชน์จากการปฏิบัติซึ่งพิจารณาจากกรอกแล้วไม่เห็นมีข้อมูลย้อนกลับมา

เมื่อเราพยายามทำความเข้าใจมูลเหตุแห่งการเกิดผลลัพธ์ที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้นเหล่านั้น ก็พบว่า ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคการศึกษาในภาพรวมยังไม่ได้มีการประกาศมาตรฐานข้อมูลและมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลการจัดการศึกษาอย่างเป็นทางการให้แก่สาธารณชนได้รับรู้รับทราบ เมื่อยังไม่มีมาตรฐานข้อมูลและมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูล การที่หน่วยงาน ก. เก็บข้อมูลอ้างถึงโรงเรียนด้วยรูปแบบหนึ่ง ส่วนหน่วยงาน ข. เก็บข้อมูลโดยอ้างถึงโรงเรียนด้วยรูปแบบอีกแบบหนึ่งที่ไม่เหมือนกัน จึงทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ก. และหน่วยงาน ข. เกิดความยากลำบากหรือไม่ผสานกลมกลืนกัน ซึ่งทางออกของปัญหานี้ จึงเป็นการให้ปลายทางกรอกข้อมูลใหม่ เกิดการกรอกข้อมูลซ้ำซ้อนดังที่ปรากฏในปัจจุบันข้อมูลชุดเดิมต้องนำเข้าหลายครั้ง เป็นต้น

คณะทำงานพัฒนามาตรฐานข้อมูลชุดนี้ มีมุมมองที่ค่อนข้างต่างจากแบบเดิม เราจะไม่พยายามรวมระบบของหน่วยงาน ก. และ ข. แต่เรากำลังจะสร้างภาษากลางที่จะใช้สื่อสารระหว่างระบบให้เป็นมาตรฐาน หรือก็คือสิ่งที่เราเรียกว่า “มาตรฐานข้อมูลและมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูล” ระบบอาจจะมีหลายระบบในหรือนอกกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งระบบที่มีอยู่เดิมและระบบใหม่ที่กำลังจะสร้างขึ้น เมื่อมีมาตรฐานข้อมูลและมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลชุดนี้แล้ว ก็จะทำให้แต่ละระบบนั้นสามารถสื่อสารกันได้เข้าใจใช้ภาษาเดียวกัน อาจจะมาจากระบบต่างที่กันก็สามารถสื่อสารกันอย่างเข้าใจ ความซ้ำซ้อนของการนำเข้าข้อมูลจากปลายทางที่เป็นผู้กรอกข้อมูลก็จะลดลง ความผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนก็จะน้อยลงตามไปด้วย ความเป็นปัจจุบันของข้อมูลก็จะเกิดขึ้น ผู้ใช้ประโยชน์ของข้อมูลก็ไม่ต้องกังวลว่าข้อมูลที่นำไปใช้เป็นข้อมูลปัจจุบันแล้วหรือไม่

ภารกิจของการประชุมวันนี้คืออะไร?

เราทุกคนมาร่วมกัน พูดคุยแลกเปลี่ยน เสนอแนะ แนวคิด และร่วมกันกำหนดชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาสำหรับจัดทำ/พัฒนามาตรฐานข้อมูลและมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลการจัดการศึกษาของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ให้มีการบูรณาการข้อมูลซึ่งมีปริมาณมากและซับซ้อน สามารถรองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานภายนอก โดยมีเป้าหมายให้มีมาตรฐานข้อมูลในระดับเดียวกัน ตามกรอบแนวทางการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (ตามกรอบแนวทาง TH e-GIF 2.0) เพื่อลดความซ้ำซ้อนของข้อมูล มีความถูกต้อง และความเหมาะสมในการใช้จริง เพื่อใช้ไปประกอบกำหนดขอบเขตงานใน TOR ที่จะจัดหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยจัดทำ/พัฒนา  และแม้จะเป็นการจัดทำ/พัฒนามาตรฐานข้อมูลและมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลการจัดการศึกษาที่ใช้สำหรับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา แต่ข้อมูลการจัดการศึกษาส่วนใหญ่ของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาก็ไม่ได้แตกต่างจากโรงเรียนอื่นทั่วไปมากเท่าใดนัก ในช่วงเริ่มต้นจะประกอบด้วยข้อมูลพื้นฐานด้านการจัดการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งเราก็มองว่าเป็นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้มีมาตรฐานข้อมูลก่อน ดังนั้นเป้าหมายหลักของพวกเราในครั้งนี้ก็คือการรวมใจกัน “เคลียร์สนาม” และค่อยเติมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่นวัตกรรมเข้าไปเพื่อทดลองนำร่องให้มีมาตรฐานข้อมูลและมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูล

หากทุกอย่างเป็นไปตามกำหนดระยะเวลาที่เราออกแบบไว้ คาดว่า คณะทำงานพัฒนามาตรฐานข้อมูลฯ จะมีเล่มมาตรฐานข้อมูลฯ ฉบับนี้ เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และเสนอต่อสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในปีหน้าช่วงเดือนมีนาคมเป็นอย่างช้า หากผู้อ่านท่านใดยังนึกภาพไม่ออกว่าสิ่งที่เรากล่าวถึงจะมีหน้าตาประมาณไหน ลองดูตัวอย่างของกระทรวงอื่น ๆ ไปพลาง ๆ ก่อน เช่น

คณะทำงานพัฒนามาตรฐานข้อมูลฯ ทุกคนคาดหวังว่า ผลผลิตที่เป็นเล่มมาตรฐานข้อมูลฯ เล่มนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการมีมาตรฐานข้อมูลทางการศึกษาอย่างเป็นทางการ เพื่อเชื่อมโยงระบบสารสนเทศของกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง และช่วยลดความซ้ำซ้อนของการนำเข้าข้อมูล การจัดเก็บ และการส่งต่อข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ ส่งผลให้ข้อมูลมีความถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์ เป็นปัจจุบันสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

คณะทำงานใช้ “ใจ” ขับเคลื่อนงาน

สุดท้ายนี้สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะสะท้อนให้สังคมและบุคคลภายนอกได้เห็นคือ การรวมตัวของคณะทำงานมาตรฐานข้อมูลฯ เป็นการรวมตัวกันด้วย “หัวใจ” เพื่อมาร่วมกันพัฒนามาตรฐานข้อมูลและมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลการจัดการศึกษาฯ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการของประเทศให้ได้ ที่กล่าวเช่นนี้ได้ เพราะว่าผู้เขียนในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะทำงานพัฒนามาตรฐานข้อมูลฯ ชุดนี้ ได้มีโอกาสพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับคณะทำงานทุกท่าน ตั้งแต่ก่อนจะมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานฯ ผู้เขียนเห็นความ ตั้งใจ มุ่งมั่น กระตือรือร้น และอยากมีส่วนร่วมในการทำงานครั้งนี้ให้สำเร็จเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพียงผู้ที่สละเวลามาร่วมกันพูดคุยได้ในวันนี้เท่านั้น แม้นว่าบางท่านอาจติดภารกิจไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ในนัดแรกแต่ก็มีการประสานแจ้งข่าวและทำการบ้านจัดส่งข้อมูลให้ฝ่ายเลขานุการอย่างใจจริง แม้นว่าบางท่านจะไม่ได้เข้าร่วมก็ส่งผู้แทนเพื่อเข้าติดตามการประชุม พร้อมฝากให้ข้อเสนอแนะหลังจบการประชุมแล้ว บางท่านโทรสอบถามและรอเก็บรายละเอียดจากรายงานการประชุมและพร้อมจะช่วยดำเนินการต่อไปอย่างเต็มกำลัง ซึ่งเป็นภาพที่ประทับใจผู้เขียนเป็นอย่างมาก นี่คือภาพของการทำงานด้วย “หัวใจ” ของคนที่อยู่ในแวดวงการศึกษาที่ต้องการทำบางสิ่งที่ตนมีกำลังสามารถทำได้ เพื่อยกระดับการศึกษาของชาติให้ดีกว่าที่เป็นอยู่จริงๆ

ขอขอบพระคุณคณะทำงานทุกคนด้วยหัวใจ ขอบคุณครับ

ดาวน์โหลด รายชื่อคณะทำงานพัฒนามาตรฐานข้อมูลและมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลการจัดการศึกษา ของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

 


 


ผู้เขียน: เก ประเสริฐสังข์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
โรงเรียนเป็นฐาน สร้างการเรียนรู้ในสังคมพหุวัฒนธรรม “ต้นแบบการเรียนรู้ตลาดนัดสองแผ่นดินไทย-มาเลย์ ในรูปแบบ 4P MODEL” โรงเรียนบ้านมูโนะ“ล็อกดาวน์ไม่ล็อกการเรียนรู้” เสวนาออนไลน์บทเรียนการจัดการเรียนรู้จาก 3 กรณีศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (จังหวัดศรีสะเกษ ระยอง และสตูล) ครั้งที่ 1
บทความล่าสุด