จากข้อคำถามเกี่ยวกับหลักคิดและแนวทางของพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ที่เอื้อให้โรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีรูปแบบการบริหารอย่างไร หากจะนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการโรงเรียนนิติบุคคลจะมีจุดเด่นและข้อจำกัดอย่างไร เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ของอาจารย์เกษรินทร์ วิริยะอาภรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ภาคตะวันออก สำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. ซึ่งเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการกระจายอำนาจให้โรงเรียนนิติบุคคล ที่มี ดร.อัมพร พินะสา รองเลขาธิการ กพฐ. เป็นประธานกรรมการ รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา คัมภีรปกรณ์ รองประธานกรรมการ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นกรรมการและเลขานุการ เพื่อพิจารณาแนวทางกระจายอำนาจให้โรงเรียนนิติบุคคลมีอิสระในการบริหารและการจัดการศึกษาได้อย่างคล่องตัว มีประสิทธิภาพใน 4 งาน ได้แก่ วิชาการ บุคคล งบประมาณ และบริหารทั่วไป
คำตอบสำหรับข้อคำถามดังกล่าวแบ่งเป็น 3 ประเด็น คือ 1) รูปแบบการบริหารของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 2) ข้อดีของ พ.ร.บ. ต่อโรงเรียนนำร่อง และอาจเป็นแนวทางสำหรับโรงเรียนนิติบุคคล และ 3) ข้อจำกัดของ พ.ร.บ. ต่อโรงเรียนนิติบุคคล ดังนี้
1. รูปแบบการบริหารของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 วางโครงสร้างการบริหารและการทำงานไว้ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับนโยบาย พื้นที่ และปฏิบัติการ รายละเอียด ดังนี้
1.1 ระดับนโยบาย ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธาน [มาตรา 10] มีหน้าที่และอำนาจในการส่งเสริมให้มีพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา วางนโยบาย กำกับดูแล วางหลักเกณฑ์การประเมินผล และมาตรฐานข้อมูล เป็นต้น [มาตรา 15] มีสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นหน่วยงานภายใน สพฐ. เป็นฝ่ายวิชาการและธุรการของคณะกรรมการนโยบาย [มาตรา 18] (2)
1.2 ระดับพื้นที่ ได้แก่ คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน [มาตรา 19] มีหน้าที่และอำนาจในการวางนโยบายขับเคลื่อนระดับจังหวัด ปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน สร้างการมีส่วนร่วม ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ออกแบบการทดสอบและประเมินผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน เป็นต้น [มาตรา 20] มีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเป็นฝ่ายธุรการของคณะกรรมการขับเคลื่อน [มาตรา 24]
1.3 ระดับปฏิบัติการ ได้แก่ สถานศึกษานำร่อง เป็นสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในสังกัด สพฐ. (ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา) สถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นต้นสังกัด) และสถานศึกษาในสังกัดเอกชน (ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารสถานศึกษาและกลุ่มส่งเสริมการศึกษาเอกชนในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดหรือสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด) [มาตรา 27] สถานศึกษานำร่องเหล่านี้จะมีอิสระและความคล่องตัว ทั้งด้านวิชาการ บุคลากร งบประมาณ และการบริหารทั่วไป ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562
2. ข้อดีของ พ.ร.บ. ต่อโรงเรียนนำร่อง และอาจเป็นแนวทางสำหรับโรงเรียนนิติบุคคล
ข้อดีของ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ต่อโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หากจะใช้เป็นแนวทางสำหรับโรงเรียนนิติบุคคล ก็จะทำให้ได้เห็นแนวทางหรือช่องทางในการปลดล็อก โดยเน้นด้านวิชาการ ด้านบุคคล และด้านงบประมาณ ที่กำหนดไว้ในมาตราต่างๆ ใน พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 อย่างน้อย 9 ข้อ ดังนี้
2.1 ปรับใช้หลักสูตรแกนกลางฯได้ ไม่ติดตัวชี้วัด ตามมาตรา 20 (4) มาตรา 25 มาตรา 26
2.2 มีอิสระในการเลือกซื้อสื่อหนังสือตำราตามกรอบหลักสูตรที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตามมาตรา 35
2.3 ออกแบบการทดสอบเฉพาะพื้นที่ได้ อาจไม่ใช้ O-NET/ NT ตามมาตรา 20 (6) มาตรา 36
2.4 ลด ละ เลิกโครงการที่เพิ่มภาระงานครูและส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ตามมาตรา 33 และมาตรา 48
2.5 มีช่องทางให้รัฐสามารถหาแนวทางจัดสรรงบอุดหนุนทั่วไปให้โรงเรียนเป็นแบบ block grant ตามมาตรา 28
2.6 สามารถใช้จ่ายเงินบริจาคเพื่อสถานศึกษาหรือตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาคตามระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ตามมาตรา 29
2.7 สร้างหลักเกณฑ์การประกันคุณภาพแนวใหม่ อาจไม่อิงการประเมินของ สมศ. ตามมาตรา 37 และมาตรา 38
2.8 มีช่องทางการผลักดันการบริหารงานบุคคลให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ ตามมาตรา 32
2.9 สามารถคิดค้น พัฒนาและเลือกใช้นวัตกรรมในการจัดการเรียนการสอน และการบริหารจัดการได้อย่างอิสระเพื่อคุณภาพการศึกษา ตามมาตรา 5 และมาตรา 34
3. ข้อจำกัดของ พ.ร.บ. ต่อโรงเรียนนิติบุคคล
พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ยังจะไม่สามารถนำไปใช้กับโรงเรียนทั่วไปได้ ตามข้อกำหนดใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะต้องใช้กับสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเท่านั้น ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาครอบคลุม 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ กาญจนบุรี ศรีสะเกษ ระยอง สตูล นราธิวาส ยะลา และปัตตานี มีสถานศึกษานำร่อง จำนวน 266 โรงเรียน ซึ่งสถานศึกษานำร่อง ทั้ง 266 โรงเรียน สามารถใช้ พ.ร.บ.นี้ เป็นเครื่องมือ หรือเป็นใบเบิกทางสู่การพัฒนาการบริหารจัดการและการจัดการเรียนการสอนให้มีความเป็นอิสระ คล่องตัว ตาม concept ของโรงเรียนนิติบุคคลได้อย่างเต็มที่ เพราะทั้งโครงสร้าง และกฎหมาย เอื้อให้สามารถดำเนินการได้ และหากมีกฎระเบียบใดติดขัด มีช่องทางให้สามารถเสนอขอแก้ไขปรับปรุงมายังคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธาน ผ่านมายังสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สพฐ.
ข้อจำกัดดังกล่าวคือไม่สามารถใช้ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา กับโรงเรียนนิติบุคคล ได้ในทันที แต่ผลจากการดำเนินการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หากมีวิธีปฏิบัติที่ดี รวมทั้งกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและใช้ได้ผลในโรงเรียนนำร่องและในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สามารถนำไปขยายผลให้โรงเรียนนิติบุคคลได้ในอนาคต ซึ่งมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ได้กำหนดเรื่องการขยายผลไว้แล้ว
นอกจากนั้น การนำแนวทางของ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ที่ใช้กับโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาไปใช้กับโรงเรียนนิติบุคคล อาจพิจารณาประเด็นบทบาทของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งโรงเรียนนิติบุคคลให้ความสำคัญกับคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่จะเป็นบอร์ดช่วยส่งเสริม สนับสนุน กำกับการทำงานของโรงเรียน แต่การดำเนินงานของสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จะใช้บทบาท หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และศึกษาธิการจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ มีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และภาคีที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้ส่งเสริม สนับสนุน กำกับการทำงานของโรงเรียนนำร่อง ตามที่กำหนดในกฎหมายนี้ ดังนั้น การบริหารจัดการจึงมีความแตกต่างกันในประเด็นนี้ การนำ พ.ร.บ.ไปประยุกต์ใช้จึงควรพิจารณาถึงประเด็นนี้ เป็นต้น
สำหรับข้อคิดต่อรูปแบบการบริหารของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ข้อดีและข้อจำกัดของ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ต่อโรงเรียนนำร่อง และอาจเป็นแนวทางสำหรับโรงเรียนนิติบุคคล ดังกล่าว เป็นมุมมองเบื้องต้นจากการศึกษาแหล่งข้อมูลเอกสารและบุคคล ผู้สนใจศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 สามารถดูได้ที่นี่ https://www.edusandbox.com/sandboxlaw/ และผู้ที่สนใจเกี่ยวกับโรงเรียนนิติบุคคล สามารถศึกษาเอกสารรายงานผลของกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สนช. ชุด ดร.ตวง อันทะไชย ปี 2559-2560 ที่นี่ https://drive.google.com/file/d/1apqprIEgPNX9rFBa-L3YE49zcC82jurX/view
Written by พิทักษ์ โสตถยาคม
Artwork by เก ประเสริฐสังข์ ศศิธร สวัสดี และภัชธีญา ปัญญารัมย์