โรงเรียนอนุบาลมะนัง พื้นที่นวัตกรรมสตูล ฝึกครูโค้ชให้พร้อมจัดการเรียนรู้โครงงานฐานวิจัย

13 กุมภาพันธ์ 2020

นายยงยุทธ ยืนยง ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลมะนัง ร่วมกับทีมโค้ชโหนดสตูล เร่งพัฒนาและ จัดกระบวนการ PLC ให้กับคณะครูในโรงเรียนและครูชุมชน โดยการเติมเต็มการปรับปรุงโครงงานฐานวิจัย ให้สมบูรณ์ พร้อมขับเคลื่อนโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดสตูล เพื่อสร้างบทบาทให้ครู และสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาให้กับลูกหลานชาวมะนัง ซึ่งในกระบวนการเรียนรู้ของโครงงานฐานวิจัย เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการสอนของครู จากครูเป็นศูนย์กลาง เป็นผู้ให้ความรู้แก่นักเรียนฝ่ายเดียว กลายมาเป็นครูเป็นผู้สนับสนุน ชี้แนะ เป็นที่ปรึกษา เป็นผู้กระตุ้น เป็นโค้ชคอยให้คำแนะนำ และอำนวยการสะดวกให้แก่นักเรียน ให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ ได้มีส่วนร่วมกับการเรียนรู้ ค้นคว้า และตั้งคำถามต่อเนื้อหาที่กำลังเรียน ซึ่งเป็นความท้าทายของครู กล่าวได้ว่า นอกจากครูจะได้เรียนรู้ร่วมกันเองแล้ว ครูยังต้องเรียนรู้ร่วมกับนักเรียนด้วย

ในการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนมาใช้โครงงานฐานวิจัยในการเรียนรู้ของโรงเรียนอนุบาลมะนัง และโรงเรียนนำร่องอีก 9 แห่ง ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ปัจจุบัน ดำเนินมาถึงช่วงของหน่วยที่ 3 จากทั้งหมด 5 หน่วยการเรียนรู้ 14 ขั้นตอน โดยในหน่วยที่ 3 หรือ “หน่วยข้อมูล” นี้ ประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอน คือ การสร้างเครื่องมือ ลงพื้นที่เก็บข้อมูล และตรวจสอบ วิเคราะห์ ซึ่งการฝึกอบรมโมดูลนี้ จะทำให้ครูเข้าใจและแยกแยะ “Fact & Opinion” หรือ ข้อเท็จจริงและความคิดเห็นได้มากยิ่งขึ้น

จะเห็นได้ว่า กระบวนการพัฒนาครูแบบลงมือทำจริง ฝึกเรียนแบบเด็กเรียนจริง เป็นกระบวนการ ที่ทำให้ครูได้รู้จักนักเรียนและความสามารถของนักเรียนมากขึ้น จากการได้สังเกตเห็นพฤติกรรม ความเข้าใจและความคิดของนักเรียนแต่ละคน และเมื่อครูได้รู้จักนักเรียนแต่ละคนดีขึ้น ครูก็จะสามารถออกแบบกระบวนการเรียนรู้และเติมเต็มให้แก่นักเรียนได้ถูกวิธี สำหรับนักเรียน นักเรียนจะได้รับประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติ ซึ่งเป็นการฝึกการวางแผน การทำงานกลุ่ม การทำงานเป็นทีม การสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง อันจะเกิดประโยชน์และส่งผลให้นักเรียนมีพื้นฐานทักษะชีวิตที่จะติดตัวและสามารถต่อยอดการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นต่อไป


ผู้เขียน: ภวรัญชน์ ไวสกุล
ผู้ให้สัมภาษณ์: ยงยุทธ ยืนยง ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลมะนัง
ผู้สัมภาษณ์: ภวรัญชน์ ไวสกุล
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ศศิธร สวัสดี, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: Facebook : Sandbox Satun/โรงเรียนอนุบาลมะนัง

Facebook Comments
ดร.สุทิน แก้วพนา ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ชี้แนะสถานศึกษานำร่อง ต้องทำหลักสูตรสถานศึกษาให้เป็น “เบ้าหลอมและหัวใจของการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน” ตอบโจทย์พื้นที่นวัตกรรมความคืบหน้าการดำเนินงาน 8 ประเด็นที่เห็นในพื้นที่ : สบน. รายงานการดำเนินงานตาม พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ต่อที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในครั้งที่ 2/2563
บทความล่าสุด