โรงเรียนบ้านทางงอ สถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 1 ใน 10 ของจังหวัดสตูล ตั้งอยู่ที่ตำบลควนสตอ อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล เป็นโรงเรียนขนาดกลาง มีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 127 คน มีการจัดการเรียนการสอนโดยใช้นวัตกรรม “ครูสามเส้า” คือ ครูโรงเรียน ครูผู้ปกครอง และครูชุมชนรวม รวมทั้ง การมีภาคีเครือข่ายภายนอกที่เข้ามาช่วยพัฒนาส่งเสริมการดำเนินงานของโรงเรียนให้เกิดประสิทธิภาพ มีการประสานความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบที่เหมาะกับบริบทพื้นที่ ส่งเสริมให้นักเรียนกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก และจุดแข็งที่สำคัญของโรงเรียน คือ การมีครูผู้สอนจบตรงตามสายวิชาเอกครบทุกวิชา ทำให้การปรับหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นไปตามมาตรฐาน
ปัจจุบันมีการปรับชั่วโมงการสอนวิชาหลัก เป็น 3 วัน และช่วงบ่ายเป็นบูรณาการ เช่น โครงงานฐานวิจัย 14 ขั้นตอน (เลือกหัวข้อจากเรื่องใกล้ตัว- วิเคราะห์ข้อมูล – พัฒนาโจทย์วิจัย – ฯลฯ ) ซึ่งเป็นโครงงานประจำห้องเรียน ใช้เวลาเรียน 9 คาบ ต่อสัปดาห์ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เช่น กิจกรรมลูกเสือ กิจกรรมต้านทุจริต กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ กิจกรรมแนะแนว กิจกรรมละ 1 คาบ ต่อ สัปดาห์
นอกจากการเรียนรู้ในห้องเรียนแล้ว โรงเรียนบ้านทางงอได้เปิดโอกาสให้นักเรียนลงพื้นที่เพื่อศึกษาเรียนรู้ ผ่านกิจกรรมโครงงานฐานวิจัย โดยก่อนทำโครงงานฯ จริง นักเรียนจะฝึกฝนผ่าน”คลาสสตาร์ท” เบื้องต้นนักเรียนจะต้องสมัครเป็นสมาชิกของคลาสสตาร์ทก่อน และส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีการเปิดสอน 3 วิชา (โครงงานฐานวิจัย ภาษาไทย การตั้งคำถามวิจัย ) ภายในคลาสสตาร์ท จะมีอุปกรณ์การเรียนการสอน เช่น คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต จอทีวี สำหรับสื่อสารกับครูผู้สอนที่เป็นพี่เลี้ยง วิธีการเรียนรู้จะเน้นผ่านใบงานที่เป็นกิจกรรมจริงๆ ที่โรงเรียนต้องดำเนิน เช่น การทำกำหนดการลงพื้นที่ การทำหนังสือขออนุญาตเดินทางลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล การเตรียมเครื่องมือในการเก็บข้อมูล เป็นต้น ซึ่งนักเรียนจะใช้เวลาส่วนนี้เรียนรู้และลงมือทำตามคำแนะนำของครูพี่เลี้ยง
คลาสสตาร์ท จึงสามารถดึงศักยภาพของนักเรียนออกมาได้อย่างน่าทึ่ง และสร้างความสุขและความสนุกในการเรียนรู้ เพราะนักเรียนรู้สึกมีส่วนร่วมกับการดำเนินงานของโรงเรียน ในอนาคตโรงเรียนบ้านทางงอมีความต้องการจะขยายวิชาเพิ่มเติม คือ วิชาที่สอนเกี่ยวกับการทำวิจัย และจะส่งเสริมเรื่องการลงพื้นที่ของนักเรียนเพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในการทำวิจัยมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ เป้าหมายความสำเร็จของการดำเนินงานอยู่ที่ 60 – 70 % และมีการตั้งเป้าหมายในอนาคตอยู่ที่ 80%
ข้อมูลจาก: การสัมภาษณ์ นางสวรรยา ดาแลหมัน ครูวิชาการโรงเรียนบ้านทางงอ
Written by เสาวนีย์ ทิพย์ฤกษ์
Photo by วราภรณ์ สัสดี
Artwork by เก ประเสริฐสังข์ ศศิธร สวัสดี และภัชธีญา ปัญญารัมย์