จากการลงพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ไปยังโรงเรียนบ้านหนองม่วง ร่วมกับคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา และอนุกรรมการพิจารณาศึกษา ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการศึกษา เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 ทำให้ได้รับทราบการบริหารจัดการชั้นเรียน เพื่อแก้ไขปัญหาของโรงเรียนบ้านหนองม่วง เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
โรงเรียนเล็ก-เด็กน้อย-ครูไม่ครบชั้น
โรงเรียนบ้านหนองม่วง เป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง เปิดสอนระดับชั้นอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 9 ห้องเรียน มีครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 11 คน (ครู 7 คน, อัตราจ้าง 1 คน, พี่เลี้ยง 1 คน, ธุรการ 1 คน, ผอ.รร. 1 คน) มีนักเรียน 115 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2562) ถือว่าอยู่ในเกณฑ์เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก (โรงเรียนที่มีนักเรียน 1-120 คน) มีนักเรียนชั้นอนุบาล 1-3 จำนวน 46 คน (อ.1=13, อ.2=18, อ.3=15) ชั้นประถมศึกษา จำนวน 69 คน (ป.1=11, ป.2=9, ป.3=16, ป.4=13, ป.5=7, ป.6=13) มีนางเรไร สารราษฎร์ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน
โรงเรียนที่มีครูไม่ครบชั้นส่วนใหญ่มีปัญหาลักษณะใกล้เคียงกัน ครูมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินการ ประสาน เข้าร่วมประชุม อบรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสมอ ๆ เช่น งานการเงิน งานพัสดุ แม้จะมีเจ้าหน้าที่ธุรการมาแล้ว แต่ไม่สามารถรับผิดชอบงานได้เบ็ดเสร็จ ครูยังต้องเป็นผู้รับผิดชอบหลัก เมื่อครูมีกิจกรรมที่ต้องออกไปนอกห้องเรียน/นอกโรงเรียน การจัดการเรียนรู้จึงไม่ปะติดปะต่อและทำได้เพียงพยุงชั้นเรียนให้ผ่านพ้นไป ซึ่งโรงเรียนตระหนักเห็นปัญหาดังกล่าว จึงได้หารือกัน ปรึกษา ผอ.ธงชัย มั่นคง กรรมการขับเคลื่อน ได้ข้อคิดว่า “อายุเด็กและชั้นเรียนบ่งบอกความสามารถเด็กจริงหรือไม่?” คณะครูจึงได้คิดปรับเปลี่ยนและนำไปสู่การจัดกลุ่มเด็กตามความรู้และความสามารถพื้นฐานของผู้เรียน ในระดับชั้น ป.1-6 ออกเป็น 4 กลุ่ม
แบ่งกลุ่ม ABCD มีผู้ปกครองและชุมชนสนับสนุน
โรงเรียนเริ่มปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการชั้นเรียนใหม่ ในฐานะโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ในกลางเดือนมิถุนายน 2562 โดยให้ครูผู้สอน 4 วิชาหลัก (ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์) พิจารณาข้อมูลความรู้และความสามารถพื้นฐานของผู้เรียน ร่วมกันจัดกลุ่มเด็กออกเป็นกลุ่ม A-B-C-D เรียงระดับความรู้ความสามารถพื้นฐานจากน้อยไปมาก แม้ครูบางส่วนจะหวั่นใจ แต่ก็ได้บอกกันว่า “จะกลัวอะไร เราเป็นโรงเรียนกล้าเปลี่ยน ลองดู จะเสียหายอะไร ถ้าไม่ดีก็เปลี่ยนใหม่” เมื่อดำเนินการผ่านไป 1 เดือน เห็นว่าดีต่อเด็กและครู
โรงเรียนได้ขอความคิดเห็นจากผู้ปกครองและผู้นำชุมชน ได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการได้ ผู้ปกครองบอกว่า “ให้ลองดู ไม่มีอะไรจะเสีย ลองเปลี่ยนดู” ซึ่งการแบ่งเป็น 4 กลุ่มนี้ จะใช้ในช่วงการเรียนในภาคเช้าหรือสี่ชั่วโมงแรก ใน 5 วิชา (ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และคอมพิวเตอร์) ส่วนภาคบ่าย (2 ชั่วโมง) เรียนบูรณาการเน้นที่ School Concept ของโรงเรียน นั่นคือ Young AI School หรือนักปัญญาประดิษฐ์รุ่นเยาว์ มีการแบ่งเด็กออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มประถมต้น (ป.1-3) และกลุ่มประถมปลาย (ป.4-6) จึงดำเนินการต่อเนื่องจากภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นมา
การเปลี่ยนแปลงที่สังเกตได้
เมื่อโรงเรียนได้มีการบริหารจัดการชั้นเรียนใหม่ในระดับชั้นประถมศึกษา เดิมมี 6 ห้องเรียน จัดชั้นเรียนใหม่เป็น 4 ห้องเรียน ตามระดับความสามารถเด็ก ทำให้มีครูสอนครบทุกห้องเรียน ลดการขาดครู และมีครูสำรองกรณีครูติดภารกิจอื่น ทำให้ไม่เกิดปัญหาครูทิ้งห้องเรียน ในภาคเช้ามีครูเข้าสอน 4 คน มีครูเหลือ 2-3 คน ส่วนภาคบ่ายมี 2 ห้องเรียน ครูเข้าสอนห้องละ 1 ทีม ทีมละ 3 คน มีครูหนึ่งคนเป็นหลัก ดังนั้น การจัดครูเข้าสอนจึงมีความยืดหยุ่น พร้อมรองรับสถานการณ์/ภาระงานแทรกซ้อนได้เสมอ
นอกจากนั้น นักเรียนทุกห้องเรียนได้รับการดูแลทั่วถึง มีครูเข้าสอนทุกชั่วโมง การจัดการเรียนรู้เน้นที่ความสามารถของผู้เรียน มุ่งไปที่ผลการเรียนรู้ ASK หรือ Attitude, Skill, Knowledge อย่างไรก็ตาม กระบวนการดำเนินงานอยู่ในระยะริเริ่มเรียนรู้และพัฒนาร่วมกันของครู ผู้บริหารโรงเรียน และภาคีร่วมพัฒนาจากภายนอกโรงเรียน ที่มีทิศทางและหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ทำให้ทุกฝ่ายเห็นได้อย่างชัดเจนว่า โรงเรียนสามารถปรับปรุงพัฒนาและยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการและการจัดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และเป็นการจัดการศึกษาตอบโจทย์ผู้เรียน ชุมชน พื้นที่ และอนาคต
เรื่อง: พิทักษ์ โสตถยาคม
แหล่งข้อมูล: เรไร สารราษฎร์ อาภาภรณ์ ชื่นมณี และสุภัสสร โสดาวัตร
ภาพ: อาภาภรณ์ ชื่นมณี, สามารถ บุญโสม, สุภัสสร โสดาวัตร
Artwork by เก ประเสริฐสังข์ ศศิธร สวัสดี และภัชธีญา ปัญญารัมย์