เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 นายพิทักษ์ โสตถยาคม รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สพฐ. ได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรอบการจัดตั้งงบประมาณ ปีงบประมาณ 2564 ตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ ตามที่ได้รับการประสานเชิญอย่างไม่เป็นทางการจากผู้รับผิดชอบงานด้านแผนและผู้จัดการประชุมของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่ม ประกอบด้วย ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและแผน สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และผู้รับผิดชอบงานด้านนโยบายและแผนของ สป.ศธ. ดังรายชื่อต่อไปนี้
1. นางสาววราลักษณ์ ดุรงค์กาญจน์ | นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สป.ศธ. |
2. นางปภาวรินท์ เรืองประจวบกุล | ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สำนักบูรณาการยุทธศาสตร์การศึกษา สป.ศธ. |
3. นายปรีดา พรหมดี | ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและแผน ศธจ. เชียงใหม่ |
4. นางสาวนุชษราวรรณ คณานิตย์ธนกิจ | ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและแผน ศธจ. ศรีสะเกษ |
5. นางนงลักษณ์ ภิญโญ | ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและแผน ศธจ. ระยอง |
6. นางวันทนีย์ ขาวผ่อง | ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและแผน ศธจ. กาญจนบุรี |
7. นายสุริยา หมาดทิ้ง | ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและแผน ศธจ. สตูล |
8. นางวันเพ็ญ สุวรรณเวช | นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สป.ศธ. |
รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้ให้ข้อมูลต่อที่ประชุม ดังนี้
1. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครอบคลุมพื้นที่ใดบ้าง ?
พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตามความหมายใน พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 หมายถึง “พื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นพื้นที่ปฏิรูปการบริหารและการจัดการศึกษาเพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมการศึกษา” แต่เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เตรียมการ และดำเนินการไปล่วงหน้า ก่อนที่ พ.ร.บ.นี้จะประกาศใช้ ดังนั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงมีบทเฉพาะกาล คือ มาตรา 44 ให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่ได้มีการจัดตั้งโดยประกาศกระทรวงศึกษาธิการอยู่ในก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้
ดังนั้น พื้นที่ที่ได้มีการจัดตั้งโดยประกาศกระทรวงศึกษาธิการอยู่ในก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มี 6 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดระยอง จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดชายแดนภาคใต้
สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประเด็นที่ สพฐ. ได้ส่งเรื่องหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการตีความว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้ หมายถึง 3 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เท่านั้น (ไม่ใช่ใช้นิยาม “จังหวัดชายแดนภาคใต้” ตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 ที่หมายถึง 5 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล และสงขลา) รวมทั้งหารือถึงแนวทางการแยกดำเนินการเป็นรายจังหวัดด้วย ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะแยกขับเคลื่อนเป็นรายจังหวัด เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ทั้งนี้ จะทราบผลการประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาปลายเดือนธันวาคม 2562 นี้
2. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแต่ละจังหวัดครอบคลุมโรงเรียนใดบ้าง ?
การประกาศจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัด แต่ไม่ใช่ทุกโรงเรียนในจังหวัดนั้น ๆ จะสามารถดำเนินการโดยใช้สิทธิตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 นี้ได้ มีเพียงโรงเรียนนำร่อง ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.นี้ ซึ่งโรงเรียนที่ประสงค์จะเป็นโรงเรียนนำร่องจะต้องขอความเห็นชอบจากต้นสังกัด กรณีโรงเรียน สพฐ. จะต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว จึงขออนุมัติต่อคณะกรรมการขับเคลื่อน โดยดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการขับเคลื่อนกำหนด นอกจากนั้น โรงเรียนที่ได้เป็นโรงเรียนนำร่องแบบอัตโนมัติ ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 46 คือ โรงเรียนนำร่องตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ซึ่งมีโรงเรียนนำร่องที่ได้เป็นโรงเรียนนำร่องตามมาตรา 46 คือ โรงเรียนนำร่อง 10 โรงเรียนของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ส่วนจังหวัดอื่นๆ ดำเนินการตามมาตรา 27 เป็นการประกาศโดยการอนุมัติของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนั้นๆ แล้วเสนอให้ประธานกรรมการ คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ลงนามในประกาศ
ปัจจุบัน มีโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (ทั้งที่ประกาศแล้วและอยู่ระหว่างเตรียมการประกาศอย่างเป็นทางการ) จำนวน 266 โรงเรียน
3. ขอบข่ายภารกิจใดบ้างที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดจะต้องดำเนินการและตั้งงบประมาณ เพียงมาตรา 24 ใช่หรือไม่ ?
วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาระบุอยู่ในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.นี้ ซึ่งเกี่ยวกับการคิดค้นพัฒนานวัตกรรมการศึกษาเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและขยายผลได้ การลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา การเพิ่มความอิสระและความคล่องตัวให้โรงเรียนนำร่องและหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่ และการสร้างและพัฒนากลไกการจัดการศึกษาร่วมกันของทุกภาคส่วน จากวัตถุประสงค์ดังกล่าว ผู้รับผิดชอบภารกิจสำคัญนี้ในระดับพื้นที่ คือ คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของจังหวัดนั้นๆ โดยมีศึกษาธิการจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ ตามมาตรา 19 โดยมีหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการขับเคลื่อน ตามมาตรา 20 และมีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการขับเคลื่อน ตามมาตรา 24
ดังนั้น กิจกรรม งาน โครงการใดๆ ที่เป็นนโยบาย หรืออยู่ในขอบข่ายความรับผิดชอบของคณะกรรมการขับเคลื่อน ซึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น จะถือเป็นหน้าที่ของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดที่ต้องเอื้ออำนวยและสนับสนุนในเรื่องงบประมาณ/งานธุรการ
ฉะนั้น ในการตั้งงบประมาณสำหรับการขับเคลื่อนของแต่ละพื้นที่ จึงควรเป็นการวิเคราะห์งานตามมาตรา 20 และมาตรา 24 เป็นหลัก แล้วเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของแต่ละจังหวัด ซึ่งได้มีภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ภาคีเพื่อการศึกษาไทย หรือคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้มีการกำหนดแนวทางไว้ มาพิจารณาประกอบ ในการเสนอขอตั้งงบประมาณ โดยจะเห็นว่า ทุกกิจกรรมที่จำเป็นในการขับเคลื่อนในจังหวัด อยู่ในขอบเขต ที่คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จะต้องสนับสนุนส่งเสริมโรงเรียนนำร่อง ทั้งสิ้น และจะต้องดำเนินการแก้ปัญหาและพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จในพื้นที่ เพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรมการศึกษา ปฏิรูปการบริหารและการจัดการศึกษาของพื้นที่ จึงจะต้องพิจารณาประเด็น และงานที่จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ การปฏิรูปการบริหารจัดการ จะเน้นประสิทธิภาพในการบริหารทรัพยากร และควรใช้กลไกความร่วมมือการประสานทุกภาคส่วน ตามมาตรา 5 (4) ซึ่งเป็นการแชร์ทรัพยากร ทั้งด้านกำลังวิชาการ กำลังเงิน กำลังแรงงาน ฯลฯ มาร่วมพิจารณาความเหมาะสมในการเสนอขอตั้งงบประมาณด้วย
4. “วาระเริ่มแรก” ข้อความที่ปรากฏในมาตรา 50 มีระยะเวลานานเท่าใด หรือสิ้นสุดแล้วหรือไม่ ?
“มาตรา 50 ในวาระเริ่มแรก ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณให้แก่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” คำว่า ในวาระเริ่มแรก นั้น ถือว่าสำนักงบประมาณได้เห็นชอบกรอบเรื่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ในปีงบประมาณ 2563 ที่เสนอโดยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ซึ่งได้กรอบวงเงินงบประมาณเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามาแล้ว โดยมีเป้าหมายการดำเนินงาน จำนวน 8 จังหวัด คือ เชียงใหม่ กาญจนบุรี ศรีสะเกษ ระยอง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ประมาณ 34 ล้านบาท และสำนักงานสามารถเตรียมของบประมาณเพื่อดำเนินการในปีงบประมาณ 2564 ต่อไป
5. คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษายังไม่ครบ 21 คน ตาม พ.ร.บ. จะต้องตั้งใหม่หรือไม่ ?
ตามมาตรา 45 กำหนดไว้ว่า.ในวาระเริ่มแรก ให้คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาตามมาตรา 44 ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อน จนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้
ขณะนี้ ยังถือเป็นวาระเริ่มแรกของการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.นี้ จึงขอให้ดำเนินการตามบทเฉพาะกาลในมาตรา 45 ไปพลางก่อน เพื่อให้การขับเคลื่อนและการดำเนินการต่าง ๆ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เข้มข้น และหวังผลสำเร็จของการดำเนินงาน
6. จะต้องใช้หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายให้คณะกรรมการขับเคลื่อนและคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการขับเคลื่อนแต่งตั้งอย่างไร ?
ขณะนี้ สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สพฐ. ได้เสนอขออนุมัติค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์สำหรับประธานกรรมการขับเคลื่อน กรรมการขับเคลื่อน และอนุกรรมการที่คณะกรรมการขับเคลื่อนแต่งตั้ง ต่อคณะกรรมการนโยบายเรียบร้อยแล้ว และเสนอไปยังกระทรวงการคลังเพื่อขอความเห็นชอบ ก่อนจัดทำเป็นประกาศของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเบิกจ่ายให้คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต่อไป
7. จำนวนโรงเรียนนำร่องเท่าใดที่จะใช้เป็นฐานในการตั้งงบประมาณ ปี 2564 จะรวมโรงเรียนที่จะเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องระยะต่อไปด้วยหรือไม่ ?
ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบาย ยังไม่มีนโยบายเพิ่มจำนวนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และต้องการให้โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่ดำเนินการ ณ ปัจจุบัน ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีความเข้มข้น จนได้ผลการเปลี่ยนแปลงและข้อค้นพบเพื่อการขยายผล ดังนั้น จึงขอคงจำนวนโรงเรียนนำร่องไว้เท่าเดิม หรืออาจมีการแบ่งเฟสกลุ่มโรงเรียนนำร่องตามความพร้อมจากกลุ่มเป้าหมายเดิม ที่มีโรงเรียนนำร่อง จำนวน 266 โรงเรียน
8. การวิเคราะห์วิจัยที่เป็นบทบาทของ ศธจ. และ สบน. ต่างกันอย่างไร
หน้าที่ของสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ในมาตรา 18 (3) แห่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่ระบุเนื้อหาเหมือนหน้าที่ของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ในมาตรา 24 (2) คือ จัดให้มีการวิเคราะห์และวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
ประเด็นการวิเคราะห์วิจัยของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดจะดำเนินการในขอบเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนั้น ๆ และในโรงเรียนนำร่องของจังหวัดนั้น ๆ ส่วนการวิเคราะห์วิจัยของสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะดำเนินการในภาพรวมของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทุกพื้นที่ และตามโจทย์ที่ สพฐ. และคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต้องการทราบคำตอบ ดังนั้น จึงเป็นการดำเนินการคนละระดับของการดำเนินงาน
Written by พิทักษ์ โสตถยาคม
Artwork by เก ประเสริฐสังข์ ศศิธร สวัสดี และภัชธีญา ปัญญารัมย์