คณะกรรมการนโยบายฯ มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์

24 พฤษภาคม 2024
คณะกรรมการนโยบายฯ มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 น. พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายจากประธานกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี) ให้เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (กนน.) ครั้งที่ 2/2567 โดยมีเลขาธิการ กพฐ. (ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา) เป็นกรรมการและเลขานุการ และกรรมการที่เป็นผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมประชุม พร้อมด้วยผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. (นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ และนายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง)

ในการประชุมมีมติสำคัญ คือ การแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อเป็นกลไกบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาซึ่งมีหน้าที่และอำนาจตามที่มาตรา 20 กำหนด ได้แก่

(1) กำหนดยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

(2) ประสานให้หน่วยงานทางการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นของรัฐและเอกชน ดำเนินการร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาตามยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานตาม (1)

(3) ประสานงานให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะให้การสนับสนุนทางเทคนิคในการจัดทำสื่อการสอน  จัดการเรียนรูปแบบใหม่ พัฒนาบุคลากร จัดระบบประเมินและวัดผล และการอื่นที่จำเป็นสำหรับพัฒนานวัตกรรมการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

(4) นำหลักสูตรแกนกลางทางการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติไปปรับใช้กับการจัดการศึกษาในสถานศึกษาในสถานนำร่องให้เหมาะสมกับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

(5) ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษาของสถานศึกษานำร่องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพและเหมาะสมกับสภาพในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

(6) จัดให้มีการออกแบบการทดสอบผู้เรียนเพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

(7) ส่งเสริม สนับสนุน ให้ความช่วยเหลือ และติดตามสถานศึกษานำร่องเพื่อให้จัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพและเกิดการพัฒนานวัตกรรม

(8) เสริมสร้างและเตรียมความพร้อมให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในการเป็นสถานศึกษานำร่องหรือในการนำนวัตกรรมการศึกษาไปใช้ในการจัดการศึกษา

(9) เพิ่มขีดความสามารถให้แก่หน่วยงานการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อทำการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาหรือนำนวัตกรรมการศึกษาไปใช้

(10) จัดให้มีการประเมินผลการศึกษาสถานศึกษานำร่อง

(11) แต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อทำการแทนหรือปฏิบัติงานที่คณะกรรมการขับเคลื่อนมอบหมาย

(12) รายงานผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาทั้งปัญหาและอุปสรรคในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต่อคณะกรรมการนโยบาย

(13) หน้าที่และอำนาจที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการขับเคลื่อน

(14) ปฏิบัติงานอื่นตามที่คณะกรรมการนโยบายมอบหมาย

ทั้งนี้ การดำเนินการตาม (1) (2) (4) (6) และ (10)ให้คณะกรรมขับเคลื่อนปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย การออกแบบทดสอบตาม (6) และการประเมินผลตาม (10) ต้องสอดคล้องกับหลักสูตรตามมาตรา 25 ในกรณีที่คณะกรรมการขับเคลื่อนเห็นว่าสถานศึกษานำร่องใดมีความพร้อม อาจมอบหมายหน้าที่และอำนาจ (6) ให้แก่สถานศึกษาดังกล่าวดำเนินการในส่วนของตนได้

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ. และ สพฐ.) การให้ความเห็นชอบหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ ตามมาตรา 25 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ของ คณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมการบริหารวิชาการ และผลการรวบรวมและวิเคราะห์ความท้าทาย ข้อเสนอแนะในการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ ติดตามและประเมินผลรับไปศึกษาประเด็นความท้าทาย สภาพปัญหาในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในแต่ละจังหวัด พร้อมให้แนวทางแก้ไขหรือข้อเสนอแนะไปยังพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต่อไป

 

 

ติดตามอื่น ๆ ได้ที่

 


 

ผู้เขียน: เก ประเสริฐสังข์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
สพฐ. PRE-KICKOFF ประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาการอบรมและเผยแพร่ผลงานวิจัยและให้ความรู้นวัตกรรมเชิงระบบและแนวทางการออกแบบระบบสารสนเทศตามมาตรฐานข้อมูลฯ
บทความล่าสุด