CHIANGMAI NEXT สานพลังเครือข่ายโรงเรียนนำร่องทวิ/พหุภาษา สร้างโอกาสพัฒนาระบบการศึกษาใหม่ โดยใช้กลไก พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

28 มกราคม 2020

ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษาจัดงานปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ ครั้งที่ 5 “CHIANGMAI NEXT พลเมืองเชียงใหม่พร้อมไปต่อ” ระหว่างวันที่ 17-18 มกราคม 2563 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ มีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เข้าร่วมจัดนิทรรศการสร้างสรรค์การเรียนรู้สู่พลเมืองเชียงใหม่ รักษ์วัฒนธรรม ทันการเปลี่ยนแปลง แสวงสัมมาชีพ และเข้าร่วมจัดอบรมสัมมนาทางวิชาการ  17 ห้องอบรมสัมมนาตลาดนัดองค์ความรู้หลากหลายตอบโจทย์ความต้องการเชียงใหม่ งานนี้ต้องให้เครดิตกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นผู้นำหลอมรวมพลังทุกภาคส่วนสานต่อคุณค่าและเปลี่ยนผ่านสู่ก้าวใหม่ของการปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ และจะขับเคลื่อนอย่างเข้มแข็งต่อไปในปี 2563-2566 “วิถีเชียงใหม่เราไม่ทิ้งกัน สร้างสรรค์การเรียนรู้สู่พลเมืองเชียงใหม่ ผู้นำนวัตกรรมการศึกษาเชิงพื้นที่ก้าวไกล”

กิจกรรมการสัมมนาของกลุ่มโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ที่ใช้ทวิ/พหุภาษา ในประเด็น “พหุภาษานวัตกรรมการศึกษาในศตวรรษที่ 21 สำหรับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์” ในวันเสาร์ที่ 18 มกราคม 2563 เวลา 08.30-16.30 น. จัดกระบวนการโดยมูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ 2 ข้อ คือ การสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นพลเมืองเชียงใหม่ และการพัฒนาครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษาและผู้ปกครอง มีรายชื่อวิทยากร ได้แก่ นายสมพงษ์ พรมจันทร์ ผอ.สพป.เชียงใหม่ เขต 6 นายพัฒนพงศ์ พวงทอง ผอ.สพป.เชียงใหม่ เขต 5 ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรรณา เทียนมี ผอ.มูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ นายพิศิษฐ์พงษ์ ไชยแก้ว ประธานชมรมทวิ/พหุภาษาจังหวัดเชียงใหม่ นายปราโมทย์ เลิศชีวกานต์ ข้าราชการบำนาญและที่ปรึกษาชมรมทวิ/พหุภาษาจังหวัดเชียงใหม่

ในห้องประชุม “พหุภาษานวัตกรรมการศึกษาในศตวรรษที่ 21 สำหรับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์” ในภาคเช้าได้แบ่งผู้เข้าประชุม ซึ่งมีประมาณ 100 คน ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มผู้บริหาร กลุ่มที่สองคือกลุ่มครูและศึกษานิเทศก์

กลุ่มแรกคือกลุ่มผู้บริหาร

แลกเปลี่ยนในประเด็นการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษาจากการใช้ทวิ/พหุภาษา สภาวการณ์ของความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ และความก้าวหน้าของการดำเนินงาน ความต้องการจำเป็นในการพัฒนา และหารือแนวทางการก้าวต่อไป

กลุ่มที่สองกลุ่มครูและศึกษานิเทศก์

เป็นการร่วมกันทบทวนและสะท้อนสมรรถนะผู้เรียน หรือประเด็นชี้วัดผลการใช้ทวิ/พหุภาษา ในเชิงประจักษ์ และวางแผนการทำงานร่วมกันต่อไป ส่วนภาคบ่ายเป็นการประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาแนวทางการยกระดับการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายร่วมสนับสนุนโรงเรียนที่ใช้ทวิ/พหุภาษา

ในช่วงบ่ายวันนั้น ผู้แทนสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สพฐ. (นายพิทักษ์ โสตถยาคม) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสของโรงเรียนนำร่อง ที่มี พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 รองรับ ชี้ให้เห็นโอกาสที่โรงเรียนส่วนใหญ่ที่ใช้ทวิ/พหุภาษาและเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จะใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ เป็นปัจจัยหนุนเสริมที่จะนำไปสู่การออกแบบและพัฒนาระบบ กลไก เครื่องมือจัดการศึกษาที่สะท้อนอัตลักษณ์รากเหง้าของผู้เรียน สอดคล้องบริบทชุมชนและความต้องการของพื้นที่ วางแผนให้องค์ประกอบของระบบจัดการศึกษามีความเชื่อมโยงกัน ทั้งเรื่องหลักสูตร การจัดการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ การทดสอบและวัดผล การประเมินผล การประกันคุณภาพ การบริหารบุคคล การบริหารงบประมาณ และการบริหารบริหารทั่วไป ซึ่งทางผู้จัดงานได้มีการถ่ายทอดทาง Facebook Live ผู้สนใจสามารถดูย้อนหลังได้ที่นี่

Facebook Live งานปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ ครั้งที่ 5

Written by พิทักษ์ โสตถยาคม รอง ผอ.สบน. สพฐ.
Artwork by เก ประเสริฐสังข์ ศศิธร สวัสดี และภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
พื้นที่นวัตกรรมระยองเตรียมสร้างระบบโค้ชและ Digital Platform เพื่อการเรียนรู้ของโค้ช ในการขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษาสู่ฐานสมรรถนะสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบข้อหารือของ สพฐ. เกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย เรื่อง การจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการคัดเลือก จัดหา หรือใช้ตำรา หรือสื่อการเรียนการสอนของสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
บทความล่าสุด