ผู้นำชุมชนและผู้นำท้องถิ่น จ.นราธิวาส เอาใส่ใจในการสร้างคุณภาพโรงเรียน และแสวงหานวัตกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

16 ธันวาคม 2019

เป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสไปสัมผัสจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 8-9 ตุลาคม 2562 เพื่อไปร่วมงานและร่วมเรียนรู้ในกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้เกี่ยวข้องในโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนราธิวาส และโครงการ TFE (Team for Education) ณ โรงเรียนมะนังกาหยี ตำบล มะนังตายอ อำเภอ เมืองนราธิวาส จังหวัด นราธิวาส

สิ่งที่ได้เห็นคือความกระตือรือร้นของเด็ก ครูและบุคลากรทางการศึกษา ในการร่วมจัดนิทรรศการ การนำเสนอกระบวนการและผลจากการเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ เปลี่ยนจากการเรียนรู้อยู่แต่ภายในห้องเรียน เป็นครูผู้สอนพาเด็กวางแผน และออกไปศึกษาจากแหล่งเรียนรู้ และภูมิปัญญาในชุมชน โดยมีผู้บริหารโรงเรียนให้การสนับสนุน และได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานต้นสังกัด สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และสถาบันอุดมศึกษาในการพาทำ รวมทั้ง ได้พบกับเครือข่ายผู้บริหารสถานศึกษาและคณะครู ที่เป็นนักพัฒนาอีกหลาย ๆ ท่านอีกด้วย

การเข้าร่วมงานในครั้งนี้ได้เห็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชนสังคมในท้องถิ่น และผู้ปกครองนักเรียน ให้ความสนใจเข้ามาร่วมเป็นเกียรติ และร่วมชื่นชมผลงานของนักเรียนจำนวนมาก ได้มีโอกาสได้รับฟังแนวคิดของผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่นแล้ว รับรู้ได้ถึงความเอาใจใส่ในการสร้างโรงเรียนให้มีคุณภาพ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีความพร้อม สมบูรณ์ เพื่อให้ลูกหลานได้ศึกษาเรียนรู้อยู่ในท้องถิ่น รักถิ่น ได้เรียนใกล้บ้าน และเป็นโรงเรียนที่สร้างคุณภาพผู้เรียน

ช่วงหนึ่งมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกับท่านนายก กูเซ็ง ยาวอหะซัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส ได้รับทราบแนวคิดและความมุ่งหวังของท่านในการส่งเสริมนวัตกรรมการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ อาทิ
1. การร่วมมือรวมพลัง มุ่งให้เกิดการร่วมด้วยช่วยกัน ในการหาแนวทางในการยกระดับคุณภาพการศึกษา เริ่มจากผู้อำนวยการโรงเรียนประชุมหารือกับผู้นำท้องถิ่น หาแนวทางสร้างและพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพ
2. การสร้างโรงเรียนดี มี 1 แห่งในตำบล ต้องการให้ 1 ตำบล มีโรงเรียนคุณภาพ 1 โรงเรียน จะทำให้การดูแล เอาใจใส่ อำนวยความสะดวกในการจัดรถรับส่ง ขณะนี้ถนนหนทางและการคมนาคมมีความสะดวกสบาย สามารถเดินทางภายในตำบลถึงโรงเรียนได้ภายใน 5 นาที เมื่อนักเรียนมีจำนวนเพียงพอ จะทำให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำงานกลุ่ม เด็กได้คิดร่วมกัน ได้เสนอความคิด ได้คิดกันอย่างหลากหลาย และหากมีครูดูแลอย่างทั่วถึงเด็กก็จะมีคุณภาพ
3. การสร้างศรัทธา ให้เด็กในชุมชนมาเรียนจำนวนมาก จูงใจให้เด็กมาเรียนร่วมกันในโรงเรียน ให้เด็กเรียนรู้ใกล้บ้าน และควรมีจำนวนเด็กที่ไม่น้อยเกินไปหรือควรเพียงพอต่อการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อย่างมีคุณภาพ หากโรงเรียนมีเด็กน้อยมาก การจัดการเรียนรู้จะไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร
4. การแก้ไขระเบียบหลักเกณฑ์ให้ท้องถิ่นสนับสนุนงบประมาณโรงเรียนได้ ในการระดมการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยเฉพาะการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนและจัดการศึกษา จะต้องมีการแก้ไขการให้อำนาจและหน้าที่ของหน่วยงานในท้องถิ่น ได้ร่วมสนับสนุนทรัพยากรให้โรงเรียนที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกสังกัดได้อย่างเท่าเทียม
5. การสร้างระบบกลไกการดึงการมีส่วนร่วมของผู้นำชุมชน หากมีการประชุมคณะกรรมการด้านการศึกษา ควรมีการเสนอให้มีงบประมาณรองรับการประชุมแต่ละครั้ง เป็นลักษณะเบี้ยประชุม/ค่าตอบแทนกรรมการ อาจตั้งไว้เพียง 200 บาท ก็จะทำให้การเข้าร่วมคิดร่วมให้ความเห็นในวาระต่าง ๆ เป็นไปอย่างราบรื่นและประสบผลสำเร็จได้ง่าย

Written by พิทักษ์ โสตถยาคม
Photo by ศึกษาธิการส่วนหน้า
Artwork by เก ประเสริฐสังข์ ศศิธร สวัสดี และภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
รองศาสตราจารย์ นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ฟันธง! พื้นที่นวัตกรรมไม่ใช่การทดลอง ไม่ใช่หนูทดลอง แต่เป็น National Action Research ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาชาติสบน. ส่งสัญญาณให้โรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เร่งปรับหลักสูตร ตาม พ.ร.บ. และเตรียมรองรับนโยบาย กพฐ. และ ศธ. ให้ทันก่อนเปิดเทอมแรก ปีการศึกษา 2563
บทความล่าสุด