ดร.อัมพร พินะสา รองเลขาธิการ กพฐ. ชี้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ต้องสร้างปัญญาให้เด็กไทย ให้ “อยู่รอด-อยู่ร่วม” ได้ โดยใช้กิจกรรมฝึกฝนจนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และให้พื้นที่ Recycle งานโครงการที่เป็น “ขยะการเรียนรู้” ของผู้เรียน

30 กันยายน 2019

ดร.อัมพร พินะสา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน บรรยายพิเศษ หัวข้อ “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ในการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่มาตรฐานสากล สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 28 ในวันที่ 28 กันยายน 2562 ณ โรงแรมบ้านสวนคุณตา อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

รองเลขาธิการ กพฐ. ได้กล่าวช่วงหนึ่งถึง เป้าหมายสุดท้ายของการจัดการศึกษาเพื่อมุ่งสร้างคนดี เก่ง มีความสุข และมีงานทำ กระบวนการจัดการศึกษาจึงต้องเป็นไปเพื่อสร้างความเจริญงอกงามของชีวิต จะต้องสร้างการเรียนรู้ให้ผู้เรียนในเรื่องที่ได้นำมาใช้ประโยชน์ในชีวิต การศึกษาต้องทำให้ผู้เรียนมีเครื่องมือในการเรียนรู้ อาทิ ภาษา คณิตศาสตร์ ทักษะกระบวนการคิด ทักษะกระบวนการแก้ปัญหา การที่ให้ผู้เรียนได้ฝึกแก้ปัญหาจะทำให้ก่อเกิดปัญญา มีทักษะการเรียนรู้ การได้ฝึกทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ จะทำให้สามารถใช้ชีวิตอยู่รอดและอยู่ร่วมในสังคมได้ สามารถพึ่งพาอาศัยกันและมีความสุข

ดังนั้น โรงเรียนนำร่องและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องแปลงเป้าหมาย งาน โครงการต่างๆ ให้เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนได้ฝึกฝน ได้ลงมือทำ และให้ได้ฝึกมากเพียงพอจนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้สู่กำลังคนคุณภาพ ดังที่ชุมชน สังคม และประเทศชาติมุ่งหวังและต้องการ

นอกจากนั้น ในโอกาสที่ศรีสะเกษเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและมีโรงเรียนนำร่อง ให้พัฒนาโดยใช้โรงเรียนและชุมชนเป็นฐาน วิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคที่มี หาสาเหตุของปัญหาให้พบ และลงมือทำเพื่อแก้ไขอย่างจริงจัง อาจพบว่ามีหลายงาน/โครงการที่โรงเรียนต้องดำเนินการ เข้าร่วม แต่เป็นการสร้างภาระให้โรงเรียนและส่งผลกระทบเชิงลบแก่ผู้เรียน ไม่จำเป็น/ไม่ใช่แก่นสำคัญของการจัดการศึกษาและวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หรือเป็น “ขยะ” ของการเรียนรู้ของผู้เรียน ให้สถานศึกษาวิเคราะห์และจัดระบบใหม่ อะไรไม่จำเป็นก็ควรปรับเปลี่ยนและ Recycle งาน/โครงการเหล่านั้นได้ เพื่อให้การจัดการศึกษาของโรงเรียนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

หมายเหตุ: พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562

มาตรา 5 พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้ (1)  คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน รวมทั้งเพื่อดำเนินการให้มีการขยายผลไปใช้ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอื่น (2) ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา (3) กระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารและการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และ (4)  สร้างและพัฒนากลไกในการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาชนสังคมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ในกรณีที่มีปัญหาเรื่องการตีความหรือการวินิจฉัยปัญหาอันเกิดจากการใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ การตีความจะต้องเอื้ออำนวยให้เกิดการสร้างนวัตกรรมการศึกษา และมุ่งเน้นให้เกิดสัมฤทธิผลของการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นสำคัญ

มาตรา 33 ในกรณีที่หน่วยงานใดประสงค์จะดำเนินโครงการ กิจกรรม หรือภารกิจใดซึ่งให้สถานศึกษานำร่องเป็นผู้ดำเนินการหรือร่วมดำเนินการ ให้หน่วยงานนั้นขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนก่อนดำเนินการ

มาตรา 48 ในกรณีที่สถานศึกษานำร่องต้องดำเนินการหรือร่วมดำเนินการในโครงการ กิจกรรม หรือภารกิจใดที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตามมาตรา 5 หรือส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้อำนวยการสถานศึกษานำร่องแจ้งต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อขอยกเว้นไม่ดำเนินการหรือร่วมดำเนินการในโครงการ กิจกรรม หรือภารกิจนั้น ทั้งนี้ หากคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาพิจารณาแล้วเห็นควรให้ยกเว้นก็ให้มีหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานเจ้าของโครงการ กิจกรรม หรือภารกิจนั้น


รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ 11.jpg

ผู้เขียน: พิทักษ์ โสตถยาคม
กราฟิกดีไซน์เนอร์: ศศิธร สวัสดี, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: เก ประเสริฐสังข์

Facebook Comments
สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สพฐ. เผยแพร่หนังสือหลักการและแนวคิดการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้กับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด 8 จังหวัด สถานศึกษานำร่องและหน่วยงานต้นสังกัดนำไปประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสพป.เชียงใหม่ เขต 6 ปลื้ม! ผลการสอนภาษาไทยโดยใช้ภาษาถิ่นเป็นฐาน “แก้ปัญหาอ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้” ของเด็กชาติพันธุ์ ผ่านระบบ CSL (Cross School Learning) จากโรงเรียนบ้านขุนแตะ โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่
บทความล่าสุด