การประชุมเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อออกแบบและขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาโดยใช้กระบวนการประเมินเชิงพัฒนา (Developmental Evaluation) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 16 มิถุนายน 2566 ถือเป็นเวทีสำหรับการเริ่มนับหนึ่งของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาพื้นที่ให้ที่พึ่งได้รับการประกาศจาก ครม. และเป็นเวทีสำหรับแบ่งปันเรื่องราวหรือประสบการณ์การทำงานของพื้นที่ใหม่ที่ได้เริ่มขยับและขับเคลื่อนไปแล้ว การจัดงานครั้งนี้นั้นได้รับเกียรติจากผู้ใหญ่ของส่วนกลางถึง 2 ท่าน มาร่วมในพิธีเปิดท่านแรกคือ ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ได้มาร่วมให้กำลังใจและเสริมพลังให้กับพื้นที่ และท่านที่สองคือ ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมให้กำลังใจกับคณะทำงานในพื้นที่พร้อมกับมอบนโยบาย ศธจ. ดังที่ท่านผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ได้กล่าวถึงในที่ประชุม การจัดงานครั้งนี้เป็นการจัดงานแบบผสมผสานทั้ง Online และ Onsite พร้อมกันทั้ง 11 จังหวัด การจัดงานได้รับการสนับสนุนวิทยากรกระบวนการและวิทยากรหลักจากเวทีส่วนกลางเป็นบุคลากรของมูลนิธิสยามกัมมาจล (SCBF) และบุคลากรจาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เข้าร่วมสังเกตการณ์และเก็บข้อมูลการดำเนินกิจกรรมตลอดทั้งสองวันนี้
ในส่วนของสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นั้น ดร.พิทักษ์ โสตถยาคม ผอ.สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) ได้มอบหมายให้บุคลากรของสำนักทุกคนกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก ให้การช่วยเหลือด้านการติดต่อประสานงาน พร้อมทั้งเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานเชิงพื้นที่กับพี่ๆ วิทยากรกระบวนการซึ่งถือเป็นการพัฒนาบุคลากรของ สบน. ได้เรียนรู้ผ่านการลงพื้นที่ลงมือปฏิบัติจริง สำหรับผู้เขียนนั้นได้มีโอกาสมาร่วมเวทีที่ จ.อุบลราชธานี และได้เห็นภาพการทำงานของพื้นที่ที่น่าจะหยิบยกขึ้นมาบอกเล่าให้สาธารณะได้รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ขอบคุณน้องเมย์ (บุคลากรจากสยามกัมมาจล) สำหรับการให้ข้อมูลในมุมองของผู้จัดที่เป็นหนึ่งในวิทยากรกระบวนการ ได้สะท้อนภาพการทำงานของ “พื้นที่” ไว้อย่างน่าสนใจ ใน 3 ประเด็น คือ
1. พื้นที่ เป็นผู้เชิญ ActiveGroup ที่มาจากทุกภาคส่วนด้วยตนเอง
2. พื้นที่ เป็นผู้ร่วมออกแบบกระบวนการ โดยมี SCBF เป็น Facilitator และ Coach สร้างการเรียนรู้
3. พื้นที่ เป็นผู้เตรียมพื้นที่ อุปกรณ์ และการจัดการด้วยตนเอง
น้องเมย์ยังได้เล่าให้ฟังต่อว่าแม้การประชุมจะจัดขึ้น 2 วัน คือ 15-16 มิ.ย. แต่เวทีการเตรียมการ เวทีออกแบบกระบวนการจัดการประชุม DE ครั้งนี้นั้นมีมาตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2566 ออนไลน์ผ่าน Zoom meeting และยังมีการพูดคุยออนไลน์นอกรอบกันอีกหลายครั้งกว่าจะได้มาจัดงานสองวันนี้ เราทำทุกคนทั้งมูลนิธิ ทั้ง สบน. ทั้งทีมในพื้นที่ Core team ทุกคนเต็มที่มาก ทำงานแข่งกับเวลามาก บางวันประชุมเตรียมกันถึงดึกเลยแต่ทุกคนก็เต็มที่เต็มใจ
โดยส่วนตัวของเมย์คิดว่ากระบวนการ Developmental Evaluation (DE) มีความสอดคล้องกับเจตนารมณ์ ของ พรบ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่เปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงการศึกษาของตนเอง พร้อมเปิดพื้นที่ใหม่ให้สามารถทำงานแบบใหม่ เพื่ออนาคตของลูกหลาน ดังนั้น การจึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือสำหรับการติดตาม ประเมินความก้าวหน้าของการทำงาน ดูความสำเร็จ และดูสิ่งที่ไม่สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อนำไปพัฒนาการขับเคลื่อนงานของจังหวัด
ครั้งนี้มีเรามีกลุ่มเป้าหมายที่เชิญเข้าร่วม Workshop ในแต่ละจังหวัดจำนวนประมาณ 40 คน มากน้อยแตกต่างกันไปแล้วแต่พื้นที่จะเชิญคนมาเข้าร่วมได้ (ที่ Station ของ จ.อุบลฯ เราก็มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 55 คน) แต่ที่เหมือนกันทุกจังหวัดคือ คนที่มาร่วมพูดคุยกันในเวทีตลอด 2 วันนี้ จะประกอบด้วย 6 กลุ่ม คือ 1) ภาคการศึกษา 2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3) กลุ่มภาครัฐ 4) ภาคเอกชน 5) ภาคประชาสังคม 6) เด็กและเยาวชน
เรามุ่งหมายว่าการมาพูดคุยทำกิจกรรมร่วมกันทั้งสองวันนี้จะเป็นเวทีให้คนทั้ง 6 กลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดภาพอนาคต (Vision) ของจังหวัด ผลลัพธ์หลัก (KRA) ตัวชี้วัดร่วม (KPI) เพื่อให้ได้แผนการดำเนินงาน (ACT) ที่สอดคล้องกับ พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ไปจนถึงแต่ละจังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีแผนขับเคลื่อนในการดำเนินงานและสามารถติดตามความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนได้โดยใช้กระบวนการ Developmental Evaluation (DE) เป็นเครื่องมือ
เกิดอะไรขึ้นที่ Station จ.อุบลราชธานี แห่งนี้ ผู้เขียนเห็นอะไร
“ความมุ่งมั่น ทุ่มเท และการมีส่วนร่วม”
ตลอดสองวันที่ผ่านมาสิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเจนมากคือผู้ที่มาร่วมประชุมมีความมุ่งมั่นและทุ่มเทกับการทำงานเป็นอย่างมาก ถึงเวลาพักเที่ยงยังมีผู้เข้าร่วมบางกลุ่มพยายามทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จให้ได้ การทำงานที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากเห็นการพัฒนาเด็กในจังหวัดของตนให้มีคุณภาพยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ภาพของท่านศึกษาธิการจังหวัด ที่อยู่กับการประชุมแห่งนี้ตลอดทั้งสองวัน ความเอาจริงเอาจังที่อยากเห็นภาพอนาคตที่หลากหลายภาคส่วนมาร่วมกันกำหนด ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการที่ผู้บริหารของส่วนงานเห็นความสำคัญของกิจกรรมเหล่านี้ ตั้งแต่ระดับท่านปลัดกระทรวง ที่แม้ตัวท่านติดราชการที่ต่างประเทศประเทศญี่ปุ่น ท่านก็ยังหาจังหวะเวลาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อสื่อสารข้ามซีกโลกมาให้กำลังใจกับผู้ปฏิบัติการในพื้นที่ ท่าน ศธจ. ผู้ที่ทำหน้าในฐานะที่เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ก็เล็งเห็นความสำคัญ อยู่คอยให้กำลังใจ พูดคุยวนเวียนไปในทุกๆ กลุ่มย่อย
สำหรับในวงใหญ่ที่เราเรียกว่า Station ประจำจังหวัดนั้น เราจะมีการแบ่งกลุ่มเป็นวงย่อย นำโจทย์ที่ได้รับจากเวทีกลางมาร่วมกันอภิปรายแสดงความคิดเห็น พูดคุย ถกเถียง ในประเด็นต่าง ๆ โดยมี Note taker และ Fa ประจำกลุ่มย่อยซึ่งเป็นคนในพื้นที่เอง คอยกระตุ้นและคุมประเด็น มี Fa กลาง (น้อยเมย์) ที่พร้อมจะหยิบไมค์ขึ้นสื่อสารด้วยรอยยิ้มและความสุข ปรากฏให้เห็นตลอดการดำเนินการเป็นทั้ง Fa กลางของ Station อุบลฯ และเป็น MC ดำเนินรายการในวงใหญ่ 11 จังหวัด ใน Zoom ส่วนกลาง
ในภาพรวมของการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผู้เขียนสังเกตเห็นว่าแต่ละโจทย์ที่ได้รับมีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งผู้สูงวัย ต่างต่างมีส่วนร่วมสะท้อนความคิด ความกังวล ความต้องการ ความคาดหวัง หรือเป้าหมายปลายทาง ทุกสิ่งอย่างถูกพูดคุยแลกเปลี่ยนส่งผ่านจากคนคนหนึ่งกระจายสู่สมาชิกในวงย่อยและถูกนำเสนอในวงใหญ่ เป็นภาพของการมีส่วนร่วมที่ชัดเจนมากจนได้มาซึ่งผลลัพธ์ปรากฎดังสองภาพสุดท้ายในบทความนี้ และผลผลิตที่ได้นั้นผู้เขียนสามารถสะท้อนได้ว่าเกิดจากความมุ่งมั่น ทุ่มเท และการมีส่วนร่วมในห้องตลอดสองวันอย่างแท้จริง
ในช่วงบ่ายก่อนกลับผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์ท่านเสรี ตุ้มอ่อน ศึกษาธิการจังหวัดอุบลราชธานี และอีกบทบาทที่สำคัญในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาคือ ท่านเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดอุบลราชธานีโดยตำแหน่ง ผู้เขียนมองเห็นท่านนั่งยิ้มดูเอกสารสามสี่แผ่นอย่างใส่ใจอ่านอยู่นาน เมื่อได้จังหวะจึงได้ถามท่านถึงความรู้สึกที่ดูเอกสารแล้วยิ้มกรุ่มกริ่ม ดูมีความสุข ผู้เขียนขอนำเนื้อความจากคำบอกเล่าของท่านบางส่วนที่ผู้เขียนจำได้มาถ่ายทอดบอกเล่าสู่กันฟัง
“…คือมูลนิธิสยามกัมมาจลเค้าก็ไม่ใช่คนอุบลนะ เค้ามาช่วยเรามาพาเราทำอย่างเต็มที่ขนาดนี้ก็ต้องขอบคุณ สิ่งที่ได้คือมันดูยอดเยี่ยมเลยเรามีทั้งกรรมการขับเคลื่อน มีทั้งภาคเอกชน หอการค้า มีประธานสภาการศึกษาจังหวัดอุบล มีอดีตท่านศึกษา มีเยาวชน มีนักเรียน มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัย มีสาธารณสุข มีตัวแทนจากเขตพื้นที่ จาก กศน. มีนักจัดรายการสื่อสารคือถ้าเป็นทีวีระดับประเทศก็เป็นสรยุทธประมาณนั้น นี่ท่านนั่งอยู่ตรงนั้นเป็นสรยุทธเวอร์ชั่นของอุบลเรา คือคนมาร่วมกันทำ แล้วได้เห็นภาพออกมา ผมก็พยายามอ่านทุกตัวอักษรนะ พยายามทำความเข้าใจทุกคำ อีก 10 ปีเราอยากเห็นอุบลเป็นอย่างไร อยากเห็นเด็กพวกเราเป็นอย่างไร คือ มันดีจริงๆ ที่เรามีคนจากหลายส่วนมาช่วยกันในสองวันนี้ มันเป็นเอกสารตั้งต้นให้ศึกษาเอาไปทำต่อไปคุยต่อกับคณะกรรมการขับเคลื่อนได้เลยเราจะขับเคลื่อนเรื่องพวกนี้อย่างไร ซึ่งมันไม่ได้เกิดจากศึกษาเป็นคนคิด แต่มันเกิดจากความมุ่งมั่น ทุ่มเท และการมีส่วนร่วมของทุกคนในห้องนี้จนได้มา…”
* บุคคลที่ปรากฏในบทความนี้ ท่านใด ประสงค์ให้นำภาพหรือข้อมูลซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลออก
โปรดแจ้งมาที่ E-mail : Saraban@EduSandbox.com*
ติดตามอื่น ๆ ได้ที่
ผู้เขียน: เก ประเสริฐสังข์
กราฟิกดีไซน์เนอร์ : เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์ : เก ประเสริฐสังข์