ผมขอเก็บสาระสำคัญที่ได้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 ช่วงที่ ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สะท้อนความคิดหลังจากที่ได้รับฟังผู้แทนของจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ได้นำเสนอผลการระดมความคิดเกี่ยวกับความก้าวหน้าการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรคในการจัดการศึกษาและแนวคิดในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาในพื้นที่
ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการกล่าวในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ทำให้ผู้ฟังได้หลักคิด ได้แรงบันดาลใจ และมีประโยชน์มากในการนำไปคิดต่อและประยุกต์ใช้พัฒนาคุณภาพการศึกษา ไม่เฉพาะสถานศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเท่านั้น ยังรวมถึงสถานศึกษาโดยทั่วไปด้วย ซึ่งผู้สนใจสามารถชมเทปการถ่ายทอดสดในงานดังกล่าว โปรดคลิกที่นี่
ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ. กล่าวชื่นชมที่ทุกจังหวัดโฟกัสภารกิจหน้าที่ที่ต้องทำได้ตรงกับเป้าหมายหลักในการจัดการศึกษา นั่นคือ ผู้เรียน จากนั้นได้สะท้อนความคิด ข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะเพื่อการขับเคลื่อนงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ผมสรุปได้ 6 ประเด็น ดังนี้
1. โรงเรียนมีอิสระและมีอำนาจหน้าที่อยู่แล้ว ขอให้กล้าทำ-กล้าเปลี่ยนแปลง โรงเรียนมีอำนาจหน้าที่ที่สามารถทำอะไรได้มาก แต่ไม่รู้ว่าทำได้ หรือไม่กล้าทำ โดยเฉพาะความมีอิสระที่มีมาก คือ อิสระทางวิชาการ อิสระทางหลักสูตร อิสระทางการเรียนการสอน แต่ความกล้าที่จะเข้าไปบริหารหลักสูตรมีไม่เพียงพอ เลขาธิการ กพฐ. ได้ยกตัวอย่างโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 เป็นตัวอย่างของโรงเรียนที่ใช้อำนาจหน้าที่และความเป็นอิสระทางวิชาการเพื่อโอกาสในการเรียนรู้ของนักเรียน และได้พาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาไปศึกษาดูงานโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 (เวียงเก่าแสนภูวิทยาประสาท) ได้เห็นว่าโรงเรียนสามารถใช้อำนาจหน้าที่เพื่อสร้างสรรค์โอกาสในการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้มาก
#เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2562 รายการเดินหน้าประเทศไทย ได้นำกรณีโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 มาออกอากาศในช่วง 18.00-18.20 น. ดูคลิปวีดิโอผลงานโรงเรียนที่นี่ https://youtu.be/Is5eQWlBJU8
2. ใช้รายวิชาเพิ่มเติมตอบโจทย์พื้นที่ ให้นักเรียนเรียนรู้และค้นพบตนเอง เลขาธิการ กพฐ. ชี้ให้ผู้เข้าประชุมเห็นว่า หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้แบ่งกลุ่มวิชาอยู่ 2 ลักษณะ ได้แก่ 1) รายวิชาพื้นฐาน ซึ่งจะสอนเหมือนกันทั่วประเทศ เพราะเป็นความรู้ที่เกี่ยวกับความเป็นชาติ เป็นความรู้พื้นฐานที่มนุษย์ต้องรู้ ซึ่งจะมีการวัดผลการเรียนรู้ระดับชาติด้วย O-NET เหมือนกัน ดังนั้น รายวิชาพื้นฐานนี้จะเป็นการกำหนดเป้าหมายเกี่ยวกับความรู้ความสามารถหรือสมรรถนะที่ต้องการของประเทศ และมั่นใจได้ว่าสอดคล้องกับทิศทางของโลกปัจจุบันและอนาคต 2) รายวิชาเพิ่มเติม รายวิชานี้ที่ผ่านมาสถานศึกษาไม่กล้าออกจากกรอบ และลุกขึ้นมาบริหารหลักสูตรสถานศึกษาใหม่ ทั้งๆ ที่มีอิสระที่สามารถทำได้อยู่แล้ว กรอบกลุ่มสาระการเรียนรู้เดิมที่ระบุไว้ในหลักสูตรแกนกลางฯ คือ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา เป็นต้น แล้ววิชาเพิ่มเติมนี้เจตนาให้สถานศึกษาไปคิดเองเพื่อจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้ตรงกับบริบทพื้นที่ ชุมชน และผู้เรียน แต่ส่วนใหญ่ไม่มีใครคิดและจัดทำวิชาเพิ่มเติมที่หลากหลาย สถานศึกษายังเปิดรายวิชาเพิ่มเติมลักษณะเดียวกับรายวิชาพื้นฐาน จึงให้ผู้เรียนได้เรียนรายวิชา คณิตเสริม อังกฤษเสริม วิทย์เสริม “เป็นการจัดรายวิชาให้ผู้เรียนเรียนวนเวียนเน้นย้ำในรายวิชากลุ่มเดิม เหมือนจะส่งเสริมให้ผู้เรียนไปเป็นศาสตราจารย์ทั้งหมด ไม่ได้เตรียมผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่พร้อมประกอบอาชีพและทำมาหาเลี้ยงชีพได้”
3. หลักสูตรแกนกลางยืดหยุ่น …ต้องกล้าทำหลักสูตรสถานศึกษาใหม่ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เอื้อให้สถานศึกษาสามารถจัดรายวิชาเพิ่มเติมได้ในสัดส่วนแตกต่างกัน ในแต่ละช่วง/ระดับชั้น ดังนี้ 1) ชั้น ป.1-6 มีประมาณ 10% สำหรับรายวิชาเพิ่มเติม จะเห็นว่าเวลาเรียนส่วนใหญ่ใช้ในการมุ่งเน้นอ่านออกเขียนได้คิดคำนวณเป็น และทำอะไรที่สำคัญจำเป็นสำหรับช่วงวัยนี้ได้ ดังนั้น ใน 10% นี้ สถานศึกษาต้องกล้าที่จะจัดการใหม่ในหลักสูตรสถานศึกษา 2) ชั้น ม.ต้น มีประมาณ 20% ที่สถานศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนอะไรก็ได้ที่พื้นที่ต้องการ 3) ม.ปลาย มีประมาณ 50% ที่สถานศึกษาคิดเองได้ ซึ่งมีตัวอย่างโครงการที่บริหารจัดการหลักสูตรได้สำเร็จ อาทิ โครงการสานฝันการกีฬา สามารถจัดการเรียนการสอนกีฬาได้อย่างเต็มที่ โครงการห้องเรียนกีฬาสามารถเปิดรายวิชาและจัดการเรียนการสอนฟุตบอล1 ฟุตบอล2 ได้ แต่ข้อจำกัดของสถานศึกษาคือ ยังไม่เข้าใจโจทย์ของประเทศ ยังไม่เข้าใจโจทย์ของบริบทพื้นที่ จึงส่งเสริมจะให้เด็กไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย ให้เรียนอังกฤษเสริม คณิตเสริม วิทย์เสริม อยู่เช่นนี้ ยังไม่เปลี่ยนให้มีการจัดการเรียนการสอนวิชาชีพที่ท้องถิ่นต้องการ ไม่ทำหลักสูตรที่สอดคล้องกับท้องถิ่น สุดท้ายประเทศของเราก็ไม่ออกจากวังวนเดิมคือ เด็กจะเรียนต่อแต่มหาวิทยาลัย ไม่เรียนต่อสายอาชีพ เนื่องจากเด็กเรียนแต่วิทย์ คณิต อังกฤษ สังคม ไม่เคยเรียนรายวิชาอื่นๆ เช่น เรียนกีฬา เรียนปั้น เรียนอุตสาหกรรม ทั้งๆ ที่หลักสูตรแกนกลางฯ ได้แบ่งเวลาไว้แล้ว แต่สถานศึกษาไม่ได้จัดการเรียนรู้ให้ ดังนั้น ผู้เรียนจึงไม่ได้ค้นพบตนเอง ฉะนั้น ในเรื่องความมีอิสระทางวิชาการนี้ หลักสูตรแกนกลางฯ ให้ไว้มากแล้ว แต่สถานศึกษาต้องกล้าออกนอกกรอบเดิม และสร้างสรรค์รายวิชาเพิ่มเติม/จัดประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ให้ผู้เรียน
4. สถานศึกษามีอิสระที่จะใช้งบประมาณเหมาจ่ายที่ได้รับอยู่แล้ว รัฐเหมาจ่ายเงินอุดหนุนรายหัวให้สถานศึกษาแบบเบ็ดเสร็จ/เหมารวม เพื่อใช้พัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาและดำเนินการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อให้ใช้ได้อย่างอิสระและตอบโจทย์พื้นที่ ส่วนงบพัฒนาจากส่วนกลางซึ่งมีจำนวนจำกัด จะใช้เพื่อหนุนเสริมการพัฒนาประเทศ และสร้างการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษา เติมเต็มประเด็นสำคัญที่เป็นจุดเน้นของประเทศและเชื่อมโยงการพัฒนาตามทิศทางโลก เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา เช่น นำมาใช้ในเรื่องนวัตกรรมการศึกษา มาสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกันของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน หากส่วนกลางไม่มีงบประมาณก็ไม่สามารถร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้ได้ หรือนำมาใช้ในการขับเคลื่อนนโยบายห้องเรียนกีฬา ถ้าปล่อยให้สถานศึกษาใช้เงินอุดหนุนรายหัวที่ได้ปกติ ก็จะไม่สามารถดำเนินการได้ หรือนำมาใช้ดำเนินนโยบายโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล หรือส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เรื่องวิทยาการคำนวณ เพื่อพัฒนาการคิดอย่างเป็นระบบให้ผู้เรียนและยกระดับ PISA
5. เชื่อมประสานบทบาทคณะกรรมการสถานศึกษาในการพัฒนาคุณภาพ อีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องสร้างความเข้าใจและต้องเตรียมความพร้อมคือเรื่องกระจายอำนาจ เพื่อให้สถานศึกษาดำเนินการได้อย่างถูกต้อง สร้างสรรค์ โดยจะต้องให้บทบาทและความสำคัญกับคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการมีส่วนร่วม ร่วมสะท้อนความต้องการของชุมชน เชื่อมโยงจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัด มาสู่การใช้อำนาจหน้าที่ในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา และใช้อำนาจของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ความเห็นชอบในแผนและงบประมาณที่โรงเรียนมีอยู่ทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรสถานศึกษาที่จัดทำขึ้น ซึ่งจะทำให้การใช้งบประมาณมีกรอบที่ชัดเจนโดยอิงหลักสูตรสถานศึกษา การใช้งบประมาณจะไม่สะเปะสะปะ รวมทั้งเมื่อเลือกบรรจุครูและบุคลากรทางการศึกษาก็สามารถเลือกสรรได้ตรงกับหลักสูตรสถานศึกษา
6. เปลี่ยนการจัดซื้อหนังสือเรียนได้ จะต้องมีกฎหมายรองรับ ในเรื่องการจัดซื้อหนังสือแบบเรียนเห็นด้วยที่จะให้โรงเรียนสามารถเลือกจัดซื้อจัดหาหนังสือเรียนได้เอง สิ่งที่เห็นเมื่อดำเนินโครงการโรงเรียน DLTV เรามีโรงเรียน จำนวน 15,000 โรงเรียน แล้วใช้สื่อ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพฯ เป็นสื่อที่ดี แต่กฎระเบียบที่จะงบประมาณเรียนฟรีฯ ไม่สามารถใช้ในการจัดหาสื่อ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพฯ นี้ได้ ระบุว่าจะใช้เงินเรียนฟรี 15 ปีได้ จะต้องซื้อหนังสือในบัญชีรายชื่อสื่อที่ผ่านการตรวจของกระทรวงแล้วเท่านั้น ดังนั้น โรงเรียนขนาดเล็ก 15,000 โรงเรียน ที่ใช้สื่อ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพฯ ก็ไม่สามารถเลือกใช้งบประมาณในการปริ้นใบงาน ใบความรู้ให้ผู้เรียนใดๆ ได้เลย หรือกรณีที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ทำการสอนสื่อสารสองทางกับโรงเรียนในจังหวัดปัตตานี 2-3 โรงเรียน ซึ่งได้ผลดีมาก กรณีนี้ก็ไม่ใช้หนังสือเรียนในบัญชีรายชื่อของกระทรวงศึกษาธิการ ใช้หนังสือที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์สร้างขึ้น แต่โรงเรียน 2-3 โรงเรียนนี้ก็ยังต้องซื้อหนังสือเรียนตามบัญชีรายชื่ออยู่ดี ทั้งนี้ ในกระแสประชาธิปไตยและเน้นการมีส่วนร่วมเช่นปัจจุบัน จำเป็นต้องมีกฎหมายยกเว้นให้ทำได้ จึงจะสามารถดำเนินการโดยไม่ถูกต่อต้้าน/ร้องเรียนจากภาคเอกชน หรือผู้ผลิตหนังสือแบบเรียน สิ่งที่รัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการเรื่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จึงเป็นช่องทางที่เปิดช่องให้มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การใช้เงินอุดหนุน โดยเอื้อให้สถานศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสามารถเลือกจัดซื้อหนังสือเรียนได้เอง
เลขาธิการ กพฐ. เน้นย้ำว่า ขณะนี้สถานศึกษาได้รับการกระจายอำนาจ หน้าที่และความรับผิดชอบหลายเรื่องแล้ว อาจยังไม่กล้าใช้ หรือไม่รู้ว่าใช้ได้ จึงขอให้กล้าทำ กล้าเปลี่ยนแปลง เช่น การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาใหม่ จัดรายวิชาเพิ่มเติมให้โอกาสผู้เรียนได้เลือกเรียนตามความถนัดความสนใจ ให้ค้นพบตนเอง สู่การพัฒนานวัตกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์พื้นที่ ชุมชนสังคม และประเทศ
Written by: พิทักษ์ โสตถยาคมPhoto Credit ศราวุธ คออุเซ็ง