เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะผู้บริหารระดับสูงของ กระทรวงศึกษาธิการ ได้เดินทางลงพื้นที่ จังหวัดกาญจนบุรี ณ โรงเรียนวัดกร่างทองราษฎร์บูรณะ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 1 เพื่อติดตามการดําเนินงานตามนโยบาย ของรัฐบาล และมาตรวจเยี่ยมราชการ สร้างขวัญกําลังใจและให้คําแนะนํา พร้อมรับฟังข้อคิดเห็น จากคณะครู ผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษาและ นักเรียน ซึ่งจะเป็นข้อมูลในการเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีที่จังหวัดกาญจนบุรี
ซึ่งภายในงานมีการจัดนิทรรศการนวัตกรรมการจัดการศึกษาและนวัตกรรมการบริหารจัดการต่างๆ ที่โดดเด่นในพื้นที่พัฒนาการศึกษาของกลุ่มภาคกลาง ตอนล่าง ซึ่งประกอบด้วยโครงการอันโดดเด่นใน 4 กลุ่มโครงการ ได้แก่ 1) นิทรรศการโครงการโรงเรียนประชารัฐ 2) นิทรรศการโครงการการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) 3) นิทรรศการการขับเคลื่อนวิทยาการคำนวณ (Coding) และ 4) นิทรรศการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
ทั้งนี้ในส่วนของนิทรรศการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี มีการนำโรงเรียนตัวอย่าง 2 โรงเรียนมาแสดงนิทรรศการนวัตกรรม ได้แก่ โรงเรียนเทพมงคลรังษี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 8 กาญจนบุรี และโรงเรียนราษฎร์บำรุงธรรม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 4 โดยทั้งสองโรงเรียนมีนวัตกรรมที่โดดเด่นคือ
โรงเรียนเทพมงคลรังษี
นายสมพงษ์ เตชรัตนวรกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนเทพมงคลรังษี พร้อมด้วยคณะครูและนักเรียนได้ร่วมกันนำเสนอนวัตกรรมการศึกษาจำนวน 3 โมเดลเพื่อพัฒนาทักษะของผู้เรียน ได้แก่ โมเดลทักษะวิชาการ โมเดลทักษะวิชาชีพ และโมเดลทักษะชีวิต (ดังแสดงตามแผนภาพประกอบ)
ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้สอบถามด้วยความสนใจทั้ง 3 โมเดล นักเรียนที่เป็นตัวแทนสามารถตอบคำถามได้อย่างชัดเจนและตรงประเด็น
ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ความสนใจและสอบถามผู้อำนวยการโรงเรียนเกี่ยวกับประเด็นห้องเรียนวทวิศึกษา จากนั้นได้ร่วมถ่ายภาพกับผู้บริหารคณะครูและนักเรียนของโรงเรียนเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ
โรงเรียนราษฎร์บำรุงธรรม
โรงเรียนราษฎร์บำรุงธรรม นำโดย นายศิวรัตน์ พายุหะ ผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะครู ได้นำเสนอนวัตกรรมของโรงเรียนต่อท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีเป้าหมายมุ่งเน้นสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21ให้แก่ผู้เรียน อีกทั้งยังมุ่งเน้นการลดเด็กหลุดนอกระบบ ยกระดับคุณภาพวิชาการ และดูแลคุณภาพชีวิต โดยจุดเด่นของโรงเรียนอีกอย่างที่ถูกนำเสนอ คือ มีภาคีร่วมพัฒนาหลายองค์กร ทั้งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) สถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์แห่งสหราชอาณาจักร International Foundation ‘Creativity, Culture and Education’ (CCE) และมีทีมโค้ชเข้ามาช่วยพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้เพื่อนครูผู้ปกครองชุมชนศึกษานิเทศก์เข้ามาร่วมเรียนรู้การปฏิบัติการสอนและสะท้อนผลการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนร่วมกัน
ทั้งนี้ผู้อำนวยการโรงเรียนได้นำเสนอนวัตกรรมของโรงเรียนที่มีจำนวน 2 นวัตกรรม คือ 1) นวัตกรรมเชิงการบริหารจัดการ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่องด้วย Model 5 มาตรการ (5Q) 4 กระบวนการ (4P) และ 2)นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ เพื่อขับเคลื่อนคุณภาพการจัดชั้นเรียนด้วยการสร้างและส่งเสริม Growth mindset ให้กับบุคลากรครูและผู้เรียน ตลอดจนมีการใช้กลยุทธ์ PLC เพื่อพัฒนาให้โรงเรียนเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ส่งเสริมความรับผิดชอบการเรียนรู้ของผู้เรียนร่วมกันเป็นสำคัญให้เกิดขึ้นต่อคณะครู นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอการพัฒนาบทเรียนร่วมกัน (Lesson Study) และจิตศึกษาที่เป็นการสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นอาทรเกื้อกูลการทำงานเติมเต็มและยอมรับซึ่งกันและกัน
ทั้งนี้นวัตกรรมทั้งสองส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน 4 ด้านคือ 1) ด้านผู้เรียน เช่นเด็กมีความสุขเพิ่มมากขึ้นในการเรียนรู้ ผู้เรียนมีทักษะอาชีพ ผู้เรียนมีความกล้าแสดงออกเป็นต้น 2) ด้านครูผู้สอน มีการปรับเปลี่ยนวิธีสอน พูดคุยกันมากขึ้นเปิดใจเห็นอกเห็นใจกัน ปรับเปลี่ยนการทำงานร่วมกัน มี Growth mindset เป็นต้น 3) ด้านโรงเรียนโดยเฉพาะด้านผู้บริหาร เช่น ผู้อำนวยการให้การเอาใจใส่ทางวิชาการสูงขึ้น เปลี่ยนพฤติกรรมเป็นผู้นำแบบให้บริการ โรงเรียนมีการวางเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้นและเป็นเป้าหมายเพื่อนักเรียน เป็นต้น 4) ด้านชุมชน เช่น ชุมชนให้การยอมรับ สนับสนุน และมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายของผู้เรียนและโรงเรียน ผู้ปกครองสื่อสารกับครูมากขึ้น ผู้ปกครองเอาใจใส่นักเรียนมากขึ้น เป็นต้น
จากนั้นท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้เข้าประชุมร่วมกับข้าราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อรับฟังรายงานการพัฒนาการศึกษาของกลุ่มภาคกลางตอนล่าง พร้อมทั้งได้มอบนโยบายและให้กำลังใจกับข้าราชการในการปฏิบัติงานเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและยกระดับมาตรฐานการศึกษาพื้นฐาน และการพัฒนาผู้เรียนอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งจะมีส่วนสําคัญในการสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศให้ยั่งยืนต่อไปในอนาคต
Written by เก ประเสริฐสังข์
Photo by เก ประเสริฐสังข์
Artwork by เก ประเสริฐสังข์ ศศิธร สวัสดี และภัชธีญา ปัญญารัมย์