6 ภารกิจสำคัญเพื่อการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
การประชุมชี้แจ้งภารกิจ และมอบนโยบายการดำเนินงานของ สพท. ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และ สศศ.
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567 สพฐ. โดย สบน. ได้จัดการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Meetings) โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง และนายสุรินทร์ มั่นประสงค์, ผู้เชี่ยวชาญ สพฐ. นายสุวิทย์ บึงบัว, บุคลากร สบน., และคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจาก สพฐ. รวมทั้งสิ้น 657 คน เพื่อชี้แจง และซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการฯ
ในการเปิดการประชุม นายพิทักษ์ โสตถยาคม ผอ. สบน. ได้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการประชุมเพื่อชี้แจง และซักซ้อมความเข้าใจให้กับคณะกรรมการฯ โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนงานในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้มีความเข้มแข็งตลอดปีการศึกษา และต่อมาในการเปิดการประชุม ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ได้เน้นย้ำว่า “ผมมีความเชื่อมั่นว่า ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานในครั้งนี้ คือ คณะกรรมการขับเคลื่อนของ สพท. และ สศศ. ที่ได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งนี้ โดยขอให้ทดลองสร้างรูปแบบการบริหารจัดการแบบใหม่ ให้เป็นนวัตกรรมตามเจตนารมณ์ของการเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และตอบโจทย์การศึกษาเรียนดี มีความสุข” และมอบนโยบายตามนโยบายของ รมว.ศธ (พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ) ในการบริหารงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของ สพฐ. ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มดูแลพื้นที่ 10 จังหวัด:
-
กลุ่มที่ 1
ประกอบด้วย นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ และนายสุวิทย์ บึงบัว รับผิดชอบการบริหารจัดการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาใน 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ กระบี่ แม่ฮ่องสอน สุโขทัย อุบลราชธานี สระแก้ว สงขลา จันทบุรี ตราด และสุราษฎร์ธานี
-
กลุ่มที่ 2
ประกอบด้วย นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง และนายพิทักษ์ โสตถยาคม รับผิดชอบการบริหารจัดการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในอีก 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ กาญจนบุรี ศรีสะเกษ ระยอง สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ภูเก็ต และบุรีรัมย์
เพื่อร่วมส่งเสริมสนับสนุนจากดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด โดยจะมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังต่อไปนี้
บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
-
เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ และแผนการดำเนินงาน
เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ และแผนการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สู่แผนขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาระดับเขตพื้นที่การศึกษา สนับสนุนการปฏิบัติการ และร่วมมือกับคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ และแผนการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
-
ส่งเสริม สนับสนุน ให้ความช่วยเหลือ นิเทศ ติดตาม และประเมินผลสถานศึกษานำร่อง
ส่งเสริม สนับสนุน ให้ความช่วยเหลือ นิเทศ ติดตาม และประเมินผลสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้สามารถจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปี และดำเนินงานเพื่อให้เกิดการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนด้วยการคิดค้น ทดลอง พัฒนา หรือนำนวัตกรรมการศึกษา และการเรียนรู้ไปประยุกต์ใช้เป็นสำคัญ
-
พัฒนาระบบและกลไกการบริหารจัดการของ สพท. และ สศศ.
สร้างและพัฒนาระบบ กลไก หรือรูปแบบการบริหารจัดการในรูปแบบใหม่ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความคล่องตัวในการบริหารและการจัดการศึกษา เพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมการศึกษา หรือนำนวัตกรรมการศึกษาไปใช้ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
-
ติดตาม ตรวจสอบ และรายงานผลการดำเนินงาน
ติดตาม ตรวจสอบ และรายงานผลการดำเนินงานตามข้อ 1 – 3 อย่างน้อยภาคเรียนละ 1 ครั้ง (ครั้งที่ 1 ภายในเดือนตุลาคม และ ครั้งที่ 2 ภายในเดือนเมษายน) เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานผ่านระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้แจ้งคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทราบด้วย
-
แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน
แต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือหรือปฏิบัติงาน ตามที่คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามอบหมาย
-
ปฏิบัติงานอื่นตามที่ สพฐ. มอบหมาย
ปฏิบัติงานอื่น ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมอบหมาย
องค์ประกอบของคณะกรรมการ
- คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)
ประกอบด้วย 70 คณะ แต่ละคณะมีจำนวน 9 คน ซึ่งประกอบด้วย:
– ประธานกรรมการ: ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ. สพท.)
– รองประธานกรรมการ: รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่รับผิดชอบดูแลกลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา
– กรรมการ: ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน และผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษานำร่อง 3 คน
– กรรมการและเลขานุการ: ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา - คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.)
ประกอบด้วย:
– ประธานกรรมการ: ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (ผอ. สศศ.)
– รองประธานกรรมการ: ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (ผอ. สบน.) และ รองผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (รอง ผอ. สศศ.)
– กรรมการ: ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน และผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษานำร่อง 15 คน
– กรรมการและเลขานุการ: ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหารการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาส สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ
ทั้งนี้ นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ได้ชี้แนะทิศทางการขับเคลื่อนสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยเน้นที่การพัฒนารูปแบบและกลยุทธ์ในการนำสถานศึกษาไปสู่ความสำเร็จในพื้นที่นวัตกรรม นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ได้ให้แนวทางในการบูรณาการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึง การสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนงาน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และ นายสุวิทย์ บึงบัว ผู้เชี่ยวชาญ สพฐ. ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งระหว่างคณะกรรมการขับเคลื่อน และศึกษาธิการจังหวัด ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินงานและการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
จากการประชุมครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้ง จะทำหน้าที่สำคัญในการเชื่อมโยง และบูรณาการการดำเนินงาน ทั้งในส่วนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ โดยการสนับสนุน และชี้แนะจากผู้บริหารระดับสูง ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาประสบความสำเร็จในการสร้างการศึกษาแบบใหม่ที่มีคุณภาพ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนในอนาคต
เอกสาร ประกอบการประชุม
ภาพ
Writer : ปราชญาพร แช่ใจ
Editors : วงเดือน สุวรรณศิริ, อิศรา โสทธิสงค์
Graphic Designer : อิศรา โสทธิสงค์