KHUHA MODEL นวัตกรรมการบริหารโรงเรียน ขับเคลื่อนการศึกษา สร้างสรรค์การเรียนรู้ โรงเรียนวัดคูหาสุวรรณ (วันครู 2504) สพป.สท1 

1 ตุลาคม 2024

KHUHA MODEL นวัตกรรมการบริหารโรงเรียน ขับเคลื่อนการศึกษา สร้างสรรค์การเรียนรู้ โรงเรียนวัดคูหาสุวรรณ (วันครู 2504) สพป.สท1 

เมื่อวันที่ 27 – 30 สิงหาคม 2567 นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มอบหมายให้ นายสุวิทย์ บึงบัว ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหลักสูตรและสื่อการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยี พร้อมคณะทำงานจากสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และให้กำลังใจสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสุโขทัย จำนวน 14 แห่ง โดยวันที่ 28 สิงหาคม 2567 ได้เดินทางไปเยี่ยมโรงเรียนวัดคูหาสุวรรณ (วันครู2504) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุโขทัย เขต 1

โดยได้รับการต้อนรับจาก นายวัลลภ วิบูลย์กูล ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุโขทัย เขต 1 นางบำรุงรัตน์ เจนนาวิน ผู้อำนวยการกลุ่มกลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผลพร้อมคณะศึกษานิเทศก์ มาร่วมการติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของโรงเรียนวัดคูหาสุวรรณ (วันครู2504)

นายธนวัฒน์ พุดจาด ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดคูหาสุวรรณ (วันครู2504) ได้นำเสนอว่าทางโรงเรียนได้ขับเคลื่อนการบริหารจัดการสถานศึกษาด้วยนวัตกรรม KHUHA MODEL โดยเป็นรูปแบบบริหารโรงเรียนแบบองค์รวมที่มีการกำหนดวิธีการและกิจกรรมเป็นมาตรฐานด้วยการจัดการเรียนการสอนเชิงรุก Active Learning พร้อมบูรณาการการเรียนรู้ระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

KHUHA MODEL

K: Knowledge for planning supervision (ความรู้ในการวางแผนการนิเทศ)

H: Have knowledge in the supervision process (มีความรู้ในกระบวนการนิเทศ)

U: Use the supervision process in performing work (ใช้กระบวนการนิเทศในการปฏิบัติงาน)

H: Have morale at work (มีขวัญกำลังใจในการทำงาน)

A: Assessment (การประเมินผล)             

ทั้งนี้ได้ดำเนินการปฏิรูปการศึกษาอย่างครอบคลุม ด้วยการใช้กระบวนการวิเคราะห์ตามแนวทาง 3S คือ Stay, Stop, และ Start เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับความต้องการของนักเรียนและบริบทของสถานศึกษา ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

Stay สิ่งที่โรงเรียนทำอยู่แล้วควรทำต่อไป

  1. มุ่งมั่นวิชาการ
  2. พัฒนาคุณภาพการศึกษาตามมาตรฐานหลักสูตร และตัวชี้วัด
  3. พัฒนาศักยภาพครูอย่างต่อเนื่อง
  4. พัฒนาระบบการบริหารจัดการ

Stop สิ่งที่โรงเรียนทำอยู่ แต่ควรหยุดทำ

  1. ลดภาระงานเอกสารที่ไม่จำเป็นของครู
  2. ปรับวิธีการสอนแบบดั้งเดิม เพิ่มเติมการจัดการเรียนรู้เชิงรุก สร้างทักษะผู้เรียน
  3. ลดระบบงานบริหารขั้นตอนที่ไม่จำเป็น

Start สิ่งใหม่ที่โรงเรียนควรเริ่มทำเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานหรือเพิ่มคุณค่าการศึกษา

  1. พัฒนาหลักสูตรตามกรอบพื้นที่นำร่องนวัตกรมอย่างเป็นรูปธรรม
  2. พัฒนาอาคารสถานที่ให้เอื้ออำนวยต่อการจัดการเรียนการสอน
  3. พัฒนาระบบการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีเพื่อสร้างประสิทธิภาพต่อการบริหารจัดการ
  4. พัฒนาระบบการจัดการเพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้เรียนและผู้รับบริการ
  5. เพิ่มมาตรการความพร้อมด้านสถานศึกษาปลอดภัย
  6. พัฒนาระบบบริหารจัดการให้กระชับ ยืดหยุ่น สะดวกรวดเร็ว

 

https://www.youtube.com/watch?v=JzPi05XjNe8

โรงเรียนแห่งนี้ยังมีการพัฒนาหลักสูตรด้านกีฬาอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะใน “ห้องเรียนกีฬา” ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะทางกีฬาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการสนับสนุนจากครูผู้ฝึกสอนที่เชี่ยวชาญและอุปกรณ์กีฬาที่มีคุณภาพ ทำให้ผู้เรียนสามารถสร้างความสำเร็จในการแข่งขันระดับชาติ โดยเฉพาะกีฬาคาราเต้ ซึ่งโรงเรียนให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ด้วยโปรแกรมฝึกซ้อมที่เข้มงวดและมีประสิทธิภาพ ผู้เรียนจึงสามารถคว้ารางวัลทั้งเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดงในหลายสมัยติดต่อกัน ทำให้ชื่อเสียงของโรงเรียนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงการกีฬา

โรงเรียนยังมีการพัฒนาโปรแกรม “บ้านนักวิทยาศาสตร์” ซึ่งเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะ โดยส่งผลให้นักเรียนสามารถเข้าร่วมกิจกรรมปั้นดินน้ำมันและชนะเลิศในการแข่งขันศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับเขตพื้นที่การศึกษา ในด้านวิชาการมีการจัดการเรียนการสอนเชิงรุก (Active Learning) ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการศึกษาอย่างเต็มที่ ส่งผลให้คะแนนสอบ NT (National Test) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ในวิชาคณิตศาสตร์มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงการบูรณาการของกิจกรรมการเรียนรู้และความสำคัญของการส่งเสริมทักษะด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในระดับการศึกษาเบื้องต้น

นอกจากนี้ โรงเรียนยังสามารถสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เช่น ผู้ปกครอง ชุมชน หน่วยงานเอกชน และองค์กรภาครัฐ เพื่อระดมทรัพยากรในการสนับสนุนการศึกษา ทั้งการก่อสร้างอาคารเรียนใหม่ การจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัย และการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในโรงเรียน ซึ่งแนวทางนี้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ในมาตรา 5 (4) ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาการศึกษา การระดมทรัพยากรเหล่านี้ไม่เพียงช่วยเสริมสร้างศักยภาพของโรงเรียน แต่ยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและสังคม

นายธนวัฒน์ พุดจาด ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดคูหาสุวรรณ (วันครู 2504) ได้เน้นย้ำเพิ่มเติมว่าหลังจากที่โรงเรียนได้เข้ามาเป็นสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแล้วโรงเรียนสามารถจัดการเรียนรู้ได้บนความถนัดของผู้เรียนและมีอิสระทางด้านการจัดการเรียนและจัดหลักสูตรการเรียนการสอนบนพื้นฐานความต้องการของผู้เรียนเป็นสำคัญได้มากยิ่งขึ้นเนื่องจาก พ.ร.บ.ให้อิสระในการปรับหลักสูตรส่งผลให้สถานศึกษาสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้บนทักษะและความถนัดของผู้เรียน ภายใต้นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ได้อย่างดียิ่งขึ้น

เมื่อผู้เขียนได้ติดตามและสังเกตการดำเนินงานของโรงเรียนวัดคูหาสุวรรณ (วันครู 2504) อย่างใกล้ชิด สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือการพัฒนาการศึกษาที่ไม่จำกัดอยู่เพียงแค่ในห้องเรียน แต่ขยายไปสู่ความร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อนำทรัพยากรและโอกาสมาสู่ผู้เรียน การใช้กระบวนการ Stay Stop Start สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการปรับปรุงการเรียนการสอนและการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง นวัตกรรมที่นำมาใช้ไม่เพียงแต่พัฒนาผู้เรียน แต่ยังเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในการสร้างพลังดึงดูดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อมาร่วมกันสนับสนุนเยาวชนให้พร้อมเผชิญความท้าทาย และสร้างสรรค์สังคมที่ดียิ่งขึ้นในอนาคตต่อไป

ติดตามอื่น ๆ ได้ที่

 


ผู้เขียน: ณัฐมล ไชยประดิษฐ์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์
Editor & Design: อิศรา โสทธิสงค์

Perspective: มองภาพสำเร็จด้วยกลยุทธ์การบริหาร I 5P สู่เป้าหมาย เรียนดี มีสุข : เป้า แผน ผลการรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562
บทความล่าสุด