กระบี่พลิกโฉมการศึกษา สร้างโอกาสด้วยนวัตกรรม

20 ธันวาคม 2024

จังหวัดกระบี่ได้พัฒนาโมเดลนวัตกรรมการศึกษาที่มุ่งเน้นการเรียนรู้เชิงประจักษ์ ผ่านแนวคิดที่เรียกว่า Krabi Localized Innovative Education Model (KLIEM)” ซึ่งเป็นการนำเอาบริบท วัฒนธรรมท้องถิ่นและทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในจังหวัดกระบี่มาใช้เป็นฐานในการพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการประมงที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดกระบี่ มุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการในตลาดแรงงาน และสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การพัฒนาแนวทางการเรียนการสอนที่ตอบสนองต่อการพัฒนานักเรียน

นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้เฉพาะของจังหวัดกระบี่ที่ช่วยให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา อีกทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรที่เชื่อมโยงกับทักษะอาชีพในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น การจัดการโรงแรมและการบริการที่มีมาตรฐาน รวมไปถึงการเรียนรู้เกี่ยวกับการประมงที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของพื้นที่และยังมีการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาระดับโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ ในการพัฒนาแนวทางการเรียนการสอนที่ตอบสนองต่อการพัฒนานักเรียน ดังนี้

  • BKD 5G Model” ของ โรงเรียนบ้านควนแดง สพป.กระบี่ ได้พัฒนาโมเดลการบริหารจัดการโรงเรียนที่เน้นการสร้างระบบการบริหารที่มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงเรียนกับชุมชน และการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาการศึกษา โดยมีการพัฒนาโมเดลการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและสภาพแวดล้อม การเรียนรู้ในโรงเรียนดังกล่าวไม่ได้จำกัดเพียงแค่การเรียนการสอนในห้องเรียน แต่ยังมีการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ที่สามารถเชื่อมโยงกับการพัฒนาชุมชน เช่น การสร้างความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และการพัฒนาอาชีพที่เหมาะสมกับท้องถิ่น การใช้โมเดลการเรียนรู้เช่นนี้จึงสามารถช่วยพัฒนาทักษะชีวิตของนักเรียนไปพร้อมกับการเสริมสร้างความมั่นคงให้กับชุมชนท้องถิ่น
  • “5ล Model” ของ โรงเรียนบ้านควนแดง เป็นโมเดลการเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนาทักษะและกระตุ้นความสนใจของผู้เรียนผ่านกระบวนการที่มีขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพ โดยมี 5 ล. ได้แก่ เล่น, เลิร์น, เล่า, ลอง, และลุ้น ซึ่งแต่ละขั้นตอนมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งและมีความหมาย
    ขั้นตอนแรก “เล่น” คือการกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน เช่น การเล่นเกมคณิตศาสตร์ หรือการร้องเพลง เพื่อเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิม ทำให้ผู้เรียนมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ในบทเรียนใหม่อย่างสนุกสนานและเต็มใจหลังจากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนที่สอง “เลิร์น” หรือการเรียนรู้ ซึ่งเป็นการแสวงหาความรู้ใหม่ โดยการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การเรียนรู้แบบค้นพบ การทำงานกลุ่ม และการคิดเชิงวิเคราะห์ โดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาบูรณาการในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ขั้นตอนที่สาม “เล่า” เป็นการสรุปและนำเสนอองค์ความรู้ที่ได้จากกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านการอภิปราย การตอบคำถาม หรือการทำแผนผังความคิด เพื่อให้ผู้เรียนได้ทบทวนและทำความเข้าใจสิ่งที่ได้เรียนรู้ ส่วนขั้นตอนที่สี่ “ลอง” คือการนำความรู้ไปปฏิบัติจริง เช่น การทำแบบฝึกหัดหรือการลงมือทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำทักษะที่เรียนรู้ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในขั้นตอนสุดท้าย “ลุ้น” เป็นการประเมินผลการทำกิจกรรมและสรุปบทเรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อวิเคราะห์ผลลัพธ์ว่าได้บรรลุตามเป้าหมายหรือไม่ และหาวิธีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
  • “การเรียนรู้แบบองค์รวม (Holistic Learning)” ของโรงเรียนอิศรานุสรณ์ ศธจ.กระบี่ มุ่งเน้นการพัฒนาระบบการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการความรู้จากหลากหลายสาขาเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนอย่างครบถ้วน โดยมีการทบทวนหลักการและแนวคิดการเรียนรู้ที่ไม่เพียงแค่เน้นวิชาการ แต่ยังส่งเสริมทักษะการดำรงชีวิต ทัศนคติ ค่านิยม และสุขภาวะที่ดี เพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโตตามระดับช่วงชั้นโรงเรียนตั้งเป้าหมายผลลัพธ์การเรียนรู้ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ความรู้เชิงวิชาการ (Head), ทักษะการดำรงชีวิต (Hand), ทัศนคติและค่านิยมภายในตน (Heart), และสุขภาวะที่ดี (Health) การจัดการเรียนรู้จึงเน้นการบูรณาการข้ามศาสตร์ การมีส่วนร่วมจากเครือข่ายท้องถิ่น และการใช้เทคนิคการสอนที่หลากหลาย รวมทั้งแนวคิดการเรียนรู้ที่เน้นการเชื่อมโยงประสบการณ์จากชีวิตจริง เช่น การเรียนรู้แบบคอนเน็คติวิสม์ (Connectivism learning) และการเรียนรู้ที่เป็นอิสระ (Autonomous Learning)แนวทางนี้มุ่งหวังให้ผู้เรียนพัฒนาเป็นบุคคลที่มีทักษะในการเรียนรู้ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการเสริมสร้างความรู้ที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน และการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับสภาพสังคมพลวัตที่นักเรียนต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน
  • “การศึกษาบูรณาการเรียนรู้ปาล์มน้ำมัน” ของโรงเรียนคลองหินพิทยาคม สพม.ตรัง กระบี่ เป็นการนำการศึกษาและการเกษตรมาเชื่อมโยงกัน เพื่อพัฒนาทักษะของนักเรียนในด้านการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับปาล์มน้ำมัน โดยไม่เพียงแค่เรียนรู้ทฤษฎีในห้องเรียน แต่ยังมีการฝึกปฏิบัติจริง เพื่อเชื่อมโยงความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ การเกษตร และเศรษฐศาสตร์ นักเรียนได้เรียนรู้การปลูก ดูแล และเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมัน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการเกษตรสมัยใหม่ นอกจากนี้ การศึกษาเกี่ยวกับปาล์มน้ำมันยังช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานเกษตรในพื้นที่ชนบท เนื่องจากนักเรียนจะได้รับทักษะที่สามารถนำไปใช้ในการทำงานได้จริงในอนาคต การเรียนรู้ยังส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน โดยการพัฒนาอาชีพและเพิ่มรายได้จากการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืน รวมถึงการร่วมมือกับชุมชนในการพัฒนาสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับปาล์มน้ำมัน นวัตกรรมนี้ยังมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยการใช้เทคโนโลยีเกษตรที่ทันสมัย เช่น การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และการทำสมาร์ทฟาร์มปาล์ม ซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต การศึกษาเกี่ยวกับการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน ยังช่วยให้นักเรียนตระหนักถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการลดผลกระทบจากการเกษตรที่ไม่ยั่งยืน ทำให้โรงเรียนคลองหินพิทยาคมเป็นต้นแบบในการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • การพัฒนาทักษะการอ่านออก เขียนได้ โดยใช้กระบวนการอ่านย้ำ ซ้ำเพิ่ม ของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และชั้นประถมศึกษาประถมศึกษาปีที่ 2” ของ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 1 สพป.กระบี่ นวัตกรรมนี้ใช้กระบวนการอ่านย้ำ ซ้ำเพิ่ม เพื่อช่วยแก้ปัญหานักเรียนที่มีทักษะการอ่านและเขียนไม่ดีในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-2 โดยนักเรียนได้รับการประเมินและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผลการประเมินในปีการศึกษานี้พบว่า นักเรียนในทั้งสองระดับชั้นมีการพัฒนาในทักษะการอ่านและเขียนเพิ่มขึ้น แม้ว่ายังไม่ถึงระดับที่น่าพอใจ แต่ก็มีความคืบหน้าในการปรับปรุงทักษะเหล่านี้
  • “การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ด้วยเทคนิคการสอน CO 5 STEPS ส่งเสริมพหุปัญญา 8 ด้าน สู่ท้องถิ่นที่ยังยืนของนักเรียนโรงเรียนบ้านห้วยลึก” ของ โรงเรียนบ้านห้วยลึก สพป.กระบี่ นวัตกรรมนี้มุ่งพัฒนาทักษะพหุปัญญา 8 ด้านให้กับนักเรียน โดยการใช้เทคนิคการสอน CO 5 STEPS ซึ่งส่งเสริมการพัฒนาความสามารถในหลากหลายด้าน ได้แก่ ด้านภาษา, ด้านตรรกศาสตร์/คณิตศาสตร์, ด้านมิติสัมพันธ์, ด้านการเคลื่อนไหว, ด้านดนตรี, ด้านมนุษยสัมพันธ์, ด้านการเข้าใจตนเอง, และด้านธรรมชาติ เทคนิคนี้ช่วยให้ครูสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนักเรียนได้รับการพัฒนาในด้านที่หลากหลาย เพื่อเตรียมพร้อมสู่ท้องถิ่นที่ยังยืน
การพัฒนาคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาด้วยเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษา

ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมการศึกษาของโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณที่จัดสรรจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ช่วยให้โรงเรียนสามารถพัฒนานวัตกรรมได้จริง เกิดหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนและการบริหารจัดการศึกษาทำให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ที่ทันสมัยและเชื่อมโยงกับโลกภายนอก ทำให้เกิดการพัฒนาโรงเรียนนำร่องในจังหวัดกระบี่มีความก้าวหน้าที่ชัดเจนในหลายมิติ ตัวอย่างเช่น 

  • โรงเรียนบ้านห้วยเสียด สพป.กระบี่
    นักเรียนมีพัฒนาการด้านสมรรถนะตามหลักสูตรที่กำหนดสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในด้านการคิด ทักษะวิชาการ ทักษะวิชาชีพ และทักษะชีวิต นอกจากนี้นักเรียนยังมีความสุขในการเรียนและประสบความสำเร็จในการแข่งขันระดับต่าง ๆ เช่น โครงงานอาชีพ โครงงานคณิต การแข่งขันคำคม การแก้สมการ A Math การแข่งขัน Cross Word และการสวดมนต์สรรเสริญพระรัตนตรัยในทำนองสรภัญญะ
  • โรงเรียนคลองหินพิทยาคม สพม.ตรัง กระบี่
    นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้เพิ่มขึ้น เกิดความสนุกสนานและความสุขในการเรียน ลดความเบื่อหน่ายจากวิธีการเรียนแบบเดิม ๆ และมีความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองสนใจ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้

นอกจากนี้การจัดการศึกษาในโรงเรียนนำร่องยังได้รับผลดีจากการมีอิสระในการบริหารจัดการตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ที่เปิดโอกาสให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนได้ตามความเหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่น การปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ช่วยพัฒนาทักษะชีวิตของนักเรียนและเสริมสร้างความร่วมมือกับชุมชน ทั้งนี้ โรงเรียนในโครงการได้รับผลสัมฤทธิ์ที่ดี ทั้งในด้านการเรียน การพัฒนาทักษะชีวิตและการสร้างโอกาสในอาชีพ

จากบทความนี้จะเห็นได้ว่าการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาในจังหวัดกระบี่ได้สร้างผลลัพธ์ที่โดดเด่นและก้าวหน้าในหลายมิติ ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และการใช้พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ที่เปิดโอกาสให้โรงเรียนมีอิสระในการปรับหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น ผลักดันให้เกิดการพัฒนาทักษะชีวิตที่ตอบโจทย์ทั้งในด้านการศึกษาและการทำงานในอนาคต การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและชุมชน ยังเป็นกุญแจสำคัญในการเปิดโอกาสใหม่ ๆ ในการพัฒนาอาชีพและเสริมสร้างความมั่นคงในชีวิตของนักเรียน ส่งผลให้การศึกษาของจังหวัดกระบี่มีความยั่งยืนและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตต่อไป

 

 

 


ผู้เขียน: น.ส.ณัฐวรี  ใจกล้า และ นางกัตติกา สกุลสวน
กราฟิกดีไซน์เนอร์: น.ส.ณัฐวรี  ใจกล้า

Sukhothai Education Sandbox ขับเคลื่อนการศึกษาด้วย พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
บทความล่าสุด