ทุกวันนี้ เราพูดกันมากว่า “ถึงเวลาแล้วที่การศึกษาจะต้องเปลี่ยนแปลง” เพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนมนุษย์ส่วนใหญ่ตามไม่ทัน เราพูดกันบ่อยมาก แต่ยังไม่เห็นวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนในการสร้างมนุษย์หรือเตรียมมนุษย์ ให้เติบโตไปพร้อม ๆ กับความเปลี่ยนแปลง
TK Bio-culture & Innovation School.
กรอบเป้าหมายใหญ่ (School concept) ของครูและเด็ก ๆ โรงเรียนวัดตาขัน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยองเขต 1 โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง คือ TK Bio-culture & Innovation School. เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนของครู มุ่งให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตนเอง ปรับเปลี่ยนค่านิยมในการเรียนรู้ให้สัมผัสถึงคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง สัมพันธ์กับชีวิตประจำวัน พัฒนาทักษะลีลาการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ จนเกิดเป็นความรู้ มีความมั่นใจ ฝึกฝนบ่อย ๆ เป้าหมายเพื่อให้เกิดสมรรถนะของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21
ในแต่ละภาคเรียน คณะครูได้ร่วมกันศึกษา และออกแบบหน่วยการเรียนรู้แบบบูรณาการจาก TK Bio-culture & Innovation School. ซึ่งเป็นเป้าหมาย สะท้อนคุณค่าและตัวตนของเด็ก ๆ ชาวตาขัน ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ยังมีกลิ่นอายของความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ตลอดจนเชื่อมโยงไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่ใกล้ตัว เท่าทันการเป็นเมืองอัจฉริยะ (smart city) และการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจตามโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ระดับชั้นอนุบาล ออกแบบหน่วยการเรียนรู้ในสิ่งที่ใกล้ตัว ในโรงเรียนและชุมชนตาขัน
ระดับชั้น ป.1-2 ออกแบบหน่วยการเรียนรู้ “ตาขันบ้านเรา” ครอบคลุมในเขตตำบลตาขัน
ระดับชั้น ป.3-4 ออกแบบหน่วยการเรียนรู้ “เรารักบ้านค่าย” ครอบคลุมในเขตอำเภอบ้านค่ายในมิติต่าง ๆ ได้แก่ ด้านภูมิศาสตร์ กายภาพ การปกครอง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม เป็นต้น
ระดับชั้น ป.5-6 ออกแบบหน่วยการเรียนรู้ “ระยองน่าอยู่” โดยมุ่งพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของนักเรียนให้นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้อย่างแท้จริง สามารถค้นคว้า รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล ในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านภูมิศาสตร์ กายภาพ การปกครอง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม รวมถึงการออกภาคสนามเพื่อค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งข้อมูลจริง (ปฐมภูมิ) แล้วนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ค้นคว้าจากแหล่งต่าง ๆ (ทุติยภูมิ)
ครู คือ โค้ช……
ครูผู้สอน ทำหน้าที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่ครูเป็นผู้ที่คอยสอน (บอก) ความรู้ให้นักเรียน ทำแบบฝึกหัด ตรวจงาน ขึ้นบทใหม่ ครูเห็นแล้วว่าการสอนแบบดังกล่าว เป็นการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนท่องจำ ตั้งใจ สนใจในสิ่งที่ครูสอน ถ้านักเรียนคนใดจำในสิ่งที่ครูสอน (บอก) ได้มากที่สุด (ทำข้อสอบที่ครูออก) ถือว่าเป็นคนเก่ง ฉลาด มีความรู้มากกว่าเพื่อน แต่นักเรียนไม่ได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตนเอง
ครูจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการสอนของตนเองใหม่ โดยออกแบบหน่วยการเรียนรู้แบบบูรณาการ ที่สามารถสะท้อนตัวชี้วัดในหลักสูตรฯ ได้ โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนร่วมกันค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง สร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้เหมาะกับนักเรียน สร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นให้นักเรียนใฝ่รู้ ด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย ให้นักเรียนทุกคนได้มีโอกาสทำทุกอย่างด้วยตนเองตั้งแต่ต้น เช่น การทำงานเป็นทีม การแก้ปัญหา การใช้ทักษะทางด้าน ICT ในการค้นหาข้อมูลร่วมกัน บันทึกข้อมูล ระดมความคิดร่วมกัน แชร์ความรู้ซึ่งกันและกัน จนไปถึงการวิเคราะห์ สรุป สังเคราะห์เป็นความรู้และเชื่อมโยงกับชีวิตจริงให้เห็นถึงคุณค่าของสิ่งนั้น ๆ ว่าเกี่ยวข้องกับชีวิตเราอย่างไร
ภาคสนาม…ห้องเรียนภาคปฏิบัติการของเด็ก ๆ
เมื่อนักเรียนได้ร่วมกันคิด ออกแบบการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ การรวบรวม วิเคราะห์และสังเคราะห์ ให้สามารถเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริงของตนเองได้แล้ว ก็ถึงเวลาที่จะต้องออกภาคสนามตามค้นหาความจริงจากแหล่งความรู้ต้นกำเนิด (ข้อมูลปฐมภูมิ) โดยมีกระบวนการให้นักเรียนออกแบบ วางแผนการดำเนินงานด้วยตนเอง เด็ก ๆ มีการแบ่งหน้าที่กันทำงานตามความถนัด เช่น
– การเขียนโครงการออกภาคสนาม เสนอครูที่ปรึกษา และเสนอผู้อำนวยการโรงเรียนเพื่อขออนุมัติการออกภาคสนาม
– การติดต่อประสานงานไปยังหน่วยงานที่เป็นแหล่งความรู้
– การวางแผนค้นหาเส้นทางการเดินทางจาก Google map
– การติดต่อเช่าเหมารถสำหรับการเดินทาง
– การวางแผนเก็บข้อมูล การถ่ายภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว
– การเตรียมแบบบันทึกการเรียนรู้ภาคสนาม
– การเตรียมอาหารและน้ำดื่มสำหรับการเดินทาง เป็นต้น
เมื่อแต่ละกลุ่มลงมือค้นหาข้อมูลและจัดทำสรุปผลการศึกษาข้อมูลเสร็จเรียบร้อย ก็ต้องนำเสนอครูและเพื่อน ๆ เพื่อร่วมกันพิจารณาอีกครั้ง ก่อนที่จะนำเสนอผู้อำนวยการสถานศึกษา เพื่ออนุมัติการออกภาคสนามดังกล่าว
เมื่อถึงเวลาออกเดินทางไปเรียนรู้ในภาคสนาม ทุกคนก็จะเตรียมความพร้อมตามหน้าที่ของตนเองจนเดินทางถึงแหล่งเรียนรู้
ตัวอย่าง ภาคสนาม….ห้องเรียนภาคปฏิบัติการของเด็กๆ
1. ไฟฟ้ามาจากไหน สำคัญกับเราอย่างไร……..
การเรียนรู้ภาคสนาม เพื่อค้นหาความรู้เกี่ยวกับ “ไฟฟ้ามาจากไหน สำคัญกับเราอย่างไร” เป็นหนึ่งในหัวข้อการเรียนรู้หน่วย “ระยอง น่าอยู่” ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 ตอน เศรษฐกิจเมืองระยอง เด็ก ๆ ได้ออกเดินทางไปหาความรู้เกี่ยวกับการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานถ่านหิน จากโรงไฟฟ้า BLPC มาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งได้รับการต้อนรับและเอื้อเฟื้อเป็นอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ และมีพี่ ๆ มัคคุเทศก์น้อยจากโรงเรียนระยองวิทยาคม ปากน้ำ มาเป็นวิทยากรและนำชมนิทรรศการต่าง ๆ ปิดท้ายด้วยการทำ AAR ทันที เพื่อต้องการให้นักเรียนสะท้อนการเรียนรู้ของแต่ละคน
2. สมุนไพรไทยน่ารู้……..
แหล่งเรียนรู้ด้านสมุนไพรไทยที่น่ารู้ ณ สวนสมุนไพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นอีกหนึ่งสถานที่เป้าหมายของการออกภาคสนามของเด็ก ๆ โรงเรียนวัดตาขัน ซึ่งไม่ใช่การไปทัศนศึกษาธรรมดาเหมือนที่เคยผ่านมา แต่เป็นกระบวนการฝึกฝนการเป็นเจ้าของความรู้ของนักเรียน ที่ได้ผ่านการค้นคว้ารวบรวมข้อมูลจากสื่อออนไลน์ หรือความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้ ๆ โรงเรียน เมื่อมาถึงสวนสมุนไพรฯ เด็ก ๆ ก็มีโจทย์ที่สำคัญ คือ การใช้ทักษะทางด้าน ICT และการจดบันทึก เป็นเครื่องมือเก็บข้อมูลการเรียนรู้ แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปจัดทำใหม่ให้อยู่ในรูปของนิทรรศการ เพื่อแสดงให้เพื่อน ๆ หรือผู้ปกครองได้ชมในโอกาสต่อไป
ที่จริงเด็กได้เรียนรู้อะไร….จากการออกภาคสนาม…
แน่นอน ถ้าไปทัศนศึกษาแบบทั่ว ๆ ไป เด็กก็อาจจะตอบว่า สนุก ตื่นเต้น ได้ความรู้ ฯลฯ แต่เด็ก ๆ ของโรงเรียนวัดตาขัน เมื่อกลับมาถึงโรงเรียน กลับเป็นโอกาสทองของเด็กที่จะได้สะท้อนลีลาการเรียนรู้ของแต่ละคน ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลที่เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นจากการตั้งคำถามก่อนออกภาคสนาม ทักษะการเรียนรู้ได้ถูกฝึกฝนให้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนการสะท้อนคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ที่ได้พบเห็น จัดทำและแสดงในรูปแบบนิทรรศการ เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Show and Share ซึ่งกันและกัน
ประเด็นคำถามของครูที่ต้องการช้อนเอาความรู้ของเด็ก ๆ เช่น
– ได้เรียนรู้อะไรใหม่ หรือเพิ่มเติม
– มีวิธีการเรียนรู้สิ่งนั้นอย่างไร
– รู้สึกอย่างไรในการออกภาคสนาม
– พลังงานไฟฟ้าสำคัญต่อเราและทุกชีวิตในโลกนี้อย่างไร
– เราจะมีส่วนช่วยกันประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ด้วยวิธีใดบ้าง
– นักเรียนได้ใช้ทักษะใดบ้างในการออกภาคสนาม ฯลฯ
กระบวนการเชื่อมโยงการเรียนรู้ของนักเรียน จากห้องเรียนสู่โลกของความเป็นจริง และเกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเขา ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยมีพลเมืองที่มีคุณภาพก้าวทันโลกของการเปลี่ยนแปลง (เพราะเราเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับความเปลี่ยนแปลง) และจะเป็นคานงัดที่สำคัญที่ทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการติดหล่มของปัญหาบ้านเมืองอยู่ในขณะนี้
Written by วิชัย จันทร์ส่อง (ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตาขัน)
Photo by วิรุตร ดวงคุณ (คุณครูโรงเรียนวัดตาขัน)
Artwork by เก ประเสริฐสังข์ ศศิธร สวัสดี และภัชธีญา ปัญญารัมย์